แล้วเราจะสอนอะไรเด็กไทยวันนี้

แล้วเราจะสอนอะไรเด็กไทยวันนี้

วันก่อน มีข่าวว่าบริษัท “ปัญญาประดิษฐ์” ของGoogleที่ชื่อDeepMindสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ตัวใหม่ที่สามารถเดิน วิ่ง กระโดด และปีนกำแพงได้ด้วยตัวเอง

ทำให้เห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอีกขั้นหนึ่งที่ยิ่งต้องถามว่าถ้าหาก “สมองกล” สามารถทำงานได้เก่งกว่า “สมองมนุษย์” อย่างนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์

ก็บังเอิญกับที่ได้ยินแจ็ค หม่า บอกว่าถ้าเราไม่สอนให้เด็กรุ่นนี้มีความแตกต่างไปจากสิ่งที่หุ่นยนต์ทำได้ อีก 30 ปีจากนี้ไปมนุษยชาติจะเผชิญกับปัญหาหนักแน่

สิ่งที่เราสอนเด็กปัจจุบันคือสิ่งที่สอนมาตลอด 200 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรที่มีนัยสำคัญ และไม่สอดคล้องกับความเป็นไปในวันนี้เลย

แล้วเราจะสอนอะไรเด็กไทยวันนี้

ระบบการศึกษาวันนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการหา “ความรู้” เท่านั้น ซึ่งไม่พออีกต่อไปแล้ว

เราไม่สามารถสอนเด็กของเราให้แข่งกับหุ่นยนต์ เพราะในเรื่องของความรู้พื้นฐานนั้นเครื่องยนต์เก่งกว่ามนุษย์แล้ว

ภายในปี 2030 หุ่นยนต์จะแย่งงานคนอย่างน้อย 800 ล้านตำแหน่ง

ครูจึงต้องเลิกสอนด้วยการให้ “ความรู้” เท่านั้น

เราต้องสอนอะไรที่มีความแตกต่างที่มนุษย์เท่านั้นสามารถสัมผัสได้เพื่อที่ว่าหุ่นยนต์จะไม่สามารถตามทันคนได้

เราจึงต้องสอนให้เด็กของเราเก่งทางด้าน soft skills หรือทักษะที่เกี่ยวกับอารมณ์ จินตนาการ และความเอื้ออาทรต่อคนอื่น

เราต้องสอน “ค่านิยม” (values) “การคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง” (independent thinking) “การทำงานเป็นทีม” (team work) “ความเอื้ออาทรต่อคนอื่น” (care for others)

เหล่านี้คือ “ศาสตร์แห่งศิลป์” ที่ “ความรู้” ไม่สามารถจะสอนได้

แจ็ค หม่าจึงเสนอว่าเราจะต้องสอนทักษะดังต่อไปนี้ให้เด็กวันนี้

นั่นคือกีฬา ดนตรี วาดภาพ และศิลป์ทั้งหลาย

เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจะเติบโตขึ้นพร้อมกับค่านิยมที่แตกต่างและไม่ทับซ้อนกับความรู้พื้นฐานที่ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence กับ Machine Learning สามารถทำได้ดีกว่าคน

นั่นแปลว่าอะไรที่เครื่องยนต์ทำได้ต้องไม่ใช่วิชาที่สอนเด็ก

และนั่นย่อมหมายความว่าระบบการศึกษาปัจจุบันไม่อาจจะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายค่านิยมเก่า ๆ ทั้งหลายเกือบจะหมดสิ้นแล้ว

ซึ่งก็แปลว่าหากเราไม่ยกเครื่องระบบการศึกษาของชาติจริง ๆ ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัยให้เห็นผลในอนาคตอันใกล้ ก็เลิกพูดถึงคำว่า Thailand 4.0 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

หากไม่มีการปรับเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง อนาคตสำหรับลูกหลานเราก็คงจะเผชิญกับความสับสนอลหม่านไม่น้อยทีเดียว