The Post : สื่อ vs รัฐบาล

The Post : สื่อ vs รัฐบาล

มื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ที่ดีมากเรื่องหนึ่ง คือ “The Post” ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในตอนต้นของทศวรรษที่ 70

เป็นการต่อสู้กันในเรื่องของเสรีภาพของสื่อตามรัฐธรรมนูญอเมริกันฉบับแก้ไขครั้งที่ 1(first amendment) กับอำนาจของฝ่ายบริหารในด้านความมั่นคงของชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม จนนำไปสู่จุดจบของประธานาธิบดีนิกสันในกรณีอื้อฉาว คือ คดีวอเตอร์เกต ซึ่งเป็นผลให้นิกสันต้องลาออก ก่อนถูกถอดถอน(impeachment)ในที่สุด

The Post สร้างและกำกับโดย Steven Spielberg และนำแสดงโดย Meryl Streep ซึ่งแสดงเป็น Katherine Graham เจ้าของหนังสือพิมพ์ The Washington Post โดยสืบทอดมาจากบิดาของเธอ และส่งต่อมายังสามีของเธอที่ฆ่าตัวตายไปและ Tom Hanks ซึ่งแสดงเป็น Ben Bradlee หัวหน้ากองบรรณาธิการ(editor in chief) 

เรื่องราวของThe Postนี้เป็นเรื่องราวของการพยายามตีพิมพ์เอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ(Pentagon) ซึ่งเป็นเอกสารลับสุดยอดที่เกี่ยวกับรัฐบาลสหรัฐในสงครามเวียดนาม ที่รัฐบาลปกปิดความจริงที่ว่าสหรัฐนั้นไม่มีทางชนะสงครามแต่ยังส่งคนไปตายอีกมากมาย

เรื่องเริ่มต้นจากการที่ Daniel Ellsberg นักวิเคราะห์ทางทหารของกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์จริงในการสู้รบของทหารอเมริกัน กับทหารเวียดกงในภาคสนาม ซึ่งพบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยนั้น คือ Robert Macnamara ทั้งๆ ที่สอบถามความเห็นของตนเองในระหว่างการเดินทางกลับประเทศโดยเครื่องบินไปด้วยกัน แต่กลับให้สัมภาษณ์อย่างลวงโลกว่า สงครามเวียดนามของฝ่ายสหรัฐกำลังก้าวหน้าไปด้วยดี จึงทำให้เขาผิดหวังมาก

อีกหลายปีต่อมาในขณะที่ Ellsberg เปลี่ยนหน้าที่ไปทำงานเป็นผู้ประสานงานกับทหาร ในฐานะพลเรือนของบริษัท RAND Corporation ได้ลักลอบถ่ายสำเนาเอกสารเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ซึ่งย้อนหลังไปกว่า 20 ปีครอบคลุมช่วงเวลาของประธานาธิบดีสหรัฐถึง 4 คน ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรูแมนเป็นต้นมาว่า รัฐบาลสหรัฐจงใจส่งคนไปตายในสงคราม ทั้งๆ ที่รู้แต่ต้นว่าจะไม่มีทางชนะ เพียงเพื่อรักษาหน้าตาของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงประธานาธิบดีคนใดคนหนึ่ง แต่ลากไส้มาได้หมดทุกประธานาธิบดีที่ครองตำแหน่ง

Ellsberg ส่งสำเนานี้ให้แก่นักข่าวของนักหนังสือพิมพ์ The New York Times ตีพิมพ์ แน่นอนว่านิกสันย่อมไม่ยอมให้ใครทำลายความน่าเชื่อถือของเขา จึงใช้ทั้งพลังมืด และอำนาจตามกฎหมายสั่งให้สื่อหุบปาก หยุดตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวด้วยข้อหาภัยต่อความมั่นคง จน The New York Times ต้องระงับการพิมพ์โดยคำสั่งของศาลชั้นต้น

Ben Bagdikian ผู้ช่วยบรรณาธิการของ Bradlee แกะรอยจนเจอ Ellsberg และเขาก็ได้สำเนาเอกสารชุดเดียวกันที่ส่งให้The New York Times ซึ่ง Bradlee ตัดสินใจที่จะตีพิมพ์ แต่ต้องผ่านการตัดสินใจอย่างยากลำบาก เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน 

ฝ่ายกฎหมายเห็นว่าแหล่งข่าวที่ได้มานี้เป็นแหล่งข่าวเดียวกันกับของ The New York Times ซึ่งถูกศาลห้ามไว้ และที่สำคัญก็คือในขณะนั้น Katherine ซึ่งเป็นเจ้าของThe Washington Post ได้นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO - Initial Public Offering) ซึ่งเป็นการเสี่ยงมากที่จะประสบความล้มเหลวได้ หากมีการตีพิมพ์ข่าวนี้ออกไป กอรปกับ Katherine เองก็เป็นเพื่อนสนิทของ Macnamara อีกด้วย

ท่ามกลางการสบประมาทเธอที่เป็นผู้หญิง ซึ่งในยุคนั้นยังไม่ได้การยอมรับการเป็นผู้นำองค์กรโดยเฉพาะอย่างองค์กรสื่อ และการคัดค้านจากกรรมการบริหารฯ ที่สำคัญอีกหลายคน  เธอตัดสินใจอนุญาตให้มีการตีพิมพ์ข่าวดังกล่าวและพร้อมเผชิญหน้าต่อผลที่ตามมา ด้วยความกล้าหาญและจิตวิญญาณของเป็นสื่อที่แท้จริง เธอตัดสินใจอนุญาตให้มีการตีพิมพ์ข่าวดังกล่าวและพร้อมเผชิญหน้าต่อผลที่ตามมา ซึ่งหนังสือพิมพ์ทั่วทั้งสหรัฐก็นำข่าวเหล่านี้ไปตีพิมพ์ต่ออย่างกว้างขวาง

แน่นอนว่าประธานาธิบดีนิกสันให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมติดต่อมาให้ระงับการตีพิมพ์โดยอ้างความมั่นคงของชาติ ซึ่งในที่สุดเรื่องของทั้งThe Washington Post และ The New York Times ก็ไปถึงการพิจารณาของศาลสูงสุดของสหรัฐ (The Supreme Court of the United States – SCOTUS) (ซึ่งผู้พิพากษาฯถูกเสนอชื่อแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภา) ได้มีมติ 6-3 วินิจฉัยว่าสื่อสามารถตีพิมพ์เอกสารดังกล่าวได้ 

นับว่าเป็นชัยชนะของสื่อและสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวอเมริกันที่มีต่อรัฐบาลของเขาที่ปกปิด และหลอกลวงประชาชนของตนเองมาโดยตลอด ที่น่าประทับใจที่สุดก็คือคำวินิจฉัยส่วนตนของผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้(คงต้องไปดูอีกรอบ)ได้กล่าวว่า “สื่อต้องรับใช้ประชาชน มิใช่รัฐบาล

มองเขา มองเรา

จากกรณีนี้เราจะเห็นได้ว่า สื่อที่แท้จริง หรือสื่อที่กล้าหาญ และยืนหยัดต่ออุดมการณ์นั้นเป็นอย่างไร บทบาทและอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลและศาลในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นกำหนดตัวแทนของเขาด้วยบัตรเลือกตั้งนั้นเป็นอย่างไร สิทธิเสรีภาพของสื่อ และประชาชนในสังคมประชาธิปไตย ที่เป็นนิติรัฐนิติธรรมนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนว่านักการเมืองของเขามีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่ระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพสามารถเอาคนผิดมาลงโทษหรือเอาออกจากตำแหน่งได้

เมื่อหันกลับมาดูบ้านเราในขณะนี้ สื่อต่างประคับประคองตัวเพื่อให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัยทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและการคุกคามจากรัฐ มิหนำซ้ำบางรายหันไปซบเอาเสียดื้อๆ 

ส่วนรัฐนั้นเล่าก็ทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธรรมดา กฎหมายพิเศษ มาตรการทั้งหนักและเบาที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ส่วนทางด้านศาลเองก็ตามหลังจากที่รับรอง “อำนาจรัฐประหารว่าเป็นอำนาจรัฎฐาธิปัตย์”มาอย่างยาวนาน แต่หลังๆก็เลี่ยงไม่ใช้คำนี้ โดยหันไปใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญฯ(ชั่วคราว-ที่ออกโดยคณะรัฐประหาร)ได้รับรองไว้”แทน 

บางคดีเช่นคดีประชามติก็มีการยกฟ้อง และล่าสุดที่พอจะเป็นความหวังเหมือนหยดน้ำกลางทะเลทรายก็คือ การมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดี We Walkว่าสามารถทำได้

อำนาจมีได้ก็หมดได้ สื่อที่ประคองตัวโดยอ่อนลู่ไปตามลมอาจอยู่ได้แต่ไม่มั่นคงถาวร แต่สื่อที่มีจุดยืนที่มั่นคงและสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าจะผ่านสื่อหรือการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นนั้นย่อมดำรงอยู่ได้เสมอ แม้ในบางครั้งอาจจะต้องเจอแรงเสียดทานบ้าง

อย่าลืมว่านาฬิกานั้นแม้จะถูกหมุนกลับไปไกลเท่าใดหรือถูกถอดปลั๊กออกก็ตาม เมื่อเริ่มเดินใหม่หรือเสียบปลั๊กใหม่ย่อมเดินไปข้างหน้าเสมอครับ