คุณสมบัติของผู้นำประเทศในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ

คุณสมบัติของผู้นำประเทศในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ

“ไม่มีอะไรที่ยาก อันตราย และเสี่ยงจะล้มเหลวมากไปกว่าการต้องมารับบทผู้นำในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลง” นิโคโล แมคเคียเวลลี่

ถ้ามีการเลือกตั้งในปี 2562 อำนาจในการเลือกผู้นำประเทศก็จะกลับไปสู่มือของประชาชน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่า จะให้ใครมากุมบังเหียนของประเทศ 

 โจทย์ที่คนไทยต้องร่วมกันหาคำตอบก็คือ นายกฯ คนใหม่ของเราควรมีคุณสมบัติอย่างไร ถึงจะนำพาบ้านเมืองไปข้างหน้าได้ในห้วงเวลาที่สังคมมีความคิดแตกแยกกันแบบสุดโต่ง เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้

หากศึกษาประวัติศาสตร์ของผู้นำในอดีตที่สามารถนำพาประเทศผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ จะพบว่า คนเหล่านี้มีคุณสมบัติร่วมกัน 7 ข้อ ดังนี้

1. รู้จักตัวเอง ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อมไปเสียทุกเรื่อง คนจะเป็นผู้นำที่ดีจึงไม่เป็นต้องเก่งรอบด้าน ผู้นำคือคนที่รู้จักจุดแข็งและข้อจำกัดของตนเอง มีความอดทนอดกลั้น มีคุณธรรมและจริยธรรม รู้จักเลือกคนเข้ามาเป็นผู้ร่วมงาน เพื่อเสริมจุดแข็งและลดทอนข้อจำกัดของตนให้เหลือน้อยที่สุด

วิธีการรู้จักตัวเองที่ผู้นำเหล่านี้ใช้กันเป็นประจำ คือ การรู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์โดยปราศจากอคติ และเลือกรับเอาข้อติชมเหล่านั้นมาปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ

2. มีความซื่อสัตย์สุจริตน่าเชื่อถือ ภาพลักษณ์ของนักการเมืองบางส่วนในสมัยนี้ คือ คนปลิ้นปล้อน พร้อมที่จะพูดทุกอย่าง ทำทุกอย่าง โกหกกลับคำเมื่อมีโอกาส เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง เพื่อหวังว่าวันหนึ่งหากเป็นใหญ่เป็นโต จะได้ใช้ตำแหน่งแสวงหาอำนาจกอบโกยผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง 

 หากนายกฯ มีลักษณะเช่นนี้ด้วย นอกจากจะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ก็จะไม่ได้รับความเชื่อใจและเชื่อมั่นจากประชาชน ส่งผลให้นโยบายต่างๆ ที่ออกมาขาดความน่าเชื่อถือไปด้วย ไม่ว่าจะพยายามชี้นำสังคมอย่างไร ก็มักพบกับแรงต้านของทุกภาคส่วนอยู่เสมอ จึงไม่สามารถผลักดันนโยบายให้สำเร็จได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

3. รู้จักใช้คน โลกทุกวันนี้มีความสลับซับซ้อนมากเกินกว่าที่คนเพียงคนเดียวจะรับมือได้ ความซับซ้อนนี้ทำให้หมดยุคของนายกฯ อัศวินม้าขาวแล้ว สิ่งที่สังคมไทยต้องการตอนนี้ คือ การดึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานร่วมกัน โดยมีนายกฯเป็นผู้สั่งการ รู้จักจุดเด่นและข้อจำกัดของทีมงาน สามารถใช้คนได้ถูกและเหมาะสมกับงาน เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ มีลูกล่อลูกชนในการใช้พระเดชพระคุณเพื่อควบคุมลูกน้องไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง

4. รู้จักประเทศของตนเองเป็นอย่างดี การรู้จักประเทศนี้ ต้องเป็นการรู้จักทั้งในเชิงภายภาพและเชิงสังคมวิทยา โดยในเชิงภายภาพ นายกฯ จะต้องรู้ว่า แต่ละพื้นที่ในประเทศนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร จุดเด่นในเชิงภายภาพของแต่ละภูมิภาคคืออะไร ทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเอาจุดเด่นนั้นมาใช้ประโยชน์เพื่อคนในพื้นที่และคนในประเทศได้เหมาะสม

สำหรับด้านสังคมวิทยานั้น นายกฯ ต้องมีความรู้ความเข้าใจว่า ตอนนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทยเป็นอย่างไร สามารถประเมินได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ และทัศนคติของคนกลุ่มต่างๆ ในบ้านเมืองมากน้อยเพียงใด

5. รู้จักใช้เงิน การบริหารจัดการบ้านเมืองจำเป็นต้องใช้เงิน การตัดสินใจของผู้นำไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ต้องเกี่ยวพันกับเงินแทบทั้งสิ้น

ผู้นำที่ขาดทักษะในการบริหารจัดการเงิน ใช้เงินโดยไม่รู้จักประเมินประโยชน์และต้นทุนของประเทศให้รอบคอบ ขืนเลือกเข้าไปก็มีแต่จะทำให้รัฐจนลง ประชาชนต้องรับภาระมากขึ้น สุดท้ายก็เดือดร้อนกันไปหมด

6. รู้เป้าหมาย ตอนนี้สังคมไทยกำลังสับสนว่าจะเดินไปทางไหน คนเป็นผู้นำประเทศต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการเห็นประเทศไทยไปทางไหน สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าเป้าหมายที่เสนอมาดีอย่างไร มีแผนการชัดเจนว่าจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้เมื่อไหร่และอย่างไร แล้วให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่า ต้องการจะร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายเหล่านั้นด้วยหรือไม่

7. เป็นนักสื่อสารที่ดี การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างชาติ ผู้นำประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ ผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่เหมาะสมกับช่วงเวลา รู้จักการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ มีลูกล่อลูกชนในการสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และเป็นการสื่อสารเพื่อให้ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกัน โดยเอาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

หากเอาหลักเกณฑ์พื้นฐาน 7 ข้อนี้ไปใช้ในการประเมินคนใหญ่คนโต และบรรดานักการเมืองในบ้านเรา ก็จะรู้ว่า ตอนนี้เรามีทั้งคนที่ “ใช่” และ “ไม่ใช่” สำหรับประเทศไทย 

 ก็ได้แต่หวังว่า ผู้นำคนต่อไปของเราจะมีคุณสมบัติเหล่านี้อย่างครบถ้วน เราจะได้มีนายกฯ คนใหม่ที่ถูกใจไทยแลนด์กันเสียที