ต้องสร้าง‘ซีเอสอาร์’ที่ยั่งยืน

ต้องสร้าง‘ซีเอสอาร์’ที่ยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีโอกาสไปร่วมงานแถลงข่าวโครงการ “ซีเอสอาร์ (CSR ; Corporate Social Responsibility)”

ที่มีความน่าสนใจมากในเรื่องของความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่มีพันธกิจในการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อมารวมตัวกันกลับทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนโครงการอย่างเห็นได้ชัด คือ โครงการ Social Shaker ซึ่งเป็นความร่วมมือแบบ UIG ได้แก่ ภาคการศึกษา (University) ภาคอุตสาหกรรม (Industry) และภาครัฐ (Government) ประกอบไปด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประชารัฐรักสามัคคี และภาคธุรกิจบริษัท ซี (ประเทศไทย) สนับสนุนโครงการพัฒนาการศึกษานอกห้องเรียนให้แก่เยาวชนในชนบท 

โดยมีนิสิตจากจุฬาฯ เป็นฝ่ายลงพื้นที่ในต่างจังหวัด ภาครัฐให้การสนับสนุนในเรื่องความรู้และนโยบาย ส่วนภาคเอกชนก็หนุนหลังในเรื่องเงินทุนสนับสนุนและให้คำแนะนำ ส่วนตัวมีความสนใจในเรื่องของการทำโครงการที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยกำหนดให้เป็นนโยบายในการทำงานของบริษัทด้วย เพราะเห็นว่า การให้การสนับสนุนในเรื่องของซีเอสอาร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ทุกเงินลงทุนที่ใช้ไปแม้ว่าจะไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบของกำไรหรือยอดขาย แต่ก็ทำให้ผู้รับปลายทางได้รับประโยชน์ อีกทางพนักงานในบริษัทที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมก็จะได้รับพลังบวกในการทำงานเป็นความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นแบบเห็นผลเพราะได้ร่วมลงมือทำ

เรื่องของซีเอสอาร์ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องนี้เพราะมีความตั้งใจอันดีในการพัฒนาและตอบแทนสังคม เนื่องจากหลายๆ องค์กรต่างตระหนักดีว่าองค์กรเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และซีเอสอาร์ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร  

อย่างไรก็ตามภาพจำที่คนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบริจาค หรือกิจกรรมการกุศล ที่เป็นการคืนกำไรให้สังคมแบบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ถึงแม้ว่าผลที่ได้รับคือปลายทางได้ประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านี้ แต่องค์กรเองจะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่เกิดผลอย่างชัดเจนได้อย่างที่คาดหวังไว้ ดังนั้นการทำกิจกรรมที่ดี คือ กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งจำเป็นที่จะต้องผสานให้แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจได้ในทุกๆ แง่มุม

การดำเนินการของซีเอสอาร์ มี 2 แบบหลักๆ คือ CSR in-process และ CSR after-process โดยที่การผนวกแนวคิดของการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนลงไปในระดับกลยุทธ์และปฏิบัติการที่เรียกว่า CSR in-process นั้น สามารถให้ประโยชน์ต่อองค์กรในแง่ของอีโคซิสเต็มส์ได้ จากประสบการณ์ของตนเอง กรณีศึกษาเช่น การที่กลุ่มบริษัทในแวดวงเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ ตลอดจนสถาบันการเงินการธนาคารต่างออกมาตั้ง Incubator House หรือสถานบ่มเพาะและสนับสนุนสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ ทำให้วงการเทคโนโลยีของไทยรุดหน้าขึ้นไปอีกมาก ได้เห็นผลิตภัณฑ์และบริการดีๆ ออกมาไม่น้อย ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มศักยภาพให้กับตัวองค์กรที่จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเหล่านั้น จากการได้โอกาสคัดเลือกหรือลงทุนเทคโนโลยีใหม่ที่อาจจะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดขององค์กรอีกด้วย

ในส่วนของ CSR after-process เป็นเรื่องของกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการทำธุรกิจโดยตรง แต่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนหรือช่วยเหลือสังคมนอกเหนือไปจากการดำเนินธุรกิจปกติ ซึ่งต้องเป็นสิ่งทำอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้อย่างแท้จริง เช่น การส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ป่า การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและกระจายโอกาสแก่เยาวชนในหลายๆ ด้าน

เห็นได้ชัดว่าเรื่องซีเอสอาร์ หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันเป็นครั้งคราวและจบไป แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความพยายามที่สม่ำเสมอและมีการต่อยอดและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จึงจะเรียกได้ว่าได้สร้างความมั่นคงในแง่ของความสัมพันธ์ขององค์กรกับสังคมรอบข้าง และสร้างรากฐานตลอดจนโอกาสที่ดีให้กับแบรนด์ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างธุรกิจและสังคมที่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันได้