อาเบะโนมิกส์ 'ดีร้ายให้ประชาชนเลือก'

อาเบะโนมิกส์ 'ดีร้ายให้ประชาชนเลือก'

วิถีญี่ปุ่น วิถีประชาธิปไตย จะดีหรือร้ายอย่างไร ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเอง

'อาเบะโนมิกส์' เป็นคำขนานนามนโยบายทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น โดยนโยบายดังกล่าวมีองค์ประกอบที่เรียกว่า 'ลูกศรสามดอก' 

ลูกศรดอกแรก คือ 'การผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน' อันได้แก่ การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ หรือ 'คิวอี' 

นับตั้งแต่ปี 2012 รัฐบาลอาเบะพิมพ์เงินใส่เข้าไปแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านล้านเยน (ร่วม 18 ล้านล้านบาท) โดยหวังผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงเพื่อส่งเสริมการส่งออก และเพิ่มระดับเงินเฟ้อให้อยู่ที่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์

ลูกศรดอกที่สอง คือการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และดอกสุดท้าย เป็นลูกศรที่พุ่งตรงไปยังแกนกลางของปัญหา นั่นคือ 'อุปสรรคจากความเป็นญี่ปุ่น' โดยมุ่ง 'ปฏิรูปเศรษฐกิจ' เน้นสร้างการเติบโต ด้วยการถอดรื้อกฎเกณฑ์อันโบราณคร่ำครึ เต็มไปด้วยความซับซ้อนวุ่นวาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน

รัฐบาลอาเบะ 'คิดใหม่ ทำใหม่' ด้วยการแก้ไขกฎหมายให้บริษัทเอกชนสามารถไล่พนักงานที่ด้อยประสิทธิภาพออกจากงาน อีกทั้งปรับลดกฎเกณฑ์ให้ว่าจ้างพนักงานต่างชาติได้ง่ายกว่าเดิม ตลอดจนออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ รวมทั้งปฏิรูประบบประกันสุขภาพของประเทศ

เรียกได้ว่า กล้า 'ยกเครื่อง' กันแทบจะทั้งระบบ !!

ถึงวันนี้ หลังจากขึ้นมาครองตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารสมัยที่สองเป็นเวลากว่าห้าปี ต้องยอมรับว่า นโยบายของอาเบะประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกฟื้นและเติบโตต่อเนื่องยาวนานถึง 60 เดือน อันเป็นสถิติสูงสุดอันดับสองหลังยุคสงคราม การส่งออกขยายตัว กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แม้หนทางข้างหน้าที่จะต้องก้าวไปยังอีกยาวไกล

ในส่วนของตลาดหุ้น ก็ได้ตอบรับการฟื้นตัวดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด โดยดัชนี Nikkei 225 พุ่งทะยานขึ้นสูงสุดในรอบ 26 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังชัยชนะท่วมท้นของ “อาเบะซัง” ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2017

ตัวผมเองลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นอยู่ด้วย และได้ลองเอาผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนใหญ่ๆ มาไล่ดู ก็พบว่าทั้งรายได้และกำไรเติบโตขึ้นผิดหูผิดตา เป็นเช่นนี้หลายต่อหลายบริษัท ซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ

ชินโสะ อาเบะ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะโดดเด่นประการหนึ่ง คือคนที่รักก็รักมาก คนที่เกลียดก็เกลียดมาก คนจำนวนมากไม่ชอบจุดยืน

'ชาตินิยมสุดโต่ง' ของเขา ทว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้เขายังได้รับความนิยมจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศกว่าครึ่งค่อน

และนี่คือวิถีญี่ปุ่น วิถีประชาธิปไตย จะดีหรือร้ายอย่างไร ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเอง