ความต่างระหว่างนิทานเด็กของจีนและสหรัฐ

ความต่างระหว่างนิทานเด็กของจีนและสหรัฐ

นิทานที่พ่อแม่อ่านให้ลูกน้อยฟังก่อนนอนแฝงข้อคิดอะไรบ้าง ข้อคิดในหนังสือนิทานจีนกับหนังสือนิทานฝรั่งแตกต่างกันตรงไหน

นี่เป็นคำถามที่ทีมนักวิจัยนำโดย Professor Cecilia Cheung จาก University of California Riverside ประเทศสหรัฐอเมริกา พยายามค้นหาคำตอบ ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบหนังสือนิทานเด็กในจีน และสหรัฐ  ผลการศึกษาเพิ่งตีพิมพ์ใน Journal of Cross Cultural Psychology รวมทั้งเป็นบทความพิเศษในเว็บไซต์ของ National Public Radio (NPR) ของสหรัฐด้วย

ผลวิจัยน่าสนใจมากครับ ทีมนักวิจัยพบว่า หนังสือนิทานเด็กในจีน มักแฝงข้อคิดเรื่องความขยัน และการต่อสู้กับอุปสรรค ส่วน หนังสือนิทานของฝรั่งมักแฝงข้อคิดเรื่องมิตรภาพ การใช้ชีวิตอย่างเบิกบาน และมีความสุข

ตัวอย่างเช่น หนังสือนิทานเด็กของจีนเรื่อง “แมวอ้วนทานตัวอักษร” เป็นเรื่องเกี่ยวกับแมวที่ชอบทานตัวอักษรจีนที่เด็กเขียนไม่สวยหรือเขียนผิด เช่น เด็กเขียนตัวเล็กไปหรือใหญ่ไป หรือลืมไปขีดสองขีด

ดังนั้น วิธีเดียวที่เด็กจะป้องกันไม่ให้ตัวอักษรถูกแมวทาน ก็คือ ต้องฝึกเขียนตัวอักษรให้สวยงามและถูกต้อง โดยตั้งใจคัดตัวอักษร และหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ

อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ หนังสือนิทานจีนชื่อ “ลุงโง่ผู้เคลื่อนย้ายภูเขา” ซึ่งเป็นนิทานที่มีที่มาจากสำนวนโบราณของจีน เป็นเรื่องราวของคุณลุงที่พยายามเคลื่อนย้ายภูเขาที่ขวางเส้นทางระหว่างเมืองกับหมู่บ้าน โดยการตักดินออกจากภูเขาวันละนิด

ใครๆ ก็เห็นว่าคุณลุงช่างโง่เหลือเกิน แต่คุณลุงก็ไม่สนใจคำดูถูกดูแคลนจากชาวบ้าน ยังตื่นเช้าไปตักดินออกจากภูเขาทุกวัน จนเมื่อวันเวลาผ่านไป ในที่สุดภูเขาก็หายไปจนได้ คุณลุงสามารถเคลื่อนย้ายภูเขาได้สำเร็จจริงๆ จนผู้คนสามารถไปมาระหว่างเมืองกับหมู่บ้านได้อย่างสะดวกสบาย

นอกจากนิทานเรื่องนี้จะสอนเรื่องความขยันแล้ว ยังสอนเรื่องความแน่วแน่มั่นคงในเป้าหมาย โดยไม่สนใจแม้จะมีคนคอยดูถูกดูแคลนหรือเย้ยหยัน

เช่นเดียวกับหนังสือนิทานเด็กเรื่องอื่นๆ ในจีน ข้อคิดที่พบมากเป็นเรื่องของความขยัน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นหัวใจของวัฒนธรรมจีน

ความต่างระหว่างนิทานเด็กของจีนและสหรัฐ

นิทานจีนมักแฝงข้อคิดว่า ความสำเร็จ หรือความเก่ง เกิดจากความขยันและอดทน คนเราไม่มีใครเกิดมาเก่ง แต่ที่เก่งได้เพราะทำงานหนักต่างหาก เช่นเดียวกัน คนเราไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะมีพรสวรรค์มาตั้งแต่เกิด แต่ที่ประสบความสำเร็จได้เพราะความตั้งใจจริงมากกว่า

ส่วนนิทานเด็กในสหรัฐ กลับไม่ค่อยมีเรื่องเกี่ยวกับความขยันเช่นเดียวกับนิทานเด็กในจีน นิทานเด็กของสหรัฐ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมิตรภาพ และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ตัวอย่างเช่น หนังสือนิทานของสหรัฐ เรื่อง “ถ้วยใส่ความสุข” เป็นเรื่องของเด็กสาวที่ปรุงยาความสุขใส่ไว้ในถ้วย แต่เธอทำถ้วยหาย ทำให้เธอเศร้ามาก ปรากฏว่า เพื่อนๆ ของเธอต่างมาช่วยให้กำลังใจ และเล่นกับเธอจนเธอสดชื่นขึ้นมา สุดท้ายเธอจึงเข้าใจว่า ความสุขไม่ได้มาจากยาความสุขที่อยู่ในถ้วย แต่มาจากมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง

หนังสือนิทานเด็กในสหรัฐ มักจะวาดรูปตัวละครยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริง เบิกบาน มักเป็นเรื่องราวของเด็กๆ วิ่งเล่นกันอย่างมีความสุข แฝงความคิดว่า รอยยิ้มเป็นสิ่งสำคัญและ ควรอยู่รอบข้างคนที่มีความสุข และมีทัศนคติเชิงบวก 

หนังสือนิทานเด็กอาจเป็นตัวสะท้อนวัฒนธรรมได้ดีทีเดียวนะครับ 

หนังสือนิทานเด็กของจีนสะท้อนค่านิยมสำคัญในวัฒนธรรมจีน คือ ความขยันหมั่นเพียร พร้อมฝ่าฟันอุปสรรคโดยไม่สนใจเสียงเย้ยหยันรอบตัว ส่วนหนังสือนิทานของสหรัฐ ก็สะท้อนค่านิยมสำคัญในวัฒนธรรมอเมริกัน ได้แก่ ความสุข ทัศนคติเชิงบวก และมิตรภาพระหว่างกัน

หนังสือนิทานเองยังช่วยปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้ให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าอะไรเป็นคุณลักษณะที่ดี เป็นสิ่งที่สังคมชื่นชอบ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในชีวิต

ทีมนักวิจัยบอกว่า เป้าหมายของการศึกษาเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการชี้ว่า ค่านิยมไหนดีกว่ากัน แต่ต้องการสะท้อนว่า เราอาจเรียนรู้ค่านิยมที่ดีของแต่ละวัฒนธรรมได้ และนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสอนเด็ก

พ่อแม่ชาวอเมริกัน อาจเล่านิทานที่มีข้อคิดเรื่องความขยัน อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เสริมให้กับลูกด้วย เพื่อให้ลูกเข้าใจตั้งแต่ยังเล็กว่า ความสำเร็จไม่ได้มาจากพรสวรรค์ แต่ส่วนสำคัญคือพรแสวง

เช่นเดียวกัน พ่อแม่ชาวจีนก็อาจหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับการส่งเสริมให้ลูกมีทัศนคติเชิงบวก รักเพื่อนพ้อง รู้จักเข้าสังคม รู้จักแบ่งเวลาสำหรับการเล่นและการพักผ่อน เพื่อจะได้เติบโตเป็นคนที่มีความสุข เบิกบาน มีสุขภาพจิตที่ดี มีเด็กไม่น้อยที่ขี้เกียจจนเคยตัว เล่นจนลืมเรียน และก็มีเด็กไม่น้อยที่เครียดสะสมจนสุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปลูกฝังค่านิยมทั้งสองด้านให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก

น่าลองสำรวจดูบ้างนะครับว่า หนังสือนิทานเด็กในไทย ส่วนใหญ่ปลูกฝังค่านิยมอะไร คล้ายกับจีนหรือคล้ายกับสหรัฐ หรือเป็นค่านิยมไทยของแท้ที่ไม่เหมือนใคร