'มาทำลูก' ลดหย่อนภาษีกันเถอะ

'มาทำลูก' ลดหย่อนภาษีกันเถอะ

ความน่ากลัวของสังคมสูงอายุ ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นต้นแบบของสังคมสูงอายุ ก็คือ 'ญี่ปุ่น'

เห็นชื่อบทความแล้วอย่าเพิ่งเตลิ่ดเปิดเปิงกันไปไหนนะครับ เพราะที่มาของคำว่า 'มาทำลูกกันเถอะ (18+)' นั้นมาจากมาตรการของรัฐฯ ที่ต้องการจะเพิ่มอัตราการเกิดของคนไทย ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีบุตรเพิ่มขึ้นมา และมีผลกับบุตรที่เกิดตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไปครับ แต่ก่อนจะไปดูรายละเอียดของมาตรการนี้ ผมอยากจะบิ้ว ให้ทุกท่านอยากมีลูกกันก่อน ด้วย 'สาเหตุ' ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจดังนี้

ความน่ากลัวของสังคมสูงอายุ ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นต้นแบบของสังคมสูงอายุ ก็คือญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด (ปัจจุบันไทยเราอยู่ที่ 15%) ซึ่งระดับนี้ ปัญหาของสังคมสูงอายุจะไม่ใช่เรื่องของคนใดคนนึงละ แต่มันจะเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ดังที่ญี่ปุ่นกำลังเจออยู่ตอนนี้ เช่น

20% ของคนสูงอายุในญี่ปุ่น มักจะก่ออาชญากรรม เพื่อให้ตัวเองได้ไปอยู่ในคุก มีที่นอน มีข้าวกินฟรีๆ ,เกิดปัญหาการทอดทิ้งผู้สูงอายุ เนื่องจากลูกหลานไม่สามารถรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ ,เกิดภาวะเงินฝืด กระทบเศรษฐกิจทั้งประเทศ เนื่องจากจำนวนคนวัยแรงงานมีน้อย ทั้ง ๆ ที่เป็นวัยที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ,รัฐบาลญี่ปุ่นต้องอุดหนุนเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ ไม่ต่ำกว่าปีละ 260,000 ล้านเหรียญ หรือปีะละ 8 ล้านล้านบาท,สังคมสูงอายุในไทย

ปัจจุบันไทยเรามีสัดส่วนผู้สูงอายุคิดเป็น 15% ของทั้งหมด แต่จะเพิ่มเป็น 30% ในปีพ.ศ. 2578 เนื่องจากอัตราการเกิดมีน้อย หรือพูดง่ายๆ คือ คนไทยไม่ค่อยมีลูก ซึ่งจะทำให้ปีระมิดประชากรของบ้านเรากลายเป็นแบบหัวกลับ ในปี 2573 เนื่องจากสัดส่วนประชากรสูงอายุของคนไทยเริ่มสูงขึ้นครับ ซึ่งเคยมีการพยากรณ์ด้วยว่า 'หากกองทุนประกันสังคมยังลงทุนเช่นเดิมที่เคยลงทุนมา กองทุนประกันสังคมจะเจ๊ง !!! … เพราะไม่มีเงินมาจ่ายสวัสดิการได้พอ' (คนแก่ซึ่งเป็นคนรับสวัสดิการมีเยอะ แต่คนส่งเงินเข้าประกันสังคม หรือคนหนุ่ม มีน้อย)

ปัญหาที่ผมพูดมาทั้งหมด จึงไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนนึง แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ และกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบจริง ๆ ครับ
มาตรการลดหย่อนภาษีบุตร (16 ม.ค. 61) เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ครม. เพิ่งจะเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรจาก 15,000 ต่อคน สูงสุด 3 คน เป็น 30,000 ต่อคน และไม่จำกัดจำนวนคน แต่ก็มาเสริมต่อเมื่อวันอังคาร (16 ม.ค.) ที่ผ่านมา โดยบุตรคนแรกยังคงลดหย่อนได้ 30,000 บาท แต่ตั้งแต่บุตรคนที่สองขึ้นไป จะได้คนละ 60,000 บาทครับ … แต่เดี๋ยวก่อน! ใครที่มีคลอดบุตร สามารถนำค่าคลอดมาลดหย่อนได้อีกตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท/ปีภาษี ครับ (ต้องเป็นบุตรที่เกิดตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป)

พอได้ภาษีมาแล้ว ก็อย่าเพิ่งเอาไปกินเที่ยวที่ไหนนะครับ เพราะเงินน้อยๆ กับลูกน้อยๆ เนี่ย ถ้าเลี้ยงดูให้ดี โตไวไม่ใช่น้อย … ยกตัวอย่างเช่น คลอดลูก 1 คน หมดค่าคลอดไป 60,000 เอามาลดหย่อนได้ทั้งจำนวน,บวกกับค่าลดหย่อนบุตรอีก 30,000 เบ็ดเสร็จกับการมีลูกลดหย่อนได้แล้ว 90,000 บาท,สมมติเสียภาษีฐาน 15% ก็จะได้ภาษีคืนมาทั้งสิ้น 13,500 บาท,เอามาออมในหุ้น หรือกองทุนหุ้นไทย ที่ให้ผลตอบแทนปีละ 10%,ออมเดือนละ 1,000 บาท,10 ปีมีเงิน 205,000 บาท,หรือรอถึง 15 ปีมีเงิน 414,000 บาท,หรือจะรอถึง 20 ปี ลูกเรียนจบ มีเงิน 759,000 บาท,แล้วถ้า 30 ปี ลูกแต่งงาน มีเงินรับไหว้ให้ลูก 2,260,000 บาท คุณลองคิดดูว่าลูกจะรู้สึกแบบไหนในตอนนั้น?

นี่เป็นตัวอย่าง 'แผนการออมหุ้น' ง่าย ๆ ที่ผมแนะนำให้ลองเริ่มทำดูครับ เงินที่เอามาออมก็ไม่ใช่เงินเรา เป็นผลประโยชน์จากมาตรการลดภาษีของรัฐ ตัวเลขในตารางมันคำนวณต่อเงินเดือนละ 1,000 ถ้าบ้านไหนขยันออมเพิ่มเองอีกก็จับคูณตามบัญญัติไตรยางค์ได้เลย

มีลูกมาก … ไม่ยากจน (ถ้ารู้จักวางแผนออมเงิน)

จริงอยู่ว่าการมีลูก มันก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาอีกมาก จนทำให้เกิดวลีที่ว่า 'มีลูกมาก มักยากจน' แต่เชื่อผมเถอะครับ ว่าการมีลูกมาก จะไม่ทำให้ยากจนเสมอไปแล้ว หากคุณรู้จักวางแผนออมเงินอย่างเป็นระบบ มีวินัย และเริ่มทำตั้งแต่เนิ่น ๆ แถมภาครัฐยังคอยกระตุ้น ผ่านมาตรการต่าง ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะมีมาอีกเรื่อย ๆ เพราะไม่งั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ไม่อยากจะเจอ เช่นนั้นแล้ว…

'จงมีลูกกันเถอะครับ … เริ่มตั้งแต่วันนี้เลย!'