เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนผู้บริหาร

เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนผู้บริหาร

เรื่องของการที่หุ่นยนต์ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาทดแทนคนในที่ทำงานในอนาคตอันใกล้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดีอีกมุมมองหนึ่งที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่น่าสนใจก็คือ นอกเหนือจากการที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนพนักงานระดับปฏิบัติงานทั่วๆ ไปแล้ว หุ่นยนต์จะสามารถเข้ามาทดแทนและเป็นผู้บริหารภายในองค์กรได้หรือไม่

ลองนึกภาพดูว่าถ้าหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลาย สามารถทำงานแทนคนได้ในระดับหนึ่ง แล้วทำไมเทคโนโลยีเหล่านี้ถึงไม่สามารถทำหน้าที่แทนผู้บริหารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีตที่เราคิดกันเสมอว่า องค์กรจ้างผู้บริหารมาเพื่อตัดสินใจ แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหุ่นยนต์สามารถตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลได้ดีกว่าคน แถมไม่มีความลำเอียงในการตัดสินใจเหมือนคนอีกด้วย

จริงๆ ในต่างประเทศได้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาบ้างแล้ว บริษัทชั้นนำหลายแห่งเริ่มนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในการตัดสินใจในงานบางอย่างแทนผู้บริหาร อาทิเช่น การใช้ AI มาจับคู่ระหว่างบุคลากรกับงาน เมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามาทำงานที่บริษัท และแทนที่เจ้านายจะเป็นผู้มอบหมายงานที่ (เจ้านาย) คิดว่าเหมาะสมให้ แต่กลับใช้เทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบประวัติของบุคลากรที่รับเข้าใหม่ และตรวจสอบงานๆ ต่างๆ ที่มีอยู่ จากนั้นจับคู่ระหว่างบุคลากรกับงานที่เหมาะสม

นอกจากการมอบหมายงานแล้ว เทคโนโลยียังสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนผู้บริหารในการจัดสรรทรัพยากรภายในองค์กร เช่น การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานต่างๆ 

ลองนึกดูว่าถ้าในอนาคต เมื่อถึงฤดูของงบประมาณ แทนที่จะให้หน่วยงานต่างๆ เป็นผู้วิเคราะห์และเสนองบประมาณประจำปี เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงเพื่อพิจารณาจัดสรร แต่ถ้ามีข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งอดีต (ผลการปฏิบัติงาน การใช้งบประมาณ) ข้อมูลในอนาคต (แผนงานในปีต่อไป รวมทั้งปัจจัยภายนอกต่างๆ) เทคโนโลยีย่อมสามารถที่จะนำข้อมูลต่างๆ มาประมวลและวิเคราะห์ เพื่อจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม โดยไม่มีปัจจัยด้านความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง

แม้กระทั่งบทบาทของผู้บริหารระดับสูงในด้านการเงินอาจจะต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารเงินและสภาพคล่องภายในองค์กร แทนที่ผู้บริหารด้านการเงินจะต้องทำหน้าที่ในการบริหารเงินขององค์กรเพื่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด เทคโนโลยีก็สามารถเข้ามาช่วยบริหารเงิน และกำหนดกลยุทธ์การลงทุน ที่เผลอๆ อาจจะดีกว่าให้ผู้บริหารเป็นผู้ลงทุนเอง 

ปัจจุบันในสหรัฐ เริ่มมีคำศัพท์ใหม่ คือ assets under automated management ขึ้นมาคู่กับ assets under management (AUM) แบบเดิมๆ แล้ว

ล่าสุดเริ่มมีพัฒนาการเพิ่มเติมอีกว่า หน้าที่ในการคิดและตัดสินใจทางด้านกลยุทธ์นั้น เผลอๆ เทคโนโลยี (โดยเฉพาะด้าน AI) อาจจะทำได้ดีกว่าผู้บริหารที่เป็นคนเป็นๆ เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรมีข้อมูลต่างๆ มากมายทั้งทางด้านการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน และจากข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมายนั้น เทคโนโลยีสามารถที่จะวิเคราะห์และหาความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลต่างๆ เพื่อหาทางเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสม สอดคล้องภายใต้หลักธรรมาภิบาล และมีความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม

ในเชิงเทคโนโลยีและจากปริมาณข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน การที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนหน้าที่บางประการของผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ มอบหมายงาน การจัดสรรและบริหารทรัพยากร (งบประมาณและการเงิน) หรือ การคิดแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสม ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นไปแล้ว แถมการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในหน้าที่งานต่างๆ ของผู้บริหาร ยังช่วยตัดปัญหาในด้านของความลำเอียงส่วนบุคคลและความผิดพลาดจากบุคคล (human-error) ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดีสิ่งที่อาจจะต้องชวนคิดคือ แล้วจริงๆ เทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาทำงานทดแทนผู้บริหารในหน้าที่ต่างๆ ได้จริงหรือไม่

ตัวอย่างเช่นในด้านกลยุทธ์นั้น กลยุทธ์ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่มีนั้นจะสามารถสู้กลยุทธ์ที่เกิดขึ้นจาก มุมมอง ความคิดสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงได้หรือไม่

เรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใหม่ที่กำลังมาอย่างรวดเร็วและน่าจับตามองต่อไป