อีอีซี... ส่งผลเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรม

อีอีซี... ส่งผลเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรม

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ... ส่งผลเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรม

ประธาน จิวจินดา

หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก  (Eastern Economic Corridor Development  หรือ อีอีซี) มุ่งหวังให้พื้นที่ใน  3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราเป็นแหล่งลงทุนหลักของประเทศ ซึ่งจะแบ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง จากการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

โครงการอีอีซีจะเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่จะเป็นสปริงบอร์ดนำไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ และสามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ เนื่องจากความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางถนน รถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน ส่วนนิคมอุตสาหกรรมก็ช่วยแก้ข้อจำกัดที่ไทยขาดแคลนพื้นที่ที่จะสามารถรองรับการขยายฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  ขณะที่คาดว่าจะมีโอกาสทางธุรกิจจากการเกิดเมืองใหม่ขึ้นอย่างน้อย 4 พื้นที่ ได้แก่ เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา เมืองใหม่ระยอง เมืองใหม่พัทยา และเมืองใหม่อู่ตะเภา เมื่อโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐพร้อม

ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน จุดเด่นหรือไฮไลท์สำคัญ จะมีการประกาศร่างขอบเขตเงื่อนไขการลงทุนหรือทีโออาร์ 5 โครงการหลักภายในปีนี้ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าลงทุน 2.36 แสนล้านบาท ประกาศทีโออาร์ในเดือนก.พ.61 ประกาศผลคัดเลือกเอกชน ก.ค. และเซ็นสัญญา ก.ย. ตามด้วยศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่าลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ทีโออาร์ มี.ค.61 ประกาศผลคัดเลือก พ.ค.และเซ็นสัญญาก.ค., ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 มูลค่าลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท ทีโออาร์มิ.ย.61, พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 2 แสนล้านบาท ทีโออาร์ ก.ค.61 และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะ 3 มูลค่าลงทุน 1.5 แสนล้านบาท ทีโออาร์ ส.ค.61 ซึ่งขณะนี้ภาครัฐมีความพร้อมให้นักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุน (พีพีพี) แล้ว (ดูตารางประกอบ)

อีอีซี... ส่งผลเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรม

มองว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลดีต่อผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่มีพื้นที่นิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษมาก รวมทั้งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าและโรงงานให้เช่าสำเร็จรูป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมใน 3 จังหวัดเป้าหมาย : ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ตามการเพิ่มขึ้นของนักลงทุน ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทและกำลังซื้อของประชากร ขณะที่การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา นอกจากจะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่แล้ว คาดว่าจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดดังกล่าวได้รับความสนใจมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน ในปี 2561 มีแนวโน้มนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนและการขยายธุรกิจในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ การนิคมอุตสาหกรรม ดังเห็นได้จากขณะนี้มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว 2.5 แสนล้านบาทในปี 2560 (ข้อมูลบีโอไอ) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเฉลี่ย 5 ปีที่คาดว่าจะมีการลงทุนปีละ 1 แสนล้านบาท ภาครัฐจึงพร้อมปรับเป้าหมายการลงทุนภาคเอกชนเพิ่ม 1 แสนล้านบาท เป็น 6 แสนบาท พร้อมทั้งจะมีการประกาศพื้นที่รองรับการลงทุนเพิ่มเป็น 50,000 ไร่ และเพื่อลดกระแสไม่มีพื้นที่ลงทุนด้วย ซึ่งเดิมนั้น พื้นที่รองรับการลงทุนอีอีซี ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรม 18 แห่ง รวมพื้นที่ 26,461 ไร่ ซึ่งมีการประกาศไปแล้ว 2 พื้นที่ คือ สมาร์ทพาร์ค ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง บนพื้นที่ 1,500.97 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลและหุ่นยนต์ และเหมราช 4 บนพื้นที่ 1,860 ไร่ เพื่อสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์นั่ง Greenfield หรืออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

คาดว่าภาคเอกชนรอความชัดเจนร่างพ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากมีความชัดเจนมาถึงขั้นตอนนี้ได้ ก็เชื่อมั่นว่าจะมีภาคเอกชนจำนวนมากเข้าร่วมประมูลและเซ็นสัญญาโครงการต่างๆภายในปีนี้ภายใต้ครม.ชุดปัจจุบัน และการลงทุนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน