“หั่งเช้ง”ราคาข้าว:ใครเป็นผู้กำหนด

“หั่งเช้ง”ราคาข้าว:ใครเป็นผู้กำหนด

โลกนี้มีประชากรที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ประมาณค่อนโลก มีประเทศที่ปลูกข้าวร้อยกว่าประเทศ ผลผลิตข้าวทั้งโลก มีประมาณ 470-490 ล้านตัน

ข้าวสาร ข้าวที่เหลือจากการบริโภคภายใน ก็จะนำไปส่งออกมีปริมาณรวมกันทั้งโลกประมาณปีละ 40-44 ล้านตันข้าวสาร ข้าวจำนวนนี้คือข้าวที่มีการค้าขายกันในโลกในแต่ละปี

ประเทศไทยปลูกข้าว มีผลผลิตข้าวสารประมาณปีละ 21-23 ล้านตัน บริโภคภายในปีละประมาณ 10-11ล้านตัน ที่เหลือส่งออกประมาณปีละ 9-10 ล้านตัน 

ประชากรไทยส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำนา ราคาข้าวจึงมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนามาก 

ถ้าปีใดข้าวมีราคาตกต่ำ รัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็จะมีมาตรการต่างฯออกมาเพื่อยกระดับราคาข้าวเพื่อ เพิ่มรายได้ให้ชาวนา แต่ก็ไม่มีการใช้มาตรการทางกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานของรัฐกำหนดราคาซื้อขายข้าวเปลือกข้าวสารแต่อย่างใด 

แม้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะมีรายงานราคาข้าวเปลือกและข้าวสาร รายงานราคาดังกล่าวก็มิใช่ราคาที่ทางราชการกำหนดให้มีการซื้อขายกัน แต่เป็นราคาข้าวเปลือกที่มีการซื้อขายกันในแต่ละวัน แต่ละท้องที่ ส่วนรายงานราคาขายส่งข้าวสารในตลาดกรุงเทพมหานคร ก็เป็นราคาที่ผู้ส่งออกหรือผู้ค้าส่งรับซื้อจากโรงสีผ่านหยง

สมาคมโรงสีไทยก็มีการรายงานราคาข้าวเปลือกและข้าวสารที่ซื้อขายกันในแต่ละวันแต่ละท้องที่ รายงานดังกล่าว มิใช่ราคาที่กำหนดให้สมาชิกของสมาคมต้องซื้อหรือขายกัน

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แต่งตั้งให้คณะกรรมการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเป็นอนุกรรมการรายงานราคาข้าวในนามสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 

รายงานดังกล่าวเป็นราคาส่งออกเทอม FOB เพื่อเป็นราคาอ้างอิง เพื่อประโยชน์ในการเสนอขายให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ มิได้บังคับให้ผู้ส่งออกต้องเสนอขายในราคาดังกล่าวแต่อย่างใด

ราคาข้าวเปลือก ในแต่ละจังหวัด และราคาข้าวสารขายส่งในตลาดกรุงเทพมหานครมีขึ้นมีลง บางช่วงบางวันลงไปต่ำมาก บางช่วงบางวันขึ้นไปสูง  ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารที่มีขึ้นมีลง มีผู้สงสัยว่ามีผู้ใดหรือหน่วยงานใดเป็นผู้กำหนดหรือไม่อย่างไร 

แต่ตามข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติในวงการค้าข้าวของไทย ราคาข้าวเปลือกข้าวสารจะมีความเคลื่อนไหวขึ้นหรือลง มากน้อยเพียงใด มีปัจจัยที่เป็นวงจรสำคัญ ประกอบด้วย ผู้ซื้อในต่างประเทศ ผู้ส่งออก หยง โรงสี และชาวนา 

วงจรโดยสรุปคือ  เมื่อต่างประเทศมีความต้องการนำเข้าข้าว ผู้นำเข้าก็จะติดต่อสั่งซื้อจากผู้ส่งออก ผู้ส่งออกข้าวที่ได้รับคำสั่งซื้อ หรือคาดว่าจะได้รับคำสั่ง(ซื้อ ก็ต้องเตรียมการจัดหาข้าวประเภท ชนิดที่ผู้ซื้อต่างประเทศต้องการ ในปริมาณที่พอเพียงต่อการส่งมอบ ส่่วนมากจะเสนอซื้อผ่านหยงว่าต้องการข้าวชนิดใดชั้นใด ปริมาณที่ต้องการ วันที่ส่งมอบ และเสนอราคาที่จะซื้อด้วย

สำหรับราคาที่จะตกลงขายให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ ก็จะพิจารณาจากหั่งเช้งในช่วงปัจจุบัน ช่วงที่ผ่านมา และหั่งเช้งช่วงที่ต้องส่งมอบข้าว หั่งเช้งเป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าราคา ในวงการข้าว ถ้าพูดถึงหั่งเช้งจะหมายถึงราคาข้าวโดยระบุแยกตามประเภทและชนิดข้าว ส่วนผู้ซื้อในต่างประเทศก็จะเทียบราคากับประเทศคู่แข่งของไทย ถ้ารับได้ก็ทำความตกลงซื้อขายกัน

ในการเสนอซื้อข้าวจากโรงสีผ่านหยง ผู้ส่งออกก็จะเสนอราคาไปด้วย เช่นขอซื้อข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ กระสอบละ 1,200บาท แต่ถ้าปรากฏว่ามีผู้ส่งออกรายอื่นเสนอซื้อในราคากระสอบละ 1,250 บาท ปริมาณ 20,000 กระสอบ และโรงสีตกลงขายในราคากระสอบละ1,250 บาท เช่นนี้ ณ วันนั้น ช่วงนั้นหั่งเช้งของข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นกระสอบละ 1,250 บาท 

 ผู้ส่งออกรายแรกหากต้องการได้ข้าวก็ต้องเสนอราคารับซื้อใหม่ ตามหั่งเช้ง และถ้าผู้ส่งออกรายแรกกลัวว่าจะไม่มีข้าวส่งมอบให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ เลยตัดสินใจเสนอซื้อสูงกว่าหั่งเช้ง เช่นเสนอซื้อในราคากระสอบละ 1,275 บาท 25,000 กระสอบ และมีโรงสีตกลงขาย ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ กระสอบละ 1,275บาท ก็จะเป็นหั่งเช้งใหม่

ในช่วงที่มีผลผลิตล้นตลาด และหากไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ก็จะไม่มีคำสั่งซื้อจากผู้ส่งออก แต่โรงสีก็ต้องซื้อข้าวจากชาวนา เพื่อเดินเครื่องสีข้าว ไม่ให้ขาดตอน เพื่อเลี้ยงให้คนงานมีงานทำอย่างต่อเนื่อง 

ถ้าโรงสีมีปัญหาโกดังเก็บข้าวสารเต็ม หรือร้อนเงิน จำเป็นต้องเสนอขายข้าวสาร ในราคาที่ไม่สูงนัก เช่นข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ราคากระสอบละ1,050 บาท ผู้ส่งออกรายใหญ่ ที่มีโกดังว่าง มีเงินทุนมาก ก็อาจช้อนซื้อเก็บไว้ โดยอาจต่อรองราคาลงไปอีก เช่นกระสอบละ 1,025 บาท ถ้าโรงสีตกลงขาย ราคาดังกล่าวก็จะเป็นหั่งเช้งของข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ของช่วงเวลานั้น

ช่วงที่ผลผลิตข้าวมีไม่มาก หรือมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมาก ความต้องการข้าวมีสูง ตลาดเป็นของโรงสี เช่นผู้ส่งออกรายหนึ่งต้องการข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์เพื่อส่งมอบให้ผู้ซื้อในปริมาณมากให้ทันกำหนดการส่งมอบ เสนอขอซื้อ ในราคากระสอบละ 1,325 บาท แต่โรงสีเสนอขายกระสอบละ1.350 บาท ผู้ส่งออกตกลง ราคาดังกล่าวก็จะเป็นหั่งเช้งข้าว ขาว5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงนั้น

หั่งเช้งมีผลต่อราคาข้าวเปลือกที่โรงสีรับซื้อจากชาวนาด้วย ถ้าโรงสีได้รับคำสั่งซื้อมาก ก็ต้องแข่งขันกันซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพื่อสีข้าวป้อนผู้ส่งออก เมื่อแข่งขันกันซื้อข้าวก็ต้องตั้งราคาให้สูงไม่น้อยกว่าหรือสูงกว่าโรงสีรายอื่น

ที่กล่าวมาโดยสรุปคือวงจรของหั่งเช้งราคาข้าว ที่ไม่มีผู้ใดหรือหน่วยงานใดเป็นผู้กำหนด แต่เป็นไปตามกลไกตลาด ตามความต้องการของผู้ซื้อในต่างประเทศ ตามปริมาณผลผลิตมีมากล้นความต้องการหรือไม่พอเพียงต้องแข่งต้องแย่งกันซื้อ

มีคำถามอยู่เสมอว่าผู้ส่งออกและโรงสีร่วมมือกันกดราคาข้าวได้หรือไม่ 

 ในมุมมองของคนนอกที่มองไปยังวงการค้าข้าวในมุมกว้าง โดยธรรมชาติของวงการค้าข้าวที่มีการแข่งขันกันตลอด กล่าวได้ว่าเป็นการยากที่โรงสี หรือผู้ส่งออก แม้ผู้ส่งออกด้วยกันเองจะร่วมมือกันกดราคาข้าว 

 แต่ในส่วนของโรงสี อาจมีโรงสีบางโรงที่ไม่สุจริต เอาเปรียบชาวนาโดยโกงความชื้นและสิ่งเจือปน ในส่วนของผู้ส่งออก เมื่อยังไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ก็ทำเพียงชะลอการซื้อหรือซื้อเพียงเท่าที่จำเป็นหรือช้อนซื้อข้าวที่ราคาถูกเก็บไว้เท่านั้น