ไทยอยู่ที่ไหนและจะสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างไร ***

ไทยอยู่ที่ไหนและจะสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างไร ***

โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานครั้งสำคัญจาก “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”

ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า และ “Smart Factory” ยุค 4.0 สามารถผลิตสินค้าหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าได้เป็นจำนวนมากในเวลาชั่วพริบตาเดียว 

เทคโนโลยีถือเป็น Game Changer เพราะไม่เพียงส่งผลต่อกระบวนการผลิตสินค้า (How things are produced) แต่ยังส่งผลถึงแหล่งผลิตสินค้าด้วย (Where they are produced)

 ในอย่างหลังเราเริ่มเห็นกระแสการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติกลับสู่ประเทศผู้ลงทุน เป็นผลจากที่ประเทศพัฒนาแล้วสามารถใช้เทคโนโลยีทั้งหุ่นยนต์ และระบบจักรกลอัตโนมัติแทนการพึ่งพาแรงงานราคาถูกในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสถาบัน McKinsey Global Institute ประมาณการว่าภายในปี 2030 แรงงานจำนวนกว่า 375 ล้านคนทั่วโลกอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ จากกระแสการเติบโตของการใช้ระบบจักรกลอัตโนมัติ

นอกจากนี้ แรงงานในบางสาขาอาชีพอาจไม่มีอีกต่อไป เกิดความเสี่ยงของการถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันเวลา อาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันในศตวรรษที่ 21 ก็จะเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นมากมายเช่นกันโดยจะเป็นงานที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้น การผลิตและพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ จากมุมมองของผู้ประกอบการ

ผลการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ของโลก (Global Talent Competitiveness Index: GTCI) ล่าสุดปี 2018 จัดทำโดยสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก INSEAD ในฝรั่งเศสร่วมกับกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ (ADECCO) และ บริษัท TATA Communications ที่ประเมินจากหลายมิติทั้งด้านการผลิต การดึงดูดและการรักษาคนเก่งไว้ในประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลเชิงนโยบายในการพัฒนากลยุทธ์การส่งเสริมความสามารถของประเทศให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ 

GTCI สร้างจากข้อมูลสถิติสำคัญ 65 ตัวที่ได้จากรายงานของ OECD UNESCO และ World Bank และอีกส่วนหนึ่งมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจต่างประเทศ มี 6 กรอบการประเมิน คือ 

1. ปัจจัยส่งเสริมภายในประเทศ (Enable) พิจารณาจากสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ ด้านการตลาด ธุรกิจและแรงงาน 2. การดึงดูดแรงงาน (Attract) 3. การพัฒนาแรงงาน (Grow) พิจารณาเรื่องการศึกษาในระบบ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเข้าถึงโอกาสที่จะเติบโต 

4. การรักษาแรงงาน (Retain) 5. ทักษะสายวิชาชีพ (Vocational Skills) และ 6.ความรู้ความสามารถของแรงงาน (Global Knowledge Skills) พบว่า สวิตเซอร์แลนด์มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือสิงคโปร์ สหรัฐ นอร์เวย์ สวีเดน ตามลำดับ ไทยอยู่อันดับที่ 70 จากทั้งหมด 119 ประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2017 ที่อันดับ 73

ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ 1) ประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์อยู่ในกลุ่ม “Top-10” จะเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป ยกเว้นสหรัฐและสิงคโปร์ 

2) มาเลเซียเป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางขั้นสูงประเทศเดียวที่ติด 1 ใน 30 ประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์อยู่ในลำดับสูง และ 3) ไทยตามหลังเกาหลี จีน และฟิลิปปินส์ แต่อยู่ในลำดับที่ดีกว่าอินโดนีเซีย

ไทยอยู่ที่ไหนและจะสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างไร ***

จากผลการประเมินของ GTCI ไทยต้องเร่งพัฒนาในทุกด้านโดยเฉพาะทักษะสายวิชาชีพ (อันดับที่ 89) โดยไทยยังมีปัญหาใหญ่เรื่องทักษะระดับกลางของแรงงาน (อันดับที่ 91) และความสามารถในการจ้างงาน (อันดับที่ 67) ที่ผู้ประกอบการเห็นว่าระบบการศึกษาผลิตแรงงานออกมามีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงยังไม่ตอบโจทย์การแข่งขันทางเศรษฐกิจ

ส่วนรายงาน World Economic Forum ปี 2017 ชี้ว่าในภาพรวมทุนมนุษย์ของไทยอยู่ในระดับปานกลาง (อันดับที่ 40 จาก 130 ประเทศ) แต่ไทยมีจุดอ่อนคือมีสัดส่วนการจ้างงานทักษะสูงเพียง 14% (อันดับที่ 93) ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ไม่เอื้ออำนวย ทำให้การผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศเป็นไปได้ช้า

2. ดัชนีวัดทักษะของแรงงาน (PIAAC) จากมุมมองของแรงงาน

OECD จัดทำโครงการสำรวจทักษะของผู้ใหญ่ หรือ PIAAC: Programme for the International Assessment of Adult Competencies เพื่อวัดทักษะการทำงานของประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 16-65 ปี ที่ประกอบอาชีพทั้งที่ใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่บ้าน ผู้ที่ทำงานในสำนักงาน และสังคมทั่วไป สำรวจมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

