ฟอกเงินผ่าน'บิทคอยน์'ปลอดภัยจริงหรือ

ฟอกเงินผ่าน'บิทคอยน์'ปลอดภัยจริงหรือ

บทความนี้มิได้มีเจตนาสนับสนุนการฟอกเงิน เพียงแต่เป็นการวิเคราะห์ความปลอดภัยของบิทคอยน์ ในการอำพรางข้อมูลธุรกรรม เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว

จากที่เคยกล่าวถึงในหลายบทความก่อนหน้านี้ หนึ่งในเจตนารมณ์ของผู้ที่คิดค้นบิทคอยน์ คือการรักษาความเป็นส่วนตัว ของผู้ที่ทำธุรกรรมผ่านระบบ ด้วยการอาศัยการเข้ารหัส จึงเป็นเหตุที่ทำให้ เงินดิจิทัลในรูปแบบของบิทคอยน์ ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า สกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency)

แต่เพราะเหตุใด ผู้ที่บุกเบิกบิทคอยน์ จำเป็นต้องอำพรางข้อมูลธุรกรรม นั้นเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ที่จะตีความอย่างแตกต่างกันไป และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมมีทั้งเหตุผลที่ดีและไม่ดี เพราะเรื่องของเงิน ย่อมไม่เข้าใครออกใคร

ถึงแม้ปัจจุบัน จะมีการคาดคะเนว่า เหลือเพียง 1% ของการทำธุรกรรมบนบิทคอยน์ ที่มาจากการซื้อขายที่ผิดกฎหมาย แต่่เมื่อราว 5 ปีก่อนหน้านี้ การซื้อขายที่ผิดกฎหมาย มีสัดส่วนถึง 30% ของการทำธุรกรรมบนบิทคอยน์

ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการซื้อขายยาเสพติด ผ่านบริการที่ชื่อ ซิลค์โรด (Silk Road) สำหรับบางสังคม อาจมองยาเสพติดเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่สำหรับบางสังคม อาจมองเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ดี บิทคอยน์ มีส่วนหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อทำธุรกรรมที่ไม่มีสังคมใดจะยอมรับได้เลย นั่นคือ การจ้างวานฆ่า

นอกจากนี้ การอำพรางข้อมูลธุรกรรม อาจมีวัตถุประสงค์อื่น เช่น การหลบเลี่ยงภาษี และสาเหตุอื่น ที่อาจเบาบางกว่า การค้ายาเสพติด และ การจ้างวานฆ่า

ผู้ที่คิดค้นบิทคอยน์ ได้ภูมิใจเสนอ บล็อกเชน อันเป็นฐานข้อมูลสาธารณะ ที่บันทึกข้อมูลธุรกรรมของบิทคอยน์ทั้งหมด นับจากวันแรกที่บิทคอยน์ได้เริ่มต้นให้บริการ

ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมใหม่ด้วยบิทคอยน์ ข้อมูลก็จะถูกบันทึกลงบนบล็อกเชน ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ดังนั้น ขนาดของบล็อกเชน เมื่อวัดเป็น กิกะไบต์ จึงมีการเติบโตแบบเลขยกกำลัง เมื่อบิทคอยน์ได้รับความนิยม และมีการทำธุรกรรมในอัตราที่ถี่ขึ้น

แต่เพราะข้อมูลธุรกรรมบนบล็อกเชน เป็นข้อมูลเข้ารหัส ถึงแม้บล็อกเชน จะเป็นฐานข้อมูลสาธารณะ แต่ข้อมูลธุรกรรมจะถูกอำพรางจากบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องล่วงรู้ข้อมูลนี้

นี่คือสาเหตุที่ ด้วยวัตถุประสงค์ของการออกแบบแล้ว ข้อมูลธุรกรรมบนบล็อกเชน จึงควรที่จะปลอดภัยสำหรับการฟอกเงิน

อย่างไรก็ดี สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการค้นพบโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในประเทศกาตาร์ ว่าถึงแม้ข้อมูลธุรกรรมบนบล็อกเชน จะถูกอำพรางด้วยการเข้ารหัส แต่ข้อผิดพลาดของมนุษย์เอง (Human Error) ที่จะทำให้การฟอกเงินผ่านบิทคอยน์ อาจไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่หลายคนคิด

นั่นเป็นเพราะว่า ผู้บุกเบิกบิทคอยน์บางท่าน ได้เผลอโพสต์ ที่อยู่บิทคอยน์ (Bitcoin Address) ลงบนโปรไฟล์สาธารณะของตัวเอง เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ดต่างๆ หรือเผลอทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่าง ที่อยู่บิทคอยน์ ที่ต้องการจะปกปิด กับ ที่อยู่บิทคอยน์ ที่ต้องการจะเปิดเผย โดยความสัมพันธ์เหล่านี้ สามารถทำให้ยืนยันตัวคนของเจ้าของ ที่อยู่บิทคอยน์ ได้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนำ ที่อยู่บิทคอยน์ ที่สามารถยืนยันตัวตนได้ กลับไปค้นข้อมูลบนบล็อกเชน ก็จะพบธุรกรรมทั้งหมด ที่ผู้บุกเบิกบิทคอยน์ท่านนี้ ได้เคยทำมา ตั้งแต่บิทคอยน์เริ่มให้บริการ

นักวิจัย ยังสามารถยืนยันตัวตนของ ผู้บุกเบิก ที่เคยใช้ บิทคอยน์ ซื้อขายผ่าน ซิลค์โรด เป็นจำนวนหลายร้อยคน โดยความผิดพลาด สามารถเกิดจากความพลั้งเผลอเพียงครั้งเดียว แต่ข้อมูลบนบล็อกเชน ที่บันทึกข้อมูลธุรกรรมของบิทคอยน์ทั้งหมด นับจากวันแรกที่บิทคอยน์ได้เริ่มต้นให้บริการ จะไม่เคยถูกลบ และใคร ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาด จนถึงขั้นที่สามารถถูกเปิดเผยตัวตนได้นั้น เกิดจากการกระทำของมนุษย์ แต่ผู้ที่ใช้บิทคอยน์ อย่างระมัดระวัง และถูกต้องตามวิถีของการออกแบบ ย่อมที่จะสามารถฟอกเงินผ่านบิทคอยน์ได้อย่างปลอดภัย เพราะแม้ในปัจจุบัน ยังไม่มีใครที่จะค้นพบตัวตนที่แท้จริงของ ซาโตชิ นากาโมโตะ ผู้ที่คิดค้นบิทคอยน์ได้เลย