ไทยควรเรียนรู้อะไรจากไต้หวัน

ไทยควรเรียนรู้อะไรจากไต้หวัน

ผมไปดูงานที่เมืองไทเป ไต้หวันกับกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทสาขาผู้นำฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ไปเยี่ยมพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย มหาวิทยาลัยและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ได้คุยกับไกด์คนไทยที่อยู่ไต้หวันมา 40 กว่าปีในหลายเรื่อง แม้จะเป็นช่วงเวลาแค่ 4 วัน และได้สัมผัสเพียงคร่าวๆ แต่ก็อยากตั้งข้อสังเกตว่ามีอะไรหลายอย่างที่ไทยและกรุงเทพฯ ควรจะเรียนรู้จากเขา

ในด้านเศรษฐกิจ ไต้หวันคือ 1 ใน 4 เสือแห่งเอเชีย ที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม) สูงกว่าไทย ที่น่าสนใจคือเขาพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม การขนส่งสาธารณะ สภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่ การคุ้มครองแรงงานได้ค่อนข้างดีด้วย

มหาวิทยาลัยแห่งชาติของไต้หวันมีการจัดสรรงบประมาณ (รวมทั้งได้รับบริจาคจากเศรษฐี) ทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก และติดอันดับการจัดมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทย

ระบบการรักษาและประกันสุขภาพของไต้หวันเน้นการป้องกัน มีการรณรงค์เรื่องโภชนาการ ให้ลดการกินอาหารหวานโดยเฉพาะสำหรับเด็ก และเรื่องอื่นๆ มีสถานพยาบาลระดับต่างๆ ให้บริการได้ทั่วถึง เสียค่าใช้จ่ายต่ำ ประชาชนทุกคนรวมทั้งแรงงานต่างที่ทำงานในไต้หวันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องเข้าระบบประกันสุขภาพของรัฐ 

ผู้เอาประกันรับภาระเบี้ยประกันบางส่วน 30% ที่เหลือหน่วยงานต้นสังกัดหรือรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ สำหรับครอบครัวรายได้ต่ำ และทหาร รัฐบาลออกให้ทั้ง 100% นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิต่างๆ ให้ความช่วยเหลือสำหรับคนป่วยที่มีปัญหาไม่เข้าเกณฑ์ด้วย หมอวิชัย โชควิวัฒน์เคยเขียนว่าเป็นประเทศที่มีระบบจัดการให้บริการสาธาณสุขที่ดีมากประเทศหนึ่ง

ไทเปซึ่งเป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุด มีทั้งรถไฟใต้ดิน รถเมล์ ทางจักรยาน และจักรยานให้เช่าแบบใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปรูดใช้ชั่วคราวและใช้เสร็จแล้วก็เอาไปคืนที่จุดอื่นได้สะดวก

สภาพการจราจรมีถนน 2 ชั้น ถนนวงแหวนที่ช่วยระบายการจราจรได้ค่อนข้างดี เราใช้รถโค้ชเดินทางไปโน่นมานี่ทั้งวันจนถึงมืด โดยไม่เจอรถติดแบบกรุงเทพฯ เลย บ้านเมืองก็ดูสะอาดสะอ้านและมีสวนสาธารณะมาก มีทางเดิน ทางจักรยานเลียบแม่น้ำ ผู้คนก็ดูเรียบร้อย มีอัธยาศัยดี ทั้งเรื่องการขับรถขับรา การเข้าคิวในที่ต่างๆ ดูคนไม่แออัดมาก 

แม้ในสถานที่ท่องเที่ยว เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ตลาดกลางคืนจะมีคนมากหน่อย แต่บรรยากาศก็ดูเรียบร้อยดี ต่างจากเมืองใหญ่ในจีน ที่มักจะอึกทึก ไร้ระเบียบมากกว่า

คนส่วนใหญ่ในไต้หวันคือคนจีนที่อพยพไปจากแผ่นดินใหญ่ (มีคนพื้นเมืองอยู่ส่วนหนึ่ง) ตั้งแต่ 100-200 ปีที่แล้ว และมีวัฒนธรรมของตนเองที่ต่างออกไป เคยเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นอยู่ราว 50 ปี ก่อนปี 1945 ที่ญี่ปุ่นจะแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นอยู่มาก ทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องสหกรณ์การเกษตร และอื่นๆ 