เป็นการวัดกระบวนการคิดและทักษะการทำงานที่จำเป็น โดยประเมินทักษะในการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานที่ซับซ้อน ประกอบด้วย 1.การอ่าน วัดความเข้าใจและจัดการกับข้อความที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการใช้ชีวิต 

2.การคิดคำนวณ ความสามารถที่จะเข้าถึง ใช้ และสื่อสารข้อมูลทางคณิตศาสตร์ และ3.การแก้ปัญหาจากการใช้เทคโนโลยี ความสามารถในการใช้เครือข่ายและเครื่องมือสื่อสารเทคโนโลยีดิจิทัล

ผลสำรวจ PIAAC ล่าสุดพบว่า ผู้ที่ได้คะแนนทักษะสูงมีโอกาสจะได้รับการจ้างงานสูงกว่าผู้ที่มีคะแนนทักษะต่ำถึง 2 เท่า และยังมีโอกาสได้รับค่าจ้างสูงกว่าถึง 3 เท่า ประเทศที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ ญี่ปุ่นและฟินแลนด์ โดยเฉพาะทักษะการอ่านและการคิดคำนวณซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สําคัญที่สุดของการเรียนรู้ 

ผลการสํารวจทักษะด้านการอ่าน พบว่า 20% ของแรงงานชาวญี่ปุ่นและฟินแลนด์ได้คะแนนการอ่านอยู่ ในระดับสูง คือสามารถอ่าน รวบรวม ตีความ และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในงานได้ดี

ปัจจุบัน ไทยยังไม่เข้าร่วมการวัดประเมินทักษะวัยแรงงาน แต่การที่แรงงานกลุ่มใหญ่กว่า 25 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของแรงงานทั้งหมดมีระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า ทำให้มีความจำเป็นอย่างมากที่ไทยต้องเร่งยกระดับคุณภาพทักษะแรงงาน เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ

ประเทศที่เข้าร่วมได้ประโยชน์อะไรจากการสำรวจนี้ เนื่องจากผลสำรวจนี้ช่วยชี้เป้าให้ผู้กำหนดนโยบายรู้ว่าควรปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาไปในทิศทางใด เพื่อเติมเต็มทักษะที่จำเป็นให้กับแรงงานกลุ่มต่างๆ รวมถึงสร้างคนและสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ และงานนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้ทักษะสูงขึ้น

3. บทเรียนจากต่างประเทศ มองโลก มองเรา

ตัวอย่างประเทศที่นำผลสำรวจไปใช้พัฒนาทุนมนุษย์ กรณีอังกฤษ จากผลสำรวจ PIAAC รัฐบาลอังกฤษได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาโดยเน้นพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่เยาวชนและประชากรวัยแรงงาน เช่น ยกระดับการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับอาชีพผ่านการฝึกงาน สร้างหลักสูตรออนไลน์ในที่ทำงานหรือในชุมชน ที่เอื้อให้ประชากรวัยแรงงานสามารถเลือกศึกษาต่อเพิ่มเติมในสาขาวิชาที่เหมาะสมกับอาชีพและความถนัดของตนเอง

กรณีญี่ปุ่น สถาบันวิจัยนโยบายด้านการศึกษาแห่งชาติ นำผลสำรวจ PIAAC ไปพัฒนานโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาทักษะความสามารถของแรงงาน เช่น การพัฒนาทักษะด้าน ICT แก่กลุ่มแรงงานผู้ใหญ่ การพัฒนาระบบการจัดการที่เชื่อมโยงทักษะแรงงาน รายได้และการจ้างงาน 

และกรณีสโลวาเกีย ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เพิ่มเติมประเด็นการลงทุนภาครัฐด้านการศึกษาของแรงงานวัยผู้ใหญ่

ไทยอยู่ที่ไหนและจะสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างไร ***

ในกรณีของไทย การพัฒนาทักษะกำลังคนในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว คงไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งในระดับประเทศ บริษัทและลูกจ้าง โดยไทยต้องเร่งปฏิรูประบบการศึกษาที่เน้นการเรียนผ่านการทำโครงการและประสบการณ์เรียนรู้มากกว่าแบบเดิมที่เน้นท่องจำ

 บริษัทต้องลงทุนยกระดับฝีมือแรงงานเดิมและฝึกงานแก่คนรุ่นใหม่ ส่งเสริมความเป็นอิสระและความร่วมมือมากกว่าการสั่งการแนวดิ่ง เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลูกจ้างก็ต้องพัฒนาตนเองและพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล ดังคำกล่าวของ John Dewey นักปรัชญาทางการศึกษาของโลกที่ว่า “Education is not preparation for life; education is life itself.”

โดย... 

ดร.เสาวณี จันทะพงษ์.

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์

*** ชื่อเต็มเรื่อง: ศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์: ไทยอยู่ที่ไหนและจะสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างไร