ผู้นำจีนคณะใหม่ กับทิศทางโลกและไทย (จบ)

ผู้นำจีนคณะใหม่ กับทิศทางโลกและไทย (จบ)

เรากำลังพบการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญมาก มี disruptive technology ที่เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต

ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย เช่น การที่มีเทคโนโลยี 3D Printing สามารถผลิตสิ่งของอย่างส่วนประกอบของอาคารขึ้นมาได้ รวมทั้งระบบ automation ที่เข้ามาทดแทนแรงงานคน ซึ่งก้าวหน้าไปมากในประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งจีน อาจส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วที่เคยไปตั้งฐานการผลิตในประเทศกำลังพัฒนาที่ค่าแรงถูก อาจย้ายฐานกลับไปผลิตในประเทศของตน (Re-shoring Investment)

การค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากตรงนี้ส่วนหนึ่งก็จะหายไป นั่นคือตัวอย่างของผลจาก Disruptive Technology

สำหรับอาเซียนนั้น มียุทธศาสตร์หลักๆ คือเรื่อง ASEAN integration และ ASEAN Connectivity สองเรื่องนี้น่าจะไปกันได้กับ BRI ของจีนที่จะลงมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ความจริงนี่เป็นความฉลาดของจีนที่จะใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางกายภาพที่อาเซียนมีกันอยู่ภายในก่อนหน้าแล้วเป็นพื้นฐานสำหรับ BRI 

อย่างไรก็ตาม BRI และยุทธศาสตร์อื่นของจีนที่กล่าวมาที่จะสัมพันธ์กับอาเซียน เช่น Pan-Beibu RCEP หรือ FTAAF ต้องดูว่าอาจจะกระทบกับยุทธศาสตร์สำคัญของอาเซียนเรื่อง ASEAN Centrality ที่อาเซียนตั้งไว้ว่า ตนจะต้องอยู่ในฐานะผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทั้งหลายในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้หรือไม่ 

ต้องดูกันต่อไปว่าในยามที่จีนมีความริเริ่มยุทธศาสตร์ต่างๆ ลงมาสู่ภูมิภาคนี้มาก อาเซียนจะยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และผู้นำชาติอาเซียนจะยังมีความไว้ใจใกล้ชิดกันอยู่หรือไม่

ส่วนญี่ปุ่น และสหรัฐ ก็มียุทธศาสตร์ที่ออกมาคาน มาต้าน มาทาน BRI และยุทธศาสตร์ของจีนในภูมิภาคนี้

ผู้นำจีนคณะใหม่ กับทิศทางโลกและไทย (จบ)

ในส่วนของญี่ปุ่น มี Abe Initiative และ AAGC (Asia-Africa Growth Corridor) ที่จะเชื่อมแอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน

ส่วนสหรัฐก็ตอบโต้ BRI อย่างเงียบๆ ด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐ ที่จะเรียกเขตแถบนี้ใหม่ ไม่เรียกว่าเอเชียแปซิฟิก หรืออาเซียนพลัส (ASEAN+) หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เรียกว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Region) ดังที่ปรากฏในการประชุม Quad Summit หรือการประชุมสุดยอด 4 ประเทศ ระหว่างทรัมป์, อาเบะ, โมดี, และเทิร์นบูลล์ ผู้นำอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งคล้ายจะส่งสัญญาณว่า นี่คือทิศทางที่จะตอบสนองการขยายยุทธศาสตร์ของจีน

ในโลกที่มีทั้งฝั่งที่เป็น Anti-globalization กับฝ่าย Pro-Globalism ในแต่ละฝ่ายก็เต็มไปด้วยยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ และมีปัจจัยแทรกที่สำคัญคือ Disruptive Technology ไม่ว่าจะในฝ่ายใดนี้ การมองว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร ควรเริ่มที่การศึกษา เพราะจุดอ่อนใหญ่ของไทยทุกวันนี้คือ ขาดการจัดการศึกษาที่จะเตรียมคน และประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา 

