เงินกำลังจะหมุนลงไป ... ฟื้นรากหญ้า พัฒนาชุมชน

เงินกำลังจะหมุนลงไป ... ฟื้นรากหญ้า พัฒนาชุมชน

ประธาน จิวจินดา หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา กำลังซื้อของครัวเรือนยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร โดยกำลังซื้อที่ดีค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จังหวัดหัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว อีกทั้งยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงบน ขณะที่กำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตรและกลุ่มฐานรากยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ระดับต่ำและรายได้แรงงานยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีภาระหนี้ต่อรายได้ที่ค่อนข้างสูงเป็นแรงกดดันให้ระมัดระวังการใช้จ่ายด้วย

การพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตรและกลุ่มฐานรากให้มีความเข้มแข็งขึ้นนับเป็นสิ่งจำเป็น สะท้อนได้จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 เห็นชอบแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 หรืองบกลางปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท นอกเหนือจากการตั้งกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561 ที่ 3.0 ล้านล้านบาท

จากการตั้งงบกลางปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท พร้อมทั้งตั้งกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไว้ที่ 3.0 ล้านล้านบาท สะท้อนว่าภาครัฐยังต้องการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงไส้ในของเศรษฐกิจจริงที่เศรษฐกิจระดับฐานรากยังอยู่ในภาวะซบเซาท่ามกลางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

งบกลางปีจะนำมาจัดสรรทางด้านใดบ้าง ? คำตอบ ภาครัฐสามารถนำงบกลางปีมาเร่งกระตุ้นได้หากจำเป็น ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมหรืองบกลางปีวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ถูกจำแนกเป็น 3 ส่วนที่ล้วนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ ส่วนแรก นำไปใช้ในโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระยะที่ 2 จำนวน 4.7 ล้านคน วงเงิน 35,000 ล้านบาท โดยมุ่งหวังให้มีงานทำ ยกระดับสวัสดิการ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงาน การฝึกอบรมอาชีพ และการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน นอกจากนี้ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับวงเงินเพิ่ม 200 บาท/คน/เดือน ส่วนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท ได้รับวงเงินเพิ่ม 100 บาท/คน/เดือน โดยภาครัฐมุ่งหวังแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำผ่านโครงการกว่า 34 โครงการ จากความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 13 หน่วยงาน

ส่วนที่สอง นำไปใช้ปฏิรูปภาคการเกษตร วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร สร้างทักษะการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรรายย่อยควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรเพื่อลดความเสี่ยงด้านการผลิตและราคา และส่งเสริมการตลาดสมัยใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร

ส่วนที่สาม นำไปใช้พัฒนาพื้นที่ผ่านโครงการประชาคมโดยเฉพาะระดับตำบลและกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น วงเงิน 35,358 ล้านบาท สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประชาชนในการพัฒนาอาชีพและสร้างอาชีพในชุมชน สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนและท้องถิ่นที่รัฐบาลเพิ่งออกมาตรการภาษีจูงใจเมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่ให้ประชาชนไปเที่ยวในจังหวัดรองรวม 55 จังหวัด ลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท สำหรับส่วนที่เหลือจากงบกลางปีอีกประมาณ 50,000 ล้านบาทนั้น นำไปชดเชยเงินคงคลัง

หัวใจหลักของรัฐบาลชุดนี้อยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก จึงคาดว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่สภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งเม็ดเงินที่ผ่านโครงการต่างๆลงไปนั้น จะเป็นกลไกเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ ช่วยคลี่คลายความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกันด้านรายได้ แรงงานในแต่ละจังหวัดก็จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 อยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5-22 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยมีผลวันที่ 1 เม.ย.2561 เป็นต้นไป ซึ่งก็จะช่วยหนุนกำลังซื้อให้เพิ่มขึ้นและกระตุ้นการใช้จ่ายในอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น ในระยะยาวยังคงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องดำเนินการต่อไป ทั้งในด้านการพัฒนากำลังคนและทักษะแรงงานให้สูงขึ้น การส่งเสริมการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยีระดับสูง การดูแลสังคมสูงอายุ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สูงขึ้น เป็นต้น