ผู้บริโภคในปี 2018

ผู้บริโภคในปี 2018

ขึ้นปีใหม่มา คำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาคือผู้บริโภคในปีนี้จะมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาหรือไม่ ก็เลยลองสำรวจพฤติกรรมตนเอง และบุคคลรอบข้าง

ผนวกกับข้อมูลการวิจัยตลาดจาก Euromonitor ก็สรุปได้ว่าในแต่ละปี พฤติกรรมของผู้บริโภคย่อมจะมีความแตกต่างจากในอดีต เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปอย่างกระทันหัน แต่เป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปแบบที่เราไม่รู้ตัว ลองมาดูกันว่าผู้บริโภคในปี 2018 จะมีลักษณะอย่างไรบ้าง

ประการแรก คือ ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะจากการเข้าถึงเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคไม่ชอบที่จะรออีกต่อไป

ผู้บริโภคต้องการสินค้าและบริการที่รวดเร็วและสะดวกขึ้น ในลักษณะของ IWWIWWIWI (I want what I want when I want it) ดังนั้นถ้าสินค้าขาดสต็อกหรือไม่มีสินค้าในร้าน ผู้บริโภคก็เพียงเดินออกจากร้านแล้วสั่งสินค้าดังกล่าวผ่านทางร้านค้าออนไลน์แทนเท่านั้นเอง หรือ ถ้าต้องการโอนเงิน ก็ไม่ต้องเดินทางไปธนาคารอีกต่อไป เพียงแค่หยิบมือถือขึ้นมาก็สำเร็จ

ประการที่สอง คือ ผู้บริโภคแสวงหาประสบการณ์มากกว่าการเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ที่สามารถแชร์ให้เพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ได้ 

การซื้อสินค้าที่เป็นชิ้นๆ จะยังคงมีอยู่ แต่เราจะเห็นพฤติกรรมในการใช้เงินของผู้บริโภคไปกับการซื้อประสบการณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ท่องเที่ยว งานเลี้ยง หรือ การออกกำลังกาย

พฤติกรรมในลักษณะนี้ทำให้ร้านอาหารจำนวนมากหันมาให้ความสนใจ และความสำคัญกับรูปร่าง หน้าตา และสีสันของอาหารมากขึ้น ในต่างประเทศถึงขั้นระบุว่าอาหารที่ดีนั้นจะต้องเป็นอาหารที่ Instagrammable ได้ เพียงแต่ต้องอย่าลืมว่าอาหารที่ Instagrammable นั้นถ้ารสชาติไม่ดี ก็จะไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคกลับเข้าร้านอีกครั้งได้

ประการที่สาม คือ การเติบโตของผู้บริโภคกลุ่มที่ใช้ชีวิตอย่างสะอาด (ทาง Euromonitor เรียกว่า Clean Lifers) 

คนเหล่านี้จะมีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตที่ดูแลตัวเองแบบสุดๆ ทั้งการไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การไม่รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นเข้ายิม เล่นโยคะ วิ่ง หรือ ขี่จักรยาน รวมถึงเป็นผู้ที่หมั่นดูแลจิตใจของตนเองด้วยการนั่งสมาธิ และปฏิบัติธรรมเป็นระยะๆ

ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะละกิเลส ไม่ซื้อสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ธุรกิจควรจะมองอีกมุมว่า ถ้าในปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่มนี้เติบโตมากขึ้น (โดยเฉพาะในกลุ่มคนในเมือง) ธุรกิจควรจะมีผลิตภัณฑ์และบริการอะไรออกมาเพื่อรองรับต่อผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอย่างสะอาดมากขึ้น (แนะนำให้ลองเข้าไปดู daybreaker.com)

ประการที่สี่ คือ ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีพฤติกรรมในการทำงานที่เปลี่ยนไป 

แทนที่จะจบการศึกษาและทำงานตามองค์กรใหญ่ๆ เหมือนในอดีต ก็จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความอิสระและพยายามเดินตามความฝันโดยประกอบอาชีพอิสระต่างๆ ในรูปของ Freelance มากขึ้น รวมทั้งผู้ที่พยายามเริ่มธุรกิจใหม่ในรูปแบบของ Startups มากขึ้น 

แทนที่จะมองว่าคนเหล่านี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมที่แปลกไป แต่มองว่านี้คือผู้บริโภคอีกกลุ่มที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ (คล้ายๆ กลุ่ม Clean Lifers) และองค์กรธุรกิจควรจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่เหมาะสม ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น

ตัวอย่างทั้งสี่ประการข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้นในปี 2018 นี้ 

ประเด็นคือ องค์กรธุรกิจจะปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและทันใจ หรือ การไม่เน้นแค่ที่ตัวผลิตภัณฑ์แต่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ หรือ การมีสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองต่อกลุ่ม Clean Lifers และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทำงานประจำในองค์กร