ไม่ว่าเราจะเลือกเดินไปในแง่ใด เราก็ยังไม่ได้เตรียมตัว เช่น ถ้าเราจะเลือกเดินไปทางนวัตกรรม เป็น 4.0 แบบที่เราพูด และเหมือนกับหลายประเทศ เราก็ยังไม่ได้มีการเตรียมตัวที่ชัดเจนที่จะมารองรับการพัฒนาในทางนี้ กล่าวคือ ถามว่าอะไรเป็นพื้นฐานของนวัตกรรม ก็คือความรู้ (knowledge) แล้วอะไรเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ ก็ต้องตอบว่าการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) 

ถามต่อไปว่าอะไรคือพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนา คำตอบก็คือทุน ต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 

ถึงจะมีองค์ความรู้ แล้วถึงจะมีนวัตกรรม แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีงบ R&D ประมาณ 0.4% ของ GDP แบ่งเป็นเอกชน 0.2% ภาครัฐ 0.2% และของภาครัฐก็ไม่เคยใช้หมด ส่วนสิงคโปร์มีประมาณ 2% ของ GDP สิงคโปร์ จีนมีประมาณ 2% ของ GDP จีน (ซึ่งเป็น GDP ที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก)

ดังนั้น ถ้าเราบอกว่าจะไปเป็นประเทศผู้สร้างนวัตกรรม แต่เราไม่มีพื้นฐาน (requirement) ของนวัตกรรมเลย คือไม่มีทุนด้านวิจัยและพัฒนา ทำให้ไม่มี R&D เพียงพอ แล้วก็ไม่มีองค์ความรู้ ก็ไม่มีทางที่เราจะไปถึงนวัตกรรมได้ หรือหากเราไม่เป็นประเทศผู้ผลิตนวัตกรรม เราจะตั้งเป้าเป็นประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology User) เหมือนสิงคโปร์ ซึ่งนำหน้าเรามากในเรื่องนี้ ก็ได้ 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเป็นผู้ใช้นวัตกรรม เราต้องเร่งผลิตวิศวกรสายอาชีพ (practical engineers) และบัณฑิตสายวิชาชีพ (practical graduates) คือ ปวช. และ ปวส. ทุกวันนี้เราเตรียมพร้อมในเรื่องนี้บ้างหรือยัง

แต่หากเราเป็นผู้สร้างนวัตกรรม (Innovator) ไม่สำเร็จ เป็นผู้ใช้นวัตกรรม (Technology user) ก็ยังไม่เดินหน้าทำให้สำเร็จ ก็มีทางเดียวคือต้องเอา ready made ต้องเดินตามพระราชวิเทโศบายของรัชกาลที่ 5 คือ นำเข้าคนเก่งจากที่อื่นเข้ามาทำ นำมหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาตั้ง ดึงผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามา แต่เวลานี้ก็ยังไม่เห็นว่าเราจะไปทางใด

ประเด็นคือ ไม่ว่าจะในทางใดเราก็ยังไม่มีการเตรียมตัว ซึ่งการเตรียมพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในจีนหรือในเยอรมนี เวลาเขาพูดถึงนโยบาย พูดถึงทิศทางที่ประเทศจะไป ไม่ว่าจะนโยบายภายในหรือระหว่างประเทศ เช่น จีนพูดว่าจะไปทางนวัตกรรม เยอรมนีพูดว่าจะไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 หมายความว่าเขาเตรียมพร้อมเรื่องเหล่านี้มา 5-10 ปี แล้ว ทิศทางที่เขาประกาศนั้นเป็นผลของการวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อน

ผมจึงขอฝากไว้ว่าอยากให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการของไทยได้ร่วมกันคิดตรงนี้ 

ผมคิดว่าการที่ประเทศไทยจะรอดหรือไม่รอด ไม่ได้ชี้ขาดที่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ได้ชี้ขาดที่การเมือง แต่ผมคิดว่าอยู่ที่เรื่องการศึกษา 

ถ้าเรายังไม่ยกเครื่องการศึกษา ซึ่งหมายความรวมถึงการศึกษาในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เฉพาะเยาวชน แต่เป็นการเรียนรู้ของคนในสังคมทั้งหมด ถ้าเราไม่ยกเครื่องระบบการเรียนรู้ของประเทศ เราก็คงจะไปไม่รอดไม่ว่าในทางใด

โดย... ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ​​​​