ผู้นำจีนคณะใหม่ กับทิศทางโลกและไทย (ตอนที่ 1)

ผู้นำจีนคณะใหม่ กับทิศทางโลกและไทย (ตอนที่ 1)

จีนกำลังเน้นเดินหน้าเปิดเสรี (Open Economy) ทั้งด้านการค้า การเงิน และการลงทุน

เห็นได้ชัดผ่านการเดินหน้านโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ที่ประกาศโดยสี จิ้นผิงในปี 2013 และเพิ่งจัดประชุมประกาศความก้าวหน้าและความสำเร็จไปเมื่อเดือน พ.ค. 2017

 BRI เป็นทางหนึ่งที่จะดันส่วนเกิน (surplus) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านก่อสร้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินของจีน ออกสู่ภายนอกประเทศ และเป็นการเชื่อมจีนกับโลกภายนอก

จีนยังเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในโลก ผ่านการตั้งสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันในระบบ Bretton Woods เช่น ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่จีนมองว่าถูกครอบงำโดยตะวันตก รวมทั้งธนาคาร ADB ที่จีนมองว่าถูกครอบงำโดยญี่ปุ่น และไม่ตอบสนองความต้องการของจีน

ที่สำคัญคือ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) ซึ่งเวลานี้มีประเทศต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกถึง 58 ประเทศแล้ว มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการระดมการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการการพัฒนาในประเทศต่างๆ ที่ BRI ผ่านไป

การพยายามทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลมากขึ้น เป็นอีกหนทางสำคัญรองรับยุทธศาสตร์เพิ่มบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลก ซึ่งถึงปัจจุบัน จีนก็ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้พอสมควร ทั้งในการเพิ่มสัดส่วนเงินหยวนในอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Payment/Trading Currency) จากแทบจะไม่มีเลย มาอยู่ที่ 2.8% ของสกุลเงินระหว่างประเทศ (ขณะที่ดอลลาร์อยู่ที่ 44% ยูโร 27% และเยน 2.76%)  

สองคือสามารถทำให้เงินหยวนเข้าไปเป็นสกุลเงินหนึ่งของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Global Reserve Currency) ที่ได้รับการยอมรับโดย IMF ปัจจุบัน ในกองทุน Special Drawing Rights ของ IMF ที่มีขึ้นให้ประเทศต่างๆ กู้ยืมในยามที่สกุลเงินของตนมีปัญหานั้น มีสัดส่วนของเงินหยวนอยู่ที่ 10.9% ขณะที่ของดอลลาร์อยู่ที่ 41% ยูโร 30.9% เยน 8% และปอนด์ 8%

ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ไม่ถึงสิบปี แม้เพียงแนวคิดที่จะเสนอให้มีสถาบันการเงินระหว่างประเทศทางเลือก หรือสกุลเงินทางเลือกอื่นนอกจากของตะวันตก และญี่ปุ่นในระบบเศรษฐกิจโลกนั้น แน่ใจได้ว่าจะต้องโดนโจมตีอย่างรุนแรง 

แต่การที่ตะวันตกมีท่าทียอมรับการตั้งธนาคาร AIIB ของจีน ธนาคาร New Development Bank ของประเทศกลุ่ม BRