ความเหลื่อมล้ำ : โจทย์ใหญ่ประเทศไทย

ความเหลื่อมล้ำ : โจทย์ใหญ่ประเทศไทย

2 อาทิตย์ก่อน สถาบันไอโอดีจัดงานสัมมนากรรมการเรื่อง “ประเด็นร้อนที่กรรมการควรทราบปีนี้” ในงานสัมมนา ได้มีการพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 ทั้งโดยวิทยากรและกรรมการบริษัทที่มาร่วมงาน แสดงถึงการยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข 

วันนี้ก็เลยอยากจะแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่าผมมองปัญหานี้อย่างไร รวมถึงแนวทางแก้ไขที่ประเทศควรต้องมี

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง ขณะนี้เป็นปัญหาสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก เป็นปัญหาของทั้งประเทศที่มีระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยและสังคมนิยม ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะดัชนีจีนี่ (Gini Coefficient) ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้วัดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ของทั้งสหรัฐ และจีน อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แสดงว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เป็นเรื่องของระบบการเมืองที่แตกต่างกัน แต่เป็นเรื่องการทำงานของเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม

ในทางเศรษฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจจะมาจาก 2 องค์ประกอบ 

1. ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมในระบบเศรษฐกิจ ณ จุดเริ่มต้นที่เป็นผลผลิตจากอดีต (initial inequality) 

ตัวอย่างเช่น คนเราเกิดมาก็มีความเหลื่อมล้ำตั้งแต่เกิด เพราะเกิดในครอบครัวที่มีฐานะแตกต่างกัน 

2. ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงต่อมา ที่เป็นผลจากการทำงานของระบบเศรษฐกิจ 

ดังนั้น ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากและต่อเนื่อง ก็จะเป็นผลจากทั้งความเหลื่อมล้ำ ณ จุดเริ่มต้น หรือความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิม บวกด้วยความเหลื่อมล้ำที่ได้เพิ่มขึ้นจากการทำงานของระบบเศรษฐกิจ 

ตัวอย่างกรณีประเทศจีน ที่สมัยที่เศรษฐกิจยังเป็นแบบระบบสังคมนิยม ความเหลื่อมล้ำจะน้อย คือ ความเหลื่อมล้ำ ณ จุดเริ่มต้นมีน้อย แต่พอเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มมากขึ้น จากผลของกลไกของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

ในทางเศรษฐศาสตร์ แนวคิดที่เป็นกระแสหลักดั้งเดิมอธิบายว่า ภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม การเติบโตของเศรษฐกิจควรทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจลดลง เพราะมีกลไกในระบบเศรษฐกิจที่จะเป็นตัวช่วยลดความเหลื่อมล้ำ คือเป็น equalizing factor ให้ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ลดลง พร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ 

ปัจจัยเหล่านี้ก็เช่น นโยบายเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรมที่เปิดโอกาสให้ทุกๆ คน ไม่ว่ารวยหรือจน สามารถได้ประโยชน์ ระบบภาษีของประเทศสามารถเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำได้จากการเก็บภาษีคนรวยในอัตราที่สูงกว่าคนจนหรือคนมีรายได้น้อย รวมทั้งมีภาษีที่จะเก็บจากทรัพย์สินหรือฐานของความมั่งคั่ง เช่น บ้าน ที่ดิน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

การใช้จ่ายของภาครัฐ ที่สามารถช่วยเปิดโอกาสให้คนรายได้น้อยสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับฐานะของตนเอง เช่น เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การมีงานทำ การเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินเพื่อทำธุรกิจ สิ่งเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้คนที่เริ่มต้นยากจน สามารถมีโอกาสในการศึกษา มีงานที่ดีทำ และเข้าถึงสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ นำมาสู่การเติบโตของรายได้และฐานะ 

ความเข้มแข็งของระบบการบังคับใช้กฎหมายของประเทศ ที่จะทำให้การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจเป็นธรรม ไม่มีการสร้างความร่ำรวยจากการทำผิดกฎหมาย เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน เพราะสังคมมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง

ดังนั้น ในระบบเศรษฐกิจที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับเติบโตของเศรษฐกิจ สาเหตุหลักจึงมาจากปัจจัยที่น่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ หรือ equalizing factor ไม่ได้ทำงาน หรือทำงานในทิศทางที่ตรงกันข้าม คือ ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น

เช่น นโยบายภาครัฐไม่สนับสนุนการค้าเสรีหรือการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่สนับสนุนให้เกิดการผูกขาดตัดตอน เปิดทางให้ผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากอยู่แล้วได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะในระบบผูกขาดหรือมีการแข่งขันน้อย การจัดสรรสิทธิหรือทรัพยากรในการทำธุรกิจจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะผู้เล่นในวงที่จำกัด เช่น ใบอนุญาตและสัมปทาน ทำให้คนที่รวยอยู่แล้วหรือมีอำนาจเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว ยิ่งรวยมากขึ้นจากการผูกขาดดังกล่าว

หรือมาจากระบบภาษีของประเทศที่ไม่ได้ทำให้คนรวยมีภาระภาษีมากกว่าคนจนอย่างที่ควรจะเป็น ไม่มีภาษีที่เก็บจากความมั่งคั่งของทรัพย์สิน หรือระบบการจัดเก็บภาษีมีช่องโหว่ ไม่มีประสิทธิภาพ เปิดทางให้คนรวยเลี่ยงภาษีได้โดยง่าย หรือไม่ต้องจ่ายภาษีมากอย่างที่ควรจะเป็น เพราะขาดการตรวจสอบ  

มาตรการด้านการใช้จ่ายของรัฐก็ไม่สร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การมีงานทำ และการเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน 

ท้ายสุดการบังคับใช้กฎหมายของประเทศก็อ่อนแอ เปิดทางให้ระบบอุปถัมภ์เป็นใหญ่ เกิดการทำธุรกิจอย่างผิดกฎหมายอย่างกว้างขวาง มีการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้คนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง สามารถใช้ช่องทางเหล่านี้สร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง โดยไม่มีการตรวจสอบ

ดังนั้น ในระบบเศรษฐกิจที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่นกรณีของบ้านเรา คงจะอนุมานได้ว่าเป็นเพราะปัจจัย equalizing factor ดังกล่าวนี้ไม่ทำงาน หรือทำงานในทิศทางตรงกันข้าม จากที่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมาไม่ได้เปิดโอกาสให้ equalizing factor เหล่านี้ ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายภาษี การใช้จ่ายของภาครัฐ และความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย

การแก้ความเหลื่อมล้ำ จะต้องทำให้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็น equalizing factor ให้ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจลดลง 

ถือเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล ที่ต้องทำให้ equalizing factor เหล่านี้ทำงาน และสร้างผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น นโยบายรัฐบาลต้องเน้นความเป็นเสรีและการแข่งขัน มาตรการทางภาษีต้องเอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเก็บภาษีรายได้ทั้งที่มาจากค่าจ้างแรงงานและการลงทุน มีภาษีที่ดิน ภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน ภาษีมรดก การใช้จ่ายของรัฐต้องเน้นการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนในการสร้างฐานะและชีวิตให้กับตนเอง ทั้งโอกาสทางการศึกษา การมีงานทำ และการเข้าถึงสินเชื่อ ไม่ใช่โครงการแจกเงิน 

ท้ายสุด ระบบการบังคับใช้กฎหมายของประเทศต้องเข้มแข็ง กล้าลงโทษคนที่ทำธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย ที่ทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อลดความร่ำรวยที่มาจากการทำผิดกฎหมาย

ในบริบทนี้ กรณีของประเทศเรา ถ้าจะแก้ความเหลื่อมล้ำให้สำเร็จ บทบาทภาครัฐในการลดความเหลื่อมล้ำจึงสำคัญมาก 

ในกรณีของเราก็ยังสามารถทำได้อีกมากในแง่การออกมาตรการต่างๆ และถ้าเริ่มทำ ก็จะเป็นความหวังใหญ่ว่าความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมีมากขณะนี้จะลดลงได้