กองทุนโกลบอล …การลงทุนระดับโลก ?

กองทุนโกลบอล …การลงทุนระดับโลก ?

กองทุนโกลบอล … การลงทุนระดับโลก ?

ตอนนี้มีใครเริ่มหนาวๆร้อนๆบ้างครับ กับตลาดหุ้นไทยที่พุ่งทำนิวไฮอย่างต่อเนื่อง หนึ่งปีที่ผ่านมาตลาดปรับขึ้นไป 15% ในขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นทั้งตลาดเพียงแค่ 5% ผมไม่ได้สื่อว่าหุ้นไทยแพงนะครับ ถ้าดูจาก P/E ทั้งตลาดของเราที่ 19.8 เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่น แต่คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าความกังวลเรื่อง downside risk นั้นน่าจะอยู่ในใจของนักลงทุนส่วนใหญ่  จะหันกลับไปดูสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยก็น่าผิดหวังอีก ในสภาพที่ดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยตลาดต่ำมาต่อเนื่อง ตราสารหนี้ในประเทศและเงินฝากก็คงจะไม่ใช่คำตอบ  

จุดนี้ในมุมมองนักลงทุนคงพยายามกระจายความเสี่ยงออกจากตลาดบ้านเรา ทำให้ปีที่ผ่านมากองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund หรือ FIF) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก  มากถึงขนาดที่การลงทุน FIF โตถึง 15% ในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันยอดการลงทุนอยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาท  ใหญ่ขนาดไหนให้ลองเปรียบเทียบกับยอดเงินฝากประจำทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท

กองทุน FIF ส่วนใหญ่ 85% เป็นกองทุน ‘โกลบอล’ ตามการจัดประเภทของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน  แล้วกองทุนโกลบอลที่นักลงทุนไทยนิยมนั้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า 70% อยู่ในกลุ่มตราสารหนี้ เป็นเม็ดเงินถึง 6.5 แสนล้านบาท

ฟังดูแล้วอุ่นใจใช่มั้ยครับ เงินก้อนใหญ่ไปอยู่ในกองทุนตราสารหนี้โดยการจัดชั้นเป็นระดับโลก น่าจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งผลตอบแทนปัจจุบันกลับสูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ในประเทศเสียอีก เรียกว่าได้ประโยชน์ทั้งสองขาคือทั้งลดความเสี่ยงและได้ผลตอบแทนที่เหนือกว่า

แต่เดี๋ยวก่อน! เราไม่สามารถหนีความเป็นจริงที่ว่าทุกโอกาสการลงทุนต้องมี trade-off ได้อย่างเสียอย่าง ผลตอบแทนดีย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ถ้าเช่นนั้นแล้วนักลงทุนต้องเจอกับความเสี่ยงอะไรในการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้โกลบอลบ้าง

ความเสี่ยงแรกคือ การกระจุกตัวและความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ที่ซ่อนอยู่  กองทุนตราสารหนี้โกลบอลถือตราสารหนี้ประเทศสหรัฐเป็นหลัก ถ้าเราดูในรายละเอียดของกองทุนตัวหลักๆในกลุ่มนี้เฉลี่ยแล้วถือตราสารหนี้สหรัฐถึง 60%  คำถามต่อมาคือถ้าถือตราสารหนี้สหรัฐแล้วทำไมผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ไทยส่วนใหญ่  

เป็นไปได้สิครับ ถ้ากองทุนถือบางส่วนในตราสารหนี้เอกชนที่มีความเสี่ยง credit risk  สูง และมีอายุเฉลี่ย (duration) ที่ยาว  จากข้อมูลล่าสุดตราสารหนี้สหรัฐที่ถือนั้นมีสัดส่วนเพียง 23% ที่เป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ส่วนที่เหลืออีก 37% เป็นตราสาร Mortgage-Backed Securities (MBS) ที่ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอเมริกันและวัฏจักรอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ   และที่เหลืออีก 27% เป็นตราสารหนี้บริษัทเอกชน ซึ่งแน่นอนว่า ความเสี่ยงมาจากโอกาสในการไม่ชำระหนี้ของบริษัทที่ออกตราสาร  

ความเสี่ยงที่สองต่อเนื่องมาจากการกระจุกตัวที่ตราสารหนี้สหรัฐคือ อัตราดอกเบี้ยดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  ดูได้จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ที่ปรับขึ้นจาก 2.2% ในปีที่แล้วมาอยู่ที่ 2.7% ในปัจจุบัน  จุดนี้จะกดดันราคาตราสารหนี้สหรัฐต่อเนื่องในอนาคต ไม่ว่าจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการลด QE ของเฟด และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐที่โตอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่เริ่มผงกหัวกลับมาในปีนี้   ถ้าราคาตราสารลดลงทั้งตลาดผลตอบแทนของกองทุนกลุ่มนี้ก็จะโดนกระทบไปด้วย  อีกทั้งถ้าตลาดและนักลงทุนทั่วโลกคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน ก็อาจจะทำให้มีการไถ่ถอนออกจากกองทุน ซึ่งจะกระทบต่อ NAV และผลตอบแทนอย่างเลี่ยงไม่ได้

สัญชาติญาณนักลงทุนทำให้เราสงสัยกับอะไรที่มันดูดีกว่าปกติ   ประเด็นคือนักลงทุนทั่วไปจะทราบและเข้าใจถึงความเสี่ยงเหล่านี้ดีเพียงพอหรือไม่