“ยาเฉพาะตัว” ในอนาคต

“ยาเฉพาะตัว” ในอนาคต

คุณเคยแพ้ยาเพนิซิลินหรือไม่” “เคยแพ้ยาอื่นๆ หรือไม่” “ทำไมคน 2 คนเป็นโรคเดียวกัน กินยาตัวเดียวกัน ขนาดเท่ากัน แต่คนเดียวเท่านั้นที่ยาได้ผล”

คำพูดนี้มีนัยว่า ยามีผลต่อคนแตกต่างกัน

แพทย์สังเกตเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มานานแล้ว จึงทำให้เกิดการค้นคว้าวิจัย และในอนาคตจะนำไปสู่การใช้ยาเฉพาะคน (personalized medicine) ซึ่งก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด

สาขาการแพทย์และเภสัชวิทยาที่มีชื่อว่า pharmacogenomics (ซึ่งมาจากpharmaco+genomicsหรือเภสัช+พันธุกรรม) เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในทศวรรษ 50 กว่าจะมีบทความตีพิมพ์ที่มาจากงานวิจัยก็ประมาณปี1961 มีรายงานแรกในปี1956ว่า มีคนไข้จำนวนไม่น้อยเป็นอัมพาต หรือถึงแก่ชีวิตหลังจากฉีดยา succinylcholine ระหว่างวางยาสลบ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าคนไข้ที่ประสบเหตุเหล่านี้อาจมียีนส์ที่แตกต่างจากคนอื่น

ยีนส์(gene)ที่ว่านี้ อยู่ในแต่ละเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เปรียบเสมือนกับคำสั่งให้ร่างกายทำงาน 

สำหรับมนุษย์นั้นมีโครโมโซมอยู่ 23 ตัว(2 คู่รวม 46 ตัว) DNA คือ การประกอบกันขึ้นของโครโมโซม เป็นเส้นยาวมองไม่เห็นด้วยตามเปล่า ประมาณ 1.3 เมตร บรรจุ 3,000 ล้าน “คำสั่ง” ซึ่งมาจากยีนส์จำนวนประมาณ 19,000-20,000 ยีนส์ ที่อยู่ในโครโมโซมเหล่านี้ เพื่อให้ร่างกายมนุษย์ทุกส่วนทำงานผ่านการหลั่งของสารต่างๆ ในร่างกาย

DNA จึงเปรียบเสมือน “ตำรากับข้าว” ของชีวิตโดยอยู่ในแต่ละเซลล์ ที่มียีนส์เป็นผู้ออกคำสั่ง มนุษย์มี 99.5% ของ 3,000 ล้านข้อมูล (เรียกว่า genomes ซึ่งคือ genetic information หรือข้อมูลด้านพันธุกรรม) ที่เหมือนกัน ส่วนที่แตกต่างกันเพียง 0.5% ก็ทำให้แต่ละคนมีความสามารถในการตอบรับต่อยาได้แตกต่างกันมากมาย เพราะหมายถึงข้อแตกต่างนับล้านๆ ระหว่าง DNA ของคน 2 คน

เมื่อปี 2000 มนุษย์ประสบผลสำเร็จในการทำแผนที่ DNA กล่าวคือในความยาว 1.3 เมตรของ DNA สามารถระบุได้พอประมาณว่า ยีนส์ตัวใดของโครโมโซมตัวใดที่มีหน้าที่สั่งให้มีการหลั่งของสารใด เพื่อให้ร่างกายส่วนใดทำงาน

ปัจจุบันสามารถรู้ได้มากพอควรจากแผนที่ DNA ของแต่ละคนว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางพันธุกรรมใด เมื่อมนุษย์สามารถสร้างแผนที่ DNA ขึ้นได้สำเร็จ

ท่านผู้อ่านคงจำเรื่องราวของดาราภาพยนตร์ชื่อดัง Angelina Jolie ตัดสินใจตัดเต้านม และมดลูกทิ้ง เพราะญาติใกล้ชิดหลายคนเป็นมะเร็งที่ 2 อวัยวะนี้ หลังจากดูแผนที่ DNAแล้ว ก็เห็นว่ามีโอกาสที่จะเป็น เธอจึงตัดสินใจตัดทิ้งเสียเลยก่อนหน้าที่ยีนส์ที่ไม่สมบูรณ์จะ “ก๊ง” และสั่งคำสั่งที่ ผิดๆ ออกมา จนมีก้อนเนื้อเติบโตขึ้นเร็วผิดปกติซึ่งก็คือโรคมะเร็ง

การแตกต่างของยีนส์ระหว่างบุคคล ทำให้ปฏิกิริยาที่มีต่อยาแตกต่างกันออกไป บางคนยาได้ผลไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่มีผลข้างเคียงสูงหรือมีแต่ผลข้างเคียงอย่างเดียว เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเมื่อร่างกายรับยาเข้าไป ก็จะผ่านกระบวนการย่อยสลายและดูดซึมโดยร่างกาย(metabolized) 

ยาจะผ่านกระบวนการนี้อย่างไร และร่างกายมีปฏิกิริยาอย่างไร สิ่งที่เป็นตัวกำหนดส่วนหนึ่งก็คือยีนส์ของเรา กล่าวคือยีนส์เหล่านี้มีผลต่อ “เครื่องจักร” ซึ่งรับผิดชอบกระบวนการดังกล่าว

การเข้าใจว่ายีนส์ที่แตกต่างกันมีผลอย่างไรต่อกระบวนการดูดซับ สามารถช่วยให้แพทย์ตัดสินใจได้แม่นยำว่า ควรให้ยาตัวใด ด้วยขนาดเท่าใด จึงจะเป็นผลดีที่สุดแก่คนไข้

ดังนั้น pharmacogenomics จึงเป็นศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาข้อมูลที่ออกมาจากยีนส์ของแต่ละคนเพื่อให้บอกได้ว่าปัจจัยพันธุกรรมใดซึ่งมีอิทธิพลต่อปฏิกิริยาที่มีต่อยา

พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องค้นให้พบยีนส์ของแต่ละคนที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อยา ตัวหนึ่ง ถ้าหายีนส์ตัวที่เกี่ยวพันกับการตอบรับยาตัวนี้ได้ แพทย์ก็จะพยากรณ์ได้ว่าคนไข้จะมีปฏิกิริยาต่อยาตัวนี้อย่างไร และควรให้ยาในปริมาณเท่าใด

สิ่งที่นักวิจัยเหล่านี้ต้องการก็คือ การพัฒนาบททดสอบยีนส์ (genetic tests) ของแต่ละคน ที่มีปฏิกิริยาต่อยาแต่ละตัว หรือแต่ละชุดตัวยาเพื่อที่จะได้รู้ว่าควรใช้ยาใดที่เกิดผลดีที่สุดแก่คนไข้ มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด และนี่คือการผลิตยาเฉพาะขึ้นมาของแต่ละคนในการรักษาโรคหนึ่งๆ

ทิศทางของการผลิตยาเช่นนี้ในอนาคต จะทำให้เกิดการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพที่สุด ตัวอย่างเช่น การรักษาโรคมะเร็งบางชนิดมีราคาแพงมาก แต่อาจได้ผลเฉพาะคนที่มียีนส์บางลักษณะเท่านั้น คนไข้ที่มียีนส์ลักษณะอื่นก็จะไม่ตอบรับกับยาตัวนี้ ดังนั้นจึงเป็นการสูญเสียเปล่า และเป็นการรักษาที่ไม่ได้ผลอีกด้วย 

หากมีความเข้าใจโรคอย่างถ่องแท้และมีการรักษาพยาบาลผ่าน pharmacogenomics ทรัพยากรก็จะได้ถูกใช้ไปเต็มที่ ในการรักษาที่ถูกทาง ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีแก่คนไข้มากกว่า

ปัจจุบัน Pharmacogenomics ก้าวหน้าไปมาก แต่ก็ยังมีหนทางอีกยาวไกลในอนาคต ยิ่งรู้มากขึ้นก็ยิ่งเห็นว่ามนุษย์ได้ใช้วิธี “ตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทุกคนใส่” มานาน เสื้อบางตัวก็เล็กไปแต่ถูกบังคับให้ใส่จนหายใจไม่ออกและเสียชีวิต บางตัวก็พอใส่ได้ให้ความอบอุ่นและ ความงาม บางตัวก็ใหญ่เกินไปจนหลวม แต่ก็พอถูไถไปได้ถึงแม้จะซื้อมาด้วยราคาแพงมากก็ตาม แต่ถ้าหาผ้าหนาๆ มาห่มก็จะไม่หนาว และแถมใส่สบาย สวยงามและถูกกว่ามากด้วย

การจะรู้ว่าตัวคนใส่มีร่างกายขนาดใด มีรสนิยมอย่างไร ก่อนที่จะตัดเสื้อให้ด้วยชนิดของผ้าหนาหรือบางเพียงใด จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะได้ใส่สบายและถูกใจคนใส่ ทั้งหมดนี้ หนีไม่พ้นงานวิจัยอันยาวนานในการศึกษายีนส์และปฏิกิริยาที่มีต่อยาชนิดต่างๆ ของแต่ละบุคคล

มีกรณีที่เกิดขึ้นจริงกับแม่ที่คลอดลูกด้วยวิธีผ่าท้อง แพทย์ให้ยามาตรฐานคือ codeine เพื่อลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดเหมือนกรณีทั่วไป หลังจากนั้นเธอวิงเวียนศีรษะ อาเจียน และเห็นว่าลูกที่กินนมเธอดูหงอยๆ และไม่ค่อยกินนม แพทย์จึงสั่งให้หยุดยา ตัวนี้ อาการก็กลับมาเป็นปกติ 

แพทย์ลงความเห็นว่าถ้าแม้นให้เธอผ่านบททดสอบยีนส์ก่อนรับยาก็จะพบว่าเธอมียีนส์ซึ่งมีชื่อว่า CYP2D6 ซ้อนกัน 2 ตัวจนทำให้เธออยู่ในกลุ่มของผู้มีการดูดซึมยาเข้าสู่ระบบร่างกายอย่างรวดเร็ว ซึ่งอธิบายการแพ้ยา codeine ที่มีรากมาจากฝิ่นโดยใช้เพื่อระงับความปวด

personalized medicine คือยาในอนาคตซึ่งกำลังก่อตัวอย่างรวดเร็ว ในขั้นแรกอาจเป็นยาเฉพาะพันธุกรรมของเชื้อชาติ เพศ หรือเผ่าพันธุ์ ซึ่งตีวงลงมาเล็กกว่าการให้ยาตัวเดียวกันสำหรับอาการป่วยเดียวกันสำหรับทุกคนดังเช่นในปัจจุบัน

อย่าเสียใจที่เกิดมาเร็วเกินไป ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของการพัฒนา ครั้งต่อไปพยายามเลือกเกิดให้ถูกยุคสมัยก็แล้วกันจะได้มียาที่รักษาเฉพาะตัวได้อย่างชะงัด