หลังจากนั้นพรรคก๊กมินตั๋ง นำโดยเจียงไคเช็คที่รบแพ้พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็อพยพไปตั้งปกครองที่ไต้หวันมาอีก 60 กว่าปีแล้ว ไต้หวันจึงมีเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่

ไต้หวันมีการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก การปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมด้านต่างๆ เช่นเดียวกับอีก 3 เสือแห่งเอเชีย คือสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่พวกเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่า เร็วกว่าไทย และประเทศเอเชียอื่นๆ เพราะเขาปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมหลายด้านอย่างครบวงจร และเน้นให้คนในประเทศได้พัฒนาเรื่องการศึกษาและเศรษฐกิจแบบกระจายการพัฒนาไปสู่คนส่วนใหญ่ ไม่ได้เน้นแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบส่งเสริมการลงทุนการค้าขายกับต่างชาติแบบที่รัฐบาลไทยทุกชุดทำตามๆ กัน

หน่วยงานรัฐบาลรวมทั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นของไทยชอบส่งคณะผู้บริหาร ข้าราชการระดับสูง ระดับกลาง ไปดูงานในประเทศกลุ่ม 4 เสือแห่งเอเชีย รวมทั้งในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่ไม่ได้สนใจศึกษาเรียนรู้สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาของประเทศเหล่านั้นจริงจัง

หลายคณะไปเพื่อการท่องเที่ยวที่หรูหรา และเพื่อซื้อของแบรนด์เนมของต่างประเทศมากกว่า ทั้งๆ ที่เราอาจเรียนรู้บทเรียนจากประเทศอื่นๆ ได้โดยเสียเงินน้อยกว่า หากสนใจติดตามอ่านศึกษาค้นคว้าจากข้อมูลต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้ค้นหาได้มากมาย ทั้งจากเอกสาร หนังสือ และอินเทอร์เน็ต

ไต้หวันส่งออกได้มากและค่อนข้างรวย มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียแอฟริกา ลาตินอเมริกาด้วย ส่วนหนึ่งคงเพราะต้องการหาเพื่อน เพราะไต้หวันถูกจีนโดดเดี่ยว โดยอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไม่ใช่ประเทศหรือรัฐชาติ ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติไต้หวันก็คือประเทศหนึ่ง ชื่อทางการคือสาธารณรัฐจีน

เข้าใจว่ากองทุนนี้คงช่วยผ่านรัฐบาลเป็นหลัก รวมทั้งช่วยไทยบางเรื่องด้วย หน่วยงานรัฐหรือองค์กรท้องถิ่นของไทยที่สนใจ น่าจะลองติดต่อขอความช่วยเหลือทางเทคนิค การศึกษา การพัฒนาประเทศ จากไต้หวันผ่านสำนักเศรษฐกิจและการค้าไต้หวันในกรุงเทพฯ ซึ่งทำหน้าที่แทนสถานทูตได้ คนที่สนใจเรื่องการศึกษาต่อ ไต้หวันก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตอนนี้ไต้หวันให้สิทธิคนไทยเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าด้วย

เมื่อจีนเติบโต ประเทศตะวันตกอยากคบด้วย และจีนเข้าสหประชาชาติทำให้ไต้หวันต้องพ้นสภาพสมาชิก เพราะจีนถือว่าประเทศจีนมีประเทศเดียว คือสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปัจจุบันไต้หวันก็มีการติดต่อค้าขาย ลงทุน เดินทาง ฯลฯ กับประเทศอื่นๆ เหมือนกับเป็นประเทศหนึ่ง พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ของไต้หวันมีนโยบายต่างกันบ้าง พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคเก่าของ จีนคณะชาติที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ ยังมีนโยบายแบบชาตินิยม และอยากเจรจารวมกับจีนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 

ขณะที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซึ่งเป็นของคนรุ่นหลังที่เกิดในไต้หวัน และตอนนี้ได้เป็นรัฐบาล มีนโยบายอยากให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระมากกว่า แต่เขาพยายามพูดจาอย่างระมัดระวัง เพราะจีนนั้นใหญ่โตเข้มแข็งกว่าไต้หวันหลายเท่ามาก