การใช้มาตรการปกป้อง(safe guard)กับสินค้านำเข้าของสหรัฐ

การใช้มาตรการปกป้อง(safe guard)กับสินค้านำเข้าของสหรัฐ

ในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ มาตรการที่ประเทศต่างฯใช้ในการกีดกันการนำเข้าแต่เดิม คือ การใช้มาตรการทางภาษี

ด้วยการตั้งกำแพงภาษี เก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี คือ การห้ามนำเข้า จำกัดการนำเข้าโดยกำหนดปริมาณนำเข้าหรือมีโควตานำเข้า กำหนดเงื่อนไขให้ใช้วัตถุดิบหรือต้องซื้อวัตถุดิบภายในหรือกำหนดเงื่อนไขอื่นฯที่ทำให้ไม่สามารถนำเข้าได้อย่างเสรี

แต่เดิมความตกลงที่ใช้เป็นกรอบกติกาของการค้าระหว่างประเทศ คือ ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าระหว่างประเทศ (GENERAL AGREEMENT ONTARIFFS AND TRADE ; GATT1947 ) 

ต่อมาเมื่อมีการทำความตกลงจัดตั้งองค์การการค้าโลกเมื่อปี 2537 โดยมีหลักการเพื่อให้การค้าเป็นไปโดยเสรีตามกลไกตลาด รวมทั้งมีการทำความตกลงส่วนทีเป็นการขยายและทำความเข้าใจบทบัญญัติของแกตต์1947 ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็น แกตต์ 1994 บางข้อ และความตกลงที่เกี่ยวข้อง กติกาการค้าระหว่างประเทศของโลก ก็เป็นไปตามความตกลงการจัดตั้งองค์การการค้าโลก และความตกลงที่เกี่ยวข้อง 

สมาชิกมีพันธะต้องลดภาษีศุลกากรลง และยกเลิกมาตรการกีดกันการนำเข้าที่ไม่ใช่ภาษี ตามที่ทำความตกลงผูกพันกันไว้ด้วย หลังจากนี้ประเทศสมาชิกไม่สามารถใช้มาตรการภาษีหรือมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีนอกจากที่ทำความผูกพันไว้ มากีดกันการนำเข้าได้

อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกยังสามารถใช้มาตรการในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากสินค้านำเข้าได้ 2 กรณี คือ เมื่อมีกรณีการนำเข้าสินค้าอันเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือการเข้ามาของสินค้าทุ่มตลาดหรือที่มีการอุดหนุน จนเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของประเทศสมาชิกนั้น ประเทศสมาชิกสามารถขึ้นภาษีอากรนำเข้าตอบโต้สินค้าทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนนั้นได้

อีกกรณีหนึ่งเมื่อมีการนำสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นมาก จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันนั้นในประเทศที่นำเข้า ประเทศสมาชิกผู้นำเข้า สามารถใช้มาตรการปกป้อง(safeguard measure )เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศนั้นได้ 

มาตรการปกป้องที่จะนำมาใช้ได้คือ ขึ้นอากรนำเข้า หรือจำกัดปริมาณการนำเข้า หรือมาตรการอื่นใดเพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศมีเวลาปรับตัว การใช้มาตรการปกป้องไม่คำนึงว่าการนำเข้าสินค้านั้นเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และไม่คำนึงว่าสินค้านั้นมีแหล่งกำเนิดหรือส่งมาจากประเทศใด

ประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการเพื่อตอบโต้การนำเข้าสินค้าทุ่มตลาด หรือสินค้าที่มีการอุดหนุน หรือใช้มาตรการปกป้อง เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศ เป็นการดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศของตน 

แต่ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวต้องสอดคล้องและไม่ขัด คือ แย้งกับความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก คือ ความตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อ 6 ของแกตต์1944 (การตอบโต้การทุ่มตลาด) ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ และความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง ในส่วนของประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับแล้ว

ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐใช้มาตรการตอบโต้การนำเข้าสินค้าทุ่มตลาดและได้รับการอุดหนุน และใช้มาตรการปกป้องเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในสหรัฐ ค่อนข้างมาก โดยเพาะการใช้มาตรการปกป้อง

กระบวนการไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการปกป้องของสหรัฐ สำหรับสินค้านำเข้าจากทั่วโลก เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา201 ของกฎหมายการค้า 1974 ของสหรัฐ มีขั้นตอนโดยสรุปคือ อุตสาหกรรมภายในของสหรัฐที่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จากสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น สามารถยื่นคำขอต่อคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ (USITC)า ให้ทำการไต่สวน ว่าการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายหรือคุกคามให้เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน 

 หาก USITC ไต่สวนแล้วพบว่า ก่อให้เกิดความเสียหายจริง ก็จะเสนอมาตรการเยียวยาให้ประธานาธิบดีสหรัฐพิจารณา โดยอาจเป็นการขึ้นภาษีนำเข้า จำกัดการนำเข้าหรือจัดระเบียบการตลาดสำหรับสินค้านำเข้าดังกล่าว เมื่อประธานาธิบดีเห็นชอบลงนามประกาศใช้มาตรการดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับได้

ในปี 2560 มีอุตสาหกรรมภายในของสหรัฐยื่นคำขอให้ USITC ไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการปกป้องสำหรับสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น 300 กว่ารายการ 

สินค้ารายการหนึ่งคือ เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ในบ้านเรือน และอีกชนิดหนึ่งคือสินค้าที่เรียกกันทั่วไปว่า เซลล์แสงอาทิตย์ ถูกอุตสาหกรรมภายใน คือผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันค้าดังกล่าวของสหรัฐ ร้องเรียนต่อ USITC ให้ไต่สวนว่ามีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดความเสียหาย ต่ออุตสาหกรรมภายในดังกล่าว

USITC ไต่สวนแล้ว เห็นว่ามีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันของสหรัฐ ได้เสนอมาตรการปกป้องโดยให้ขึ้นภาษีนำเข้า เครื่องซักผ้าและชิ้นส่วน พร้อมกำหนดโควตาภาษีด้วย ส่วนเซลแสงอาทิตย์ให้ขึ้นภาษีนำเข้าแต่ไม่มีการกำหนดโควตาภาษี ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐได้เห็นชอบและลงนามให้มีผลใช้บังคับแล้ว

เนื่องจากการไต่สวนและการกำหนดมาตรการปกป้อง มีขั้นตอนทีไม่ยุ่งยาก เมื่อไต่สวนแล้วเห็นว่ามีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นต่ออุตสาหกรรมภายใน สามารถกำหนดมาตรการปกป้องได้ รวดเร็ว ไม่มีประเด็นที่จะถูกโต้แย้งได้มากนัก จึงเป็นเรื่องที่สหรัฐนิยมนำมาใช้เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในของตนเอง

ด้วยเหตุที่การกำหนดมาตรการปกป้องไม่คำนึงว่าสินค้านั้นมีแหล่งกำเนิดหรือส่งมาจากประเทศใด และไทยก็เป็นผู้ส่งสินค้าทั้งสองรายการไปยังสหรัฐ มีปริมาณและมูลค่าสูงพอสมควร จึงย่อมได้รับผลกระทบจากมาตรการปกป้องของสหรัฐดังกล่าวด้วย ต้องเสียภาษีนำเข้าสูงขึ้น ต้นทุนขายปลีกในสหรัฐก็ต้องสูงขึ้นด้วย ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นด้อยลงไป 

ถือเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตผู้ส่งออก และกระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะกรมการค้าต่างประเทศต้องร่วมมือกันปรึกษาหารือหาทางแก้ไขและปรับตัวเพื่อให้กระทบต่อการส่งออกของไทยให้น้อยที่สุด