เรียนรู้จากอิเกีย

เรียนรู้จากอิเกีย

เรียนรู้จากอิเกีย

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณปู่อิงวาร์ คัมปราด (Ingvar Kamprad) ผู้ก่อตั้งบริษัทเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ชื่อ อิเกีย (IKEA) ได้จากโลกนี้ไปด้วยวัย 91 ปี บทความนี้ของดิฉันจึงเขียนขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่คุณปู่ และเพื่อนำแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจค้าปลีก และเส้นทางเดินขององค์กรนี้มาเป็นกรณีศึกษา โดยข้อมูลส่วนหนึ่งสรุปย่อมาจากหนังสือ  The IKEA Edge เขียนโดย Anders Dahlvig อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอิเกีย

ท่านผู้อ่านที่สนใจประวัติของคุณปู่ สามารถอ่านได้จาก “อาณาจักรแห่งความเรียบง่าย” ในกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2558 และหากสนใจรายละเอียดของแนวคิดการดำเนินธุรกิจของอิเกีย สามารถหาอ่านได้จากหนังสือเล่มดังกล่าวของสำนักพิมพ์ แมคกรอฮิลล์ ราคาปก 26 เหรียญสหรัฐค่ะ

คุณปู่อิงวาร์ ก่อตั้งอิเกีย ในปี พ.ศ. 2486 เมื่ออายุ 17 ปี เดิมเป็นร้านขายของที่ส่งของทางไปรษณีย์ หรือ เมล์ออเดอร์ และเริ่มขายเฟอร์นิเจอร์ในห้าปีถัดมา โดยตั้งชื่อบริษัทตามอักษรตัวแรกของชื่อ นามสกุล ชื่อฟาร์มที่อาศัยอยู่จากเด็กจนโต และชื่อหมู่บ้าน คือ Ingvar Kamprad จากฟาร์ม Elmtaryd หมู่บ้าน Agunnaryd

แนวคิดของอิเกีย คือการทำให้คนทั่วไปสามารถมีเฟอร์นิเจอร์ใช้ได้ในราคาไม่แพง เน้นความเรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย และการบรรจุกล่องที่ง่ายต่อการขนส่ง และปรัชญานี้ได้คงอยู่ในแนวคิดการทำธุรกิจของอิเกียตลอดระยะเวลา 74 ปีเศษที่ผ่านมา

วิสัยทัศน์และแนวคิดในการทำธุรกิจของอิเกียคือ “สร้างสรรค์ให้ชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากดีขึ้น โดยการนำเสนอสินค้าเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านที่ออกแบบดี และใช้งานได้ดี ในราคาที่ต่ำจนคนส่วนใหญ่สามารถซื้อหาได้”

คุณดาห์วิก เขียนไว้ว่า ส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้อิเกียแตกต่างจากผู้ค้าปลีกรายอื่นมี 5 อย่าง คือ 1. มีการออกแบบ มีประโยชน์ใช้สอยดีในราคาต่ำ  2. มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ (แบบสแกนดิเนเวีย)  3. ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ความคิดและมีคำตอบเบ็ดเสร็จในตัว  4. สินค้าทุกอย่างอยู่ในร้านเดียวกัน  และ 5. ประสบการณ์ในการไปซื้อของแบบไปพักผ่อน (ทั้งวัน)

โดยคุณลักษณะเหล่านี้ ได้มาจากการเข้าถึง “ความต้องการของลูกค้า”

อิเกียพบปัญหามากมายเมื่อเริ่มขยายธุรกิจ มีทั้งการประท้วงของโรงงานที่ไม่ผลิตสินค้าให้ เพราะอิเกียขายดี จนกระทบกับร้านเฟอร์นิเจอร์ร้านอื่นๆในประเทศสวีเดน จนบีบให้อิเกียต้องไปหาแหล่งผลิตจากโปแลนด์ และนับเป็นลูกค้ารายแรกๆที่นำเข้าสินค้าจากโปแลนด์อย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังจากที่ยุโรปตะวันออก ไม่ผูกติดกับสหภาพโซเวียต และค่าเงินรูเบิ้ลของรัสเซีย

การแก้ปัญหาโดยการหาแหล่งผลิตใหม่ ก่อให้เกิดโอกาส เพราะต้นทุนต่ำลง แต่ก็เกิดปัญหาเมื่อไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้คงมาตรฐานไว้ได้ตลอด อิเกียจึงต้องหาแหล่งผลิตใหม่ๆเพิ่ม และได้แหล่งในเอเชีย โดยเฉพาะจากประเทศจีน

อย่างไรก็ดี อิเกียรู้ดีว่า เฟอร์นิเจอร์ต้องใช้ไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่า บริษัทจึงมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม บริษัทเป็นมิตรกับ NGO และองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ และทำสัญญากับคู่ค้า ให้ปฏิบัติตามพันธกิจเหล่านี้ด้วย เช่น ไม่ใช้แรงงานเด็ก ดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษในการผลิต ฯลฯ

การดูแลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ฝังรากลึกจนกระทั่งสะท้อนอยู่ในโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท ซึ่งต้องการทำให้แน่ใจว่าบริษัทจะคงอยู่ แม้สมาชิกในครอบครัวจะไม่อยากทำธุรกิจนี้ ซึ่งดิฉันจะขอกล่าวถึงโครงสร้างเหล่านี้ในสัปดาห์หน้านะคะ

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการเติบโตของอิเกียคือ การถกเถียงกันว่า จะต้องมุ่งเน้นสินค้ากลุ่มใดเป็นพิเศษหรือไม่ ในช่วงทศวรรษที่แล้ว (หลังปี 2547) อิเกียเริ่มที่จะพุ่งความสนใจไปที่สินค้าสองกลุ่มคือ ห้องนอนและครัว โดยมีเสียงทั้งสนับสนุนและคัดค้านจากหลายฝ่าย แต่ก็ได้ตัดสินใจทำ ผลปรากฏว่า สินค้าเฟอร์นิเจอร์ห้องนอนและครัวขายดีขึ้น ในขณะที่ยอดขายสินค้ากลุ่มอื่นๆ ก็ไม่ได้ลดลง

นั่นคือคุณสมบัติของผู้ประกอบการค่ะ “กล้าลอง ไม่กลัวความล้มเหลว”

คุณดาห์วิก ได้ข้อคิดในการเป็นผู้นำองค์กรไว้ในตอนท้ายเล่มของหนังสือนี้ว่า หน้าที่ของผู้บริหารสูงสุดคือ การนำการพัฒนาและเสนอแนวทางแก่คณะกรรมการในเรื่อง วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ขององค์กร กลยุทธ์ กรอบการจัดการ ซึ่งรวมถึง ระบบคุณค่า(ที่องค์กรปรารถนา) การจัดการองค์กร การดูแลกำกับ และนโยบาย และ ในเรื่องของการดูแลจัดการทรัพยากร คือ งบประมาณ

สำหรับแนวทางในการเป็นผู้นำองค์กรที่ประสบความสำเร็จ คุณดาห์วิก แนะนำดังนี้ ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมากๆ สร้างแนวทางการดำเนินงานและกลยุทธ์ สร้างโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมและมีประโยชน์ สร้างระบบโครงสร้างการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง และเลือกคนที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน

คุณดาห์วิกยังแอบกระซิบว่า สิ่งที่คุณดาห์วิกมองหาในตัว “ผู้จัดการ” คือ มีพลัง มีคุณสมบัติและความสามารถในด้านสังคม และมีทักษะอาชีพ ทั้งสามด้านมีความสำคัญเท่าเทียมกันค่ะ