มลายูและภาพยนตร์

มลายูและภาพยนตร์

ในภาวะการณ์ของโลกร่วมสมัยซึ่งชักนำให้ผู้คนได้เชื่อมต่อ และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ มากยิ่งขึ้นกว่าช่วงเวลาใดๆ การดำรงอยู่ของอัตลักษณ์บุคคล

บุคคลแบบหนึ่งเดียวตายตัวนั้นคล้ายจะยากยิ่ง และแนวโน้มอาจไปในทางที่หาใช่สาระสำคัญอีกต่อไป

อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่เคยเชื่อกันว่าเป็นสิ่งจริงแท้ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ได้ถูกชี้ให้เห็นว่าเป็นความเชื่อ และคำอธิบายภายใต้บริบทเฉพาะทางประวัติศาสตร์ คนไทยและความเป็นไทยซึ่งเคยเป็นวาทกรรมแข็งแกร่งมั่นคงได้อ่อนพลังลง ยินยอมให้อัตลักษณ์อื่นเข้ามาดำรงเคียงคู่หรือเจือผสม การคลั่งชาติ คลั่งชาติพันธุ์ คล้ายเป็นสิ่งล้าสมัยไปโดยปริยาย

ภายใต้ภาวะดังกล่าวนี้ ดูเหมือนว่าอัตลักษณ์ “มลายู” ในสังคมไทยจะเกิดขึ้นในลักษณะสวนทาง

นับตั้งแต่ความรุนแรงระลอกใหม่ปะทุขึ้นและยังคงดำรงต่อเนื่องมากว่าทศวรรษ ความเร่งร้อนจะรู้จักดินแดนใต้สุดของไทยให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เจตนาดีที่จะเข้าใจผู้คนซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่าง ผสมรวมการกล่าวประณามรัฐที่มักไม่ยอมรับความหลากหลาย ได้ทำให้เกิดการรีบเร่งผลิตซ้ำคำอธิบายอัตลักษณ์ชาติพันธุ์มลายูและความเป็นมลายูที่เป็นแบบฉบับตายตัวออกมาเป็นจำนวนมาก กระทั่งปริ่มๆ จะเป็นการย้ำต่อความต่างจนมากเกินควร

ที่จริงแล้ว “มลายู” ก็เฉกเช่นเดียวกับอัตลักษณ์ที่ผูกโยงกับชาติพันธุ์ในกรณีอื่นๆ คือ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเฉพาะทางประวัติศาสตร์ โดยผ่านการนิยาม ให้คำธิบาย โต้แย้ง และมีกระบวนการจำหลักคำอธิบายฉบับทางการลงในสังคม วัตถุดิบหาได้ง่ายที่สามารถเปิดเผยให้เห็นธรรมชาติดังว่านี้ของความเป็นมลายู คือ ภาพยนตร์จากช่วงเวลา “ยุคทอง” ในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย

ยุคทองในช่วงกลางทศวรรษ 50 ถึงกลางทศวรรษ 60 นั้น “ภาพยนตร์มลายู” ถูกผลิตขึ้นเกือบ 200 เรื่อง เข้าถึงและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ชม “ชาวมลายู” ทั้งที่มลายา สิงคโปร์ บอร์เนียว บางส่วนในอินโดนีเซีย และในชายแดนภาคใต้ของไทย 

หลังจากผ่านพ้นช่วงยุคทอง ภาพยนตร์ตระกูลนี้เริ่มเสื่อมความนิยมในหมู่ผู้ชม ก่อนที่จะถูกให้ค่าอีกครั้งที่มาเลเซียในทศวรรษ 1980 อันเป็นช่วงเวลาที่เกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรมมลายูระลอกใหม่หลังจากที่ผ่านช่วงการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มมลายูภูมิบุตร และเป็นปฏิกิริยากลายๆ ต่อกระแสหวนคืนสู่รากเหง้าของศาสนาอิสลามที่เริ่มทรงพลังขึ้นทุกขณะ

ถึงช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ภาพยนตร์มลายูได้ถูกยกย่องในฐานะมรดกของชาติ ถูกนำมาฉายซ้ำทางโทรทัศน์ทุกเมื่อเชื่อวัน ภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Penarek Becha (1955) Hang Tuah (1956) Semarah Padi (1956) Bujang Lapok (1957) Batu Belah Batu Bertangkup(1959) Nujum Pak Belalang (1959) Hang Jebat (1961) Ibu Mertuaku (1962) Lanchang Kuning (1962) ได้ถูกยกเป็นภาพยนตร์คลาสสิกขึ้นหิ้ง ผู้กำกับภาพยนตร์และดาราอย่าง พี. รามลี, จามิล สุหลง, เอส. รูไม นูร์, ฮุสเซน ฮานิฟฟ์, ซาอาดิอะห์, ไซตน, อาซิส สัตตาร์, นอร์ดิน อาห์หมัด, จินส์ ชัมซุดดิน ฯลฯ ถูกกล่าวถึงในฐานะปูชนียบุคคล เหนือสิ่งอื่นใด ภาพยนตร์หลายเรื่องได้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงถึงความเชื่อ วิธีคิด บุคลิกภาพ และความรุ่นรวยของวัฒนธรรมมลายู

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เหล่านี้ได้เปิดเผยให้เห็นมากกว่าภาพจำหลักของความเป็นมลายูตามคำอธิบายในสมัยหลัง

ส่วนใหญ่ของภาพยนตร์มลายูจากยุคทองถูกผลิตขึ้นจากสตูดิโอภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่นั่นก่อร่างขึ้นจากการทำงานร่วมกันของผู้คนหลากหลาย คำอธิบายภายใต้กรอบเชื้อชาติในเวลาต่อมามองเห็นการแบ่งงานกันทำตามเชื้อชาติ คือ นายทุนชาวจีน ผู้กำกับภาพยนตร์นำเข้าจากอินเดีย และดารานักแสดงชาวมลายู

แต่ความเป็นนานาชาติในวงการภาพยนตร์มลายูนั้นยังรวมถึงบุคลากรจากอีกหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะบทบาทอันค่อนข้างเด่นของชาวตะวันตก ฟิลิปิโน และอินโดนีเซีย ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์และการแลกเปลี่ยนส่งต่ออิทธิพลระหว่างกันนั้นย่อมมีมากกว่าความแตกต่างและแยกกันอยู่ หากเชื่อว่าภาพยนตร์เหล่านี้ได้นำเสนอความเป็นมลายูได้อย่างถ่องแท้ ความเป็นมลายูนั้นก็เกิดจากการรังสรรค์ร่วมกันของผู้คนหลากหลายที่มา

กล่าวให้ถึงที่สุด ความเป็นมลายูนั้นก็ไม่ต่างจากธรรมชาติของภาพยนตร์เหล่านี้ นั่นคือ เกิดจากการแลกเปลี่ยน ผสมผสานจากหลากอิทธิพล ก่อนจะเกิดการอธิบายให้เป็นของแท้แต่ดั้งเดิม

จากภาพยนตร์เหล่านี้เช่นกันที่จะสามารถเห็นได้ถึงคำนิยามต่างแบบต่อประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และการเป็นคนมลายู สิ่งเหล่านี้ ซึ่งอาจรวมเรียกว่าความเป็นมลายูนั้น หาได้มีแค่คำอธิบายเดียวเสมอมา 

กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมลายา และสิงคโปร์เริ่มเข้าสู่ระยะของการจะได้เอกราช และภาพยนตร์มลายูกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการนำเสนอภาพฝันต่อชาติเอกราชของชาวมลายู ความเป็นมลายูในภาพยนตร์เหล่านี้ก็ยังคงคละเคล้าอยู่ด้วยหลายนิยาม

ความเป็นมลายูที่อ้างอิงอยู่กับประวัติศาสตร์ และจารีตวัฒนธรรมของราชสำนักมะละกาได้กลายเป็นคำอธิบายฉบับทางการหลังมลายาได้รับเอกราชในปี1957 และชาติใหม่อยู่ภายใต้การนำของกลุ่มชนชั้นนำมลายูในพรรคอัมโน 

สถานการณ์สงครามเย็นและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ซึ่งแหลมคมมากขึ้นทุกขณะ ทำให้การรวมมลายากับสองรัฐบนเกาะบอร์เนียวและสิงคโปร์เป็นประเทศมาเลเซียในปี 1963 ล้มเหลวลง เมื่อสิงคโปร์แยกตัวในอีกสองปีถัดมา 

กระบวนการสร้างชาติที่ชาวมลายูเป็นบุตรหลานแท้จริงหนึ่งเดียวของแผ่นดินเอกราชนี้จึงถูกผลักขึ้นอีกระดับ ภาพยนตร์มลายูก็เริ่มหันตัวเองไปสู่คำอธิบายแบบเดียวกันกับฉบับทางการ และหลังจากนั้นก็เริ่มเสื่อมความนิยมในเวลาไล่เลี่ยกัน

ในบริบทของไทย การเห็นถึงภาวะลื่นไหลของอัตลักษณ์ในภาพยนตร์มลายู ไม่เพียงสามารถขยายความเนื้อหาประวัติศาสตร์ในช่วงตอนที่สำคัญยิ่งของมาเลเซีย หากแต่ยังชวนให้คิดทบทวนต่อการกล่าวถึงมลายูในสังคมเราเองเช่นกัน

โดย... จิรวัฒน์ แสงทอง

นักวิจัย ฝ่าย 1 สกว.