ยิ่งกดดันตนเองยิ่งทำให้ผิดซ้ำซาก

ยิ่งกดดันตนเองยิ่งทำให้ผิดซ้ำซาก

เด็กทารกแสดงออกตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ร้องไห้ทุกครั้งที่อยากกิน แต่ยังไม่ได้กิน ขว้างข้าวของ ทุกครั้งที่ไม่ได้ดั่งใจ

แต่การกระทำตามความรู้สึกนั้นจะอยู่ไม่นาน เพราะสมองจะเจริญเติบโตมากขึ้น จนสามารถอธิบายได้ว่าทำอย่างไร จะได้ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร 

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายก็จะลืมเลือนการกระทำตามอารมณ์แบบผิดๆ นั้นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่สมองของเด็กทารกยังบันทึกวิธีการที่ทำให้เกิดการกระทำผิดๆ เหล่านั้นไว้ จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คล้ายกับเป็นท่าหนึ่งในหนังสือคู่มือการออกกำลังกาย 

วิธีการนี้จะถูกหยิบมาใช้ในทันทีที่เรานึกไม่ออกแล้วว่า ในสถานการณ์ที่เราพบเจอในขณะนั้น คู่มือมนุษย์ที่อยู่ในสมองเรา ไม่มีบทอื่นๆ อีกแล้วที่เราจะหยิบวิธีการมากระทำในขณะนั้นได้ เราก็จะตอบโต้ทุกอย่างที่เจอะเจอในขณะนั้น ตามอารมณ์และความรู้สึก โดยปราศจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่า ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร เด็กทารกขว้างแก้วน้ำใส่คนอื่น เพียงเพราะรู้สึกว่าคนอื่นนั้นทำให้ตนเองไม่พอใจ โดยไม่คิดเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา 

ดังนั้นเมื่อใดก็ตามแต่ที่เราพบสถานการณ์ที่ทำให้เราคิดว่าไม่มีเวลาเพียงพอที่จะค้นหาวิธีการกระทำ ที่เราบันทึกไว้ในคู่มือมนุษย์ที่อยู่ในสมองของเรา วิธีการดั้งเดิมที่เก็บไว้เป็นบทแรกๆ ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กทารก ก็จะถูกนำมาใช้ปฏิบัติ และส่วนใหญ่ก็มักจะนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำซาก 

เมื่อใดก็ตาม ที่เราผลักตัวเองเข้าสู่สถานการณ์ที่กดดัน และเป็นสถานการณ์ใหม่ที่เพิ่งพบเจอ เมื่อนั้นบทแรกๆ ของคู่มือมนุษย์จะถูกหยิบมาใช้เป็นคู่มือในการกระทำนั้นๆ คือทำทุกอย่างตามความรู้สึก และอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

เรากลับไปกระทำแบบที่เคยกระทำตอนที่ยังเป็นทารกอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่การทำผิดที่น่าเอ็นดูอีกต่อไป คนโตๆ ที่กระทำเช่นเดียวกับทารกนั้น ใครพบเห็นถ้าไม่เวทนา ก็ชิงชังไปเลย

การกระทำผิดซ้ำซากที่พบกันบ่อยๆ นั้น นอกจากเกิดขึ้นในขณะที่เรารู้สึกว่าตกอยู่ในสถานการณ์กดดันใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบ และรู้สึกว่าต้องรีบทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ผ่านพ้นไปได้โดยเร็วตามที่กล่าวมาแล้ว ยังเกิดขึ้นในสถานการณ์กดดันที่เราเคยพบเจอ แต่ไม่เข้าใจความเป็นมาของความกดดันนั้น 

วิธีการที่เราใช้รับมือสถานการณ์นั้น ไม่ว่าได้ผลดี หรือไม่ดี จะถูกเก็บไว้เป็นอีกบทหนึ่งในคู่มือมนุษย์ในสมองของเราเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว เรามักพยายามหาคำตอบว่าทำอย่างไรจึงได้ผลเช่นนั้น นั่นคือการบันทึกวิธีการนั้นไว้ในสมองของเรา 

ถ้าเป็นการกระทำที่ให้ผลดี วิธีการที่ให้ผลดีนั้นก็จะกลายเป็นบทใหม่ในคู่มือมนุษย์ ซึ่งบทนี้หยิบมาใช้เมื่อใดก็ได้ผลดีเมื่อนั้น 

ในทางตรงข้าม วิธีการที่เราใช้แล้วล้มเหลว เรายิ่งคิด ก็ยิ่งงงว่าทำผิดอะไรตรงไหน ส่วนใหญ่มักชอบอ้างว่าผิดเป็นครู รู้แล้วจะได้ไม่ทำผิดอีก แต่น่าแปลกที่ว่าผิด ที่ครุ่นคิดเหล่านั้นเป็นครูที่สอนวิธีผิดๆ เก็บไว้เป็นอีกบทหนึ่งในคู่มือมนุษย์ และเราจะหยิบวิธีการที่ผิดๆ นั้นกลับมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนกับการเปิดอ่านหนังสือในบทที่เราคุ้นเคยอยู่เป็นประจำ

บทเรียนจากความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อเราได้คำตอบที่อธิบายตนเองได้อย่างกระจ่างว่า วิธีทำที่ให้ผลดีในเรื่องนั้นที่สามารถทดแทนวิธีการที่ผิดพลาดนั้นคืออะไร 

การประชุมสรุปงานที่ยกแต่ปัญหาที่เจอะเจอ จบการประชุมด้วยการรายงานปัญหาร้อยแปด จะกลายเป็นการบันทึกวิธีการกระทำที่ผิดพลาดเก็บไว้ในคู่มือมนุษย์ในสมองของทุกคน

ประเด็นสำคัญคือคู่มือมนุษย์ที่อยู่ในสมองเรานั้น แต่ละบทมีแค่วิธีทำ ไม่ได้บันทึกไว้ว่าทำแล้วจะได้ผลเป็นอย่างไร 

ในยามปกติที่ไม่มีความกดดันจากรอบตัว เรามีเวลาตรึกตรองเปรียบเทียบว่าวิธีใด จากบทใด ในคู่มือมนุษย์นั้นจะให้ผลตามมาที่ดีกว่า การกระทำผิดซ้ำจึงไม่เกิดขึ้น 

แต่ถ้ามีความกดดันที่ทำให้เราต้องหยิบวิธีทำ จากบทใดบทหนึ่งที่เราสะสมไว้ในคู่มือมนุษย์มาใช้ โดยไม่ได้คิดให้รอบครอบก่อน เราย่อมเสี่ยงที่จะกลับไปมีพฤติกรรมเหมือนทารกอีกครั้ง

ทางแก้ที่ดีที่สุดคืออย่าบันทึกวิธีการที่นำไปสู่ความผิดพลาดนั้นไว้ในสมอง อย่าคิดวนไปวนมาอยู่กับวิธีการที่สร้างความผิดพลาด ให้คิดมากๆ เกี่ยวกับวิธีการที่สร้างความสำเร็จเท่านั้น