การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน

การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน

World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 23-26 ม.ค.ที่ผ่านมา

นับเป็นเวทีสำคัญที่รวบรวมผู้นำทางการเมืองจากหลายชาติ ตลอดจนผู้นำทางความคิด นักธุรกิจ นักลงทุน และเอ็นจีโอ ไว้ในที่เดียวกัน โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาใหญ่ของโลกร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือและการสนทนาระดมความคิดเห็นของบุคคลสำคัญจากหลากวงการ

ผู้บริหารจากค่ายดิจิทัลได้แสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบด้านต่างๆ อาทิ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์และมูลนิธิ Gates Foundation ที่ร่วมสนทนาถึงความช่วยเหลือด้านการแพทย์ การป้องกันโรคระบาดและการสาธารณสุข รวมถึง แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ที่มาพร้อมคำคมเกี่ยวกับการค้าและโอกาสของคนอายุ 30 ปี และ Sundar Pichai ซีอีโอ ของกูเกิลกับมุมมองของ AI และสิทธิการเป็นเจ้าของข้อมูล 

ผู้นำและนักธุรกิจจากทุกมุมโลกต่างร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาและให้โอกาสกับสังคมโลกและช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืน

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ปัจจุบันประชากรโลกต่างตื่นตัวต่อปัญหาสภาวะแวดล้อมและใส่ใจกับชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดแรงกดดันกับธุรกิจใหญ่น้อยที่ต้องมีความรับผิดชอบและร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีและสร้างชุมชนและสังคมน่าอยู่ 

ท่ามกลางปัญหาที่ท้าทายสมาชิกองค์การสหประชาชาติกว่า 193 ชาติ จึงได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs17 ข้อ เพื่อเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันของกลุ่มสมาชิกในการผลักดันให้ถึงเป้าหมาย และสนับสนุนการระดมเงินทุน เทคโนโลยี การยกระดับศักยภาพของส่วนราชการและองค์กรสาธารณประโยชน์ 

ทั้งยังได้จัดทำดัชนี SDGs เพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าของการดำเนินงานตาม SDGs แต่ละข้อของกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 157 ประเทศ

ความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจต่อความเข้าใจที่ถูกต้องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการนำแนวคิดนี้มาใช้ในดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business) จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ทรงคุณวุฒิ นักธุรกิจและหน่วยงานทั้งภายในและนอกประเทศได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริม มูลนิธิมั่นพัฒนา (www.tsdf.or.th) และภาคีหลักจากภาคธุรกิจนับเป็นกลุ่มงานสำคัญที่ช่วยผลักดันและสร้างความเข้าใจและเข้าถึงหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับธุรกิจอย่างจริงจัง 

โดยได้จัดทำหนังสือในระดับแนวหน้าถึง 3 เล่ม เล่มแรกคือ “Thailand’s Sustainable Development Sourcebook” ที่สำรวจสถานะและความท้าทายของประเทศไทยต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเล่มที่สอง 2 คือ “A Call To Action: Thailand and the Sustainable Development Goals” ที่รายงานความก้าวหน้าของประเทศไทยในการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เล่มล่าสุดคือ “Thailand’s Sustainable Business Guide” ที่ได้เจาะลึกภาคธุรกิจโดยเฉพาะ มีกรณีศึกษาและเครื่องมือช่วยเรียนรู้และลงมือทำ นับเป็นคัมภีร์ของการบริหารธุรกิจด้วยหลักคิดแห่งความพอเพียงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงบนเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามบริบทของประเทศและโลกผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและความสุขที่ยั่งยืนของสังคมส่วนรวม

เนื้อหาที่สำคัญยิ่งของหนังสือคือ การแสดงให้เห็นว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

 

License to Grow

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเปิดตัวหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guide ในหัวข้อ”ธุรกิจไทยบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง Sustainable Business ว่า “ความยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องที่ทำเพื่อเท่หรือให้ดูดี แต่เป็นเรื่องที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโต เช่น การลดของเสียย่อมหมายถึงการลดต้นทุนการผลิตในอีกทางหนึ่งด้วย เป็นต้น 

ความยั่งยืนจึงเป็น License to Grow แน่นอนว่า หากธุรกิจใดเติบโตโดยเพิ่มภาระหรือเบียดเบียนสังคม ชุมชนรอบข้าง ย่อมไม่มีใครยินดีหรืออนุญาตให้เราเติบโต และ license ที่เคยได้รับก็จะ expire โดยปริยาย

ดังนั้นภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในอนาคต จะไม่ใช่แค่ธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนให้ดำเนินธุรกิจ หรือ License to Operate แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในการดำเนินธุรกิจ หรือ Social License to Operate ด้วย ซึ่งสะท้อนว่า ได้รับความไว้วางใจจากชุมชน ธุรกิจจึงจะเติบโตอย่างยั่งยืน 

นี่คือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ของโลกที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เท่าทัน