หยุดละเมิดสิทธิ ผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ

หยุดละเมิดสิทธิ ผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ

ทุกวันนี้การเดินทางด้วยเครื่องบินดูจะเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว ด้วยเหตุที่ว่ามีสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ต่างแข่งขันกันลดราคา

จนบางครั้งราคาค่าโดยสารของเครื่องบินต่ำกว่ารถทัวร์เสียอีก

สายการบินเหล่านี้ ล้วนโฆษณาว่าเครื่องบินและบริการของตนเป็นของดี ราคาถูก ซึ่งดูจะจริงเมื่อตอนที่เปิดตัวใหม่ๆ 

แต่ในระยะหลัง เมื่อแข่งราคากันมาก ก็หันมาลดคุณภาพ รวมถึงเกิดปัญหาการบริการมากมาย ครั้นเมื่อผู้โดยสารร้องเรียนไป คำตอบที่ได้รับคือ นี่เป็นสายการบินโลว์คอสต์นะคะ

คำถามคือถ้าเป็นผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ บริษัทจะปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้ อย่างนั้นหรือ

ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวจ.ตรัง เมื่อช่วงต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ด้วยความที่เรารู้กำหนดการล่วงหน้าถึง 5 เดือน เราจึงสามารถจองตั๋วได้ในราคาไม่แพงนัก คือราคาตั๋วไปกลับคนละ 1800 บาท เราไปกันห้าคน เมื่อรวมกับน้ำหนักกระเป๋าที่จะโหลดใต้ท้องเครื่อง ก็ตกประมาณ 10,500 บาท บินไปกับสายการบินที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปนกสีเหลือง

สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจก็คือ สายการบินระดับชาติแห่งนี้ โทรศัพท์มาขอเปลี่ยนกำหนดการบินของผมถึงสามครั้ง ในช่วงสี่เดือนก่อนการเดินทาง และครั้งที่ 3 นี้ ดูจะเป็นการละเมิดสิทธิของพวกผมอย่างชัดเจน

ในสองครั้งแรกที่เขาโทรมาเลื่อนเที่ยวบิน เรายังพออะลุ่มอล่วยกันได้ เพราะมันยังไม่เปลี่ยนเวลาจากเดิมไปมากนัก แต่ครั้งที่ 3 เปลี่ยนจากเวลา 19.00 น. เป็น 11.00 น. เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะโปรแกรมวันนั้น (10 มกราคม 2561) ผมและคณะจะขึ้นจากเกาะมาที่แผ่นดินในเวลา 12.00 น. แล้วมีเวลาเตรียมตัว 5-6 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่องกลับตามเวลาเดิม แต่นี่เวลาใหม่บีบให้ผมต้องออกจากเกาะแต่เช้าตรู่ ซึ่งจะเป็นปัญหากับเรือที่เรานัดเวลาไว้ใกล้เที่ยง

ผมจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ที่โทรมาว่า คุณคิดจะมาแจ้งง่ายๆ แบบนี้ไม่ได้ คุณต้องช่วยผมแก้ปัญหาด้วย 

เขาบอกว่างั้นจะให้สิทธิเลื่อนเวลาบินใน 3 เดือน จะบินเมื่อไรก็ได้ ผมจึงบอกเขาไปว่า ผมขึ้นมาจากเกาะถึงตรังเที่ยง และต้องกลับวันนั้น ถ้าคุณหาไฟลต์เย็นหรือค่ำให้ผมไม่ได้ บริษัทของคุณต้องออกค่าโรงแรมให้ผม เพื่อบินในวันรุ่งขึ้น 

เขาบอกว่านี่เป็นสายการบินโลว์คอสต์ ไม่มีบริการนี้ เขาจึงเสนอว่า งั้นให้ไปขึ้นเครื่องที่จังหวัดใกล้เคียงได้ไหม ผมบอกว่า ได้ แต่บริษัทต้องส่งรถมารับและไปส่งสนามบินที่ว่า เช่น กระบี่ หรือ นครศรีธรรมราช เขาบอกว่า ไม่ได้ 

ผมจึงบอกว่า นี่คุณ คำว่า โลว์คอสต์แอร์ไลน์ ไม่ใช่ว่า คิดจะทำอะไรกับผู้บริโภคก็ได้นะ คุณต้องคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคด้วย จะมาทิ้งๆขว้างๆกลางทางแบบนี้ไม่ได้ สุดท้าย เมื่อตกลงกันไม่ได้ เขาก็วางสายไป

ผมจึงนำปัญหานี้ไปร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(ทางออนไลน์) แต่เมื่อแจ้งไปแล้ว เรื่องกลับเงียบ ไม่มีการติดต่อกลับ 

หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ สายการบินที่ว่านี้ก็โทรกลับมา อาสาจะหาเที่ยวบินของสายการบินอื่นที่มีเวลาบินใกล้เคียงกับเวลาเดิมมาให้ ซึ่งผมก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมเขาไม่เสนอเงื่อนไขนี้ตั้งแต่แรก หากแสดงความรับผิดชอบด้วยการโอนย้ายไปสายการบินอื่นแต่แรก ก็หมดปัญหาไปแล้ว 

มารู้ที่หลังว่าสายการบินอื่นบังเอิญจัดโปรโมชั่นลดราคาตั๋วในช่วงนั้นพอดี เขาจึงรีบโทรมา ยังสงสัยว่าถ้าสายการบินอื่นไม่จัดรายการลดราคา กลุ่มผมจะถูกลอยแพต่อไปหรือไม่

เรื่องนี้ดูเหมือนจะจบ เมื่อผมได้รับการโอนย้ายไปบินกับสายการบินใหม่ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปสิงห์โตสีแดง แต่พอบินกลับมาถึงสนามบินดอนเมือง กลับพบว่ากระเป๋าเดินทางใบเก่งราคาแพงของผม ล้อข้างหนึ่งขาดวิ่นหายไปเกือบทั้งล้อ เหมือนมีอะไรเสียดสีจนเนื้อล้อหายไปเป็นวงรอบ เราจึงไปร้องเรียนที่เจ้าหน้าที่สนามบิน เธอได้เรียกเจ้าหน้าที่ของสายการบินสิงห์โตสีแดงนี้มาแก้ปัญหา

คำแรกที่เจ้าหน้าที่คนนี้ถามคือ คุณมีทำประกันการเดินทางหรือไม่ ผมตอบว่าไม่มี เพราะครอบครัวผมมีประกันอุบัติเหตุกันคนละ 7-8 หลักกันอยู่แล้ว ผมจึงถามเขาว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร เพราะไม่ว่าผมจะมีประกันหรือไม่มีประกัน ทางฝ่ายของคุณต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ในฐานที่ทำให้ทรัพย์สินของผมเสียหาย 

เขาชี้แจงว่าถ้าผมมีทำประกันการเดินทาง บริษัทประกันภัยจะชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ทั้งหมด แต่ถ้าผมไม่ได้ทำประกันอันนี้ไว้ ทางสายการบินจะชดเชยให้เพียง 200 บาทเท่านั้น (ต่อล้อ 1 ข้างและต้องเขียนคำร้องส่งเรื่องไปสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศเพื่อขออนุมัติ แล้วจึงโอนเงินเข้าบัญชีให้) 

ผมจึงแย้งไปว่า 200 บาทนี้ยังไม่พอค่าแท็กซี่นำกระเป๋าไปซ่อมเลย เขาตอบว่า นี่เป็นสายการบินโลว์คอสต์นะครับ เราจึงชดเชยได้เพียงเท่านี้ เขายังย้ำว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทุกวัน เราก็ชดเชยอย่างนี้ทุกราย ตามที่ระบุไว้ ในตั๋วผู้โดยสาร ไปอ่านดูได้

ผมมาทราบภายหลังว่า มีคนเจอเหตุการณ์กระเป๋าฉีกขาดแบบนี้บ่อยมาก โดยเฉพาะสายการบินรูปสิงห์โตนี้ ทุกคนต่างไม่พอใจและไม่เข้าใจว่าทำไมสายการบินไม่ร่วมกับการท่าอากาศยานรีบแก้ปัญหานี้ ทั้งที่มันน่าจะเป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ยาก

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงภาพที่สถานีขนส่งหมอชิตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่พนักงานรถทัวร์สายอีสาน ต่างยื้อยุดฉุดกระชากผู้โดยสารให้ขึ้นรถทัวร์ของตน แล้วบอกว่าคันนี้ผ่าน ให้ขึ้นรถได้เลย แต่พอได้ค่าโดยสารแล้ว กลับไปปล่อยผู้โดยสารลงระหว่างทางโดยอ้างว่า ไปไม่ถึงบ้าง หรือเปลี่ยนเส้นทางบ้าง

ตอนนี้สายการบินโลว์คอสต์กำลังเห็นผู้โดยสารของตนเป็นเสมือนตาสีตาสา ไร้สิทธิไร้เสียง จะทำอย่างไรก็ได้ คิดจะเปลี่ยนเที่ยวบินเมื่อไรก็ได้ กระเป๋าเดินทางจะขนถ่ายลวกๆอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก และคำตอบเดียวที่เอาอยู่หมัดคือ นี่เป็นสายการบินโลว์คอสต์นะครับ (จะเอาอะไรกันนักหนา)

ผมขอถามท่านผู้อ่านว่า ถ้ามีบริษัทเครื่องดื่มแห่งหนึ่งลงทุนผลิตน้ำอัดลมชนิดใหม่ขึ้นมา ขายราคาขวดละ 10 บาท ปรากฏว่าผู้บริโภคดื่มแล้วมีอาการปวดท้องรุนแรง เมื่อไปร้องเรียนกับบริษัท บริษัทก็จ่ายค่าชดเชยออกมาให้เพียง 5 บาท โดยบอกว่าให้ไปซื้อยาแก้ปวดพาราเซตามอลมาทานเพื่อแก้ขัดไปก่อน พอเราโวยวาย เขาก็บอกว่าเครื่องดื่มขวดละ 10 บาทผมชดเชยให้ 5 บาท ก็ดีแล้ว จะเอาอะไรกันนักหนา ถามว่าวิธีคิดแบบนี้ถูกหรือไม่ครับ

บริษัทใหญ่โตระดับชาติคิดกันได้เท่านี้จริงๆหรือ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ดูแลอยู่ ยอมจำนนกับตรรกะแบบนี้ใช่หรือไม่ การผลิตสินค้าราคาถูกแล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก ถูกต้องแล้วหรือ

อย่ารอให้ถึงวันที่ผู้โดยสารตีความว่าสายการบินต้นทุนต่ำมันก็เป็นเพียงแค่สายการบินชั้นต่ำ ที่ไม่ยอมรับผิดชอบอะไรเลย เพราะถ้าถึงวันนั้น จะจีบปากจีบคอพูดว่า ของเราเป็นของดี ราคาต่ำ ถามว่ายังจะมีใครเชื่อสักกี่คนครับ

โดย... บรรยง วิทยวีรศักดิ์