ออกจากจุดเดิม เริ่มต้นธุรกิจใหม่

ออกจากจุดเดิม เริ่มต้นธุรกิจใหม่

นอกจากสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการและผู้บริหารองค์กรเดิมต่างเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

“นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์” จึงเป็นเรื่องจำเป็น

ไม่ว่าจะเป็นราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชนทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ต่างตื่นตัวที่จะพยายามยกระดับความสามารถการแข่งขัน ไม่เพียงแต่การลดต้นทุนหรือเพิ่มคุณภาพสินค้า/บริการเท่านั้น หากแต่ต้องสร้างความโดดเด่นทั้งในด้านคุณค่า ความรวดเร็ว และความแตกต่าง

แต่และองค์กรจึงต้องพัฒนาบุคลากรทุกระดับชั้น ให้มีความตื่นตัว ตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์องค์กร การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด กระบวนการรับฟังเสียงของลูกค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ วิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการ โดยใช้แนวคิดใหม่ผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อสร้างความยั่งยืนและความได้เปรียบในการแข่งขันแบบก้าวกระโดด

การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และการบ่มเพาะวัฒนธรรมนวัตกรรมให้กับคนเดิมในองค์กร ยังช่วยให้การดำเนินการต่างๆภายในองค์กรเป็นไปอย่างราบลื่น ทุกคนพร้อมที่จะออกจากพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) ไปสู่สิ่งใหม่ แต่สำหรับสตาร์อัพก็แค่คัดสรรคนที่มีจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นตรงกับตัวเองเข้ามาให้ได้ก็พอ

นอกจากนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาได้จนสำเร็จแล้วนั้น ผู้คิด (innovator) หรือผู้ร่วมก่อตั้ง (co-founder) จะต้องสรุปให้ได้ว่าตัวแบบหรือแนวคิดทางธุรกิจ (Business Model) ต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะจะเป็นจุดตั้งต้นที่ไปกำหนดส่วนอื่นๆ ได้แก่ รูปแบบการเงินและการลงทุน (Finance and Investment model) รูปแบบการดำเนินการ (Operational model) และสุดท้ายคือรูปแบบการค้าขาย (Profit model)

รูปแบบทางธุรกิจ เสมือนเป็นขอบเขตธุรกิจที่องค์กรจะก้าวออกไป บางองค์กรกำหนดไว้กว้างแบบอะไรก็ได้ บางองค์กรกำหนดไว้ชัดเจนแน่นอน ถ้าวิสัยทัศน์กำหนดว่า “เราจะเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล” ก็คงเป็นที่แน่ชัดว่าไม่ได้สนใจตลาดหรือรถยนต์ประเภทอื่น (เช่น รถบรรทุก รถบัส รถเพื่อการเกษตร รถแข่ง เป็นต้น)

แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่เป็น “เราจะเป็นผู้นำในการผลิตยานยนต์เพื่ออนาคต” คำว่า ยานยนต์ ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงขนคนเท่านั้น อาจจะเป็นสัตว์ หรือสิ่งของ และเนื่องจากมีคำว่า อนาคต จึงไม่ได้ผูกติดกับกลไก เทคโนโลยีหรือแหล่งพลังงานแบบเดิม (น้ำมัน) เท่านั้น หากแต่อาจจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆอะไรก็ได้ ซึ่งแนวคิดทางธุรกิจที่กว้างขึ้นนี้ทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถช่วยกันคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆได้มากขึ้น อาจไกลไปถึงยานพาหนะที่วิ่งออกไปนอกโลก ยานพาหนะที่ดำดิ่งลงไปในทะเลลึก ยานพาหนะที่ขุดเจาะลงไปในพื้นดิน หรือยานพาหนะเอนกประสงค์

จะเห็นได้ว่ารูปแบบทางธุรกิจที่ใหม่และกว้างมากขึ้น ทำให้โอกาสในการลงทุนขยายออกไปจากเดิม และแน่นอนความต้องการด้านเงินทุนก็ตามมา กรณีบริษัทจัดตั้งใหม่ก็มักจะหนีไม่พ้น เงินตัวเอง เงินญาติ เงินเพื่อน(ร่วมลงทุน) และบริษัทที่จัดตั้งมาแล้วก็อาจใช้เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงิน แต่ถ้าเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างน้อย 3-5 ปีและมีผลประกอบการน่าพอใจ ก็คงมีทางเลือกใหม่ๆเพิ่มเติม อาทิ การระดมทุนด้วยการเพิ่มทุนหรือขายหุ้นให้คนอื่นเข้ามาร่วมถือครองด้วย ผ่านกลไกการแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเสริมสภาพคล่องของการเปลี่ยนมือในหุ้นของบริษัทด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ปัจจุบันยังสามารถระดมเงินทุนได้ในช่องทางอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรนวัตกรรมหรือองค์กรเทคโนโลยีที่จัดตั้งใหม่ (Tech Startups) ด้วยการนำเสนอผลงานความคิดสร้างสรรค์และอนาคตของบริษัทกับกองทุนทั้งที่เป็นบุคคล (Angel fund) ที่เป็นกองทุนร่วมลงทุน (Venture capital fund) และที่เป็นองค์กรพร้อมร่วมลงทุน (Corporate venture capital fund) หรือแม้แต่ระดมเงินทุนผ่านบุคคลรายย่อยจำนวนมาก เงินจำนวนน้อยจากคนจำนวนมาก (Crowdfunding) เมื่อได้เงินลงทุนที่มีต้นทุนต่ำและตรงกับวัตถุประสงค์การลงทุนขององค์กรแล้ว

ขั้นตอนต่อไปก็คือ การกำหนดรูปแบบการดำเนินธุรกิจ จะออกแบบและผลิตเองทั้งหมด จะจ้างผลิต จะขายเอง หรือขายผ่านช่องทางอื่น อาทิ การฝากจำหน่าย การแต่งตั้งตัวแทน ขายส่งแล้วให้คนอื่นไปขายต่อ หรือสร้างเครือข่ายการขายของตัวเองทั้งหมด ปัจจุบันนักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยจำนวนไม่น้อยที่ออกแบบและพัฒนาสินค้า โดยจ้างโรงงานจากจีนผลิตสินค้า แล้วส่งกลับมาทำตลาดผ่านออนไลน์ เงินทุนที่ใช้ไปกับที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรจึงไม่จำเป็น

สุดท้ายก็คือการกำหนดรูปแบบทางการค้า การกำหนดราคา การแบ่งปันผลประโยชน์กับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ การทำตลาด จะเห็นได้ว่ากว่าจะนำนวัตกรรมทางธุรกิจใดๆออกสู่ตลาดจนประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับนั้น ต้องผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผน ลงมือปฎิบัติ และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) จึงไม่ง่าย

ต้องยกนิ้วให้จริงๆสำหรับคนที่กล้า แต่โลกยุคใหม่แม้ว่าจะท้าทายแต่ก็เปิดโอกาสให้สร้างสรรค์อะไรได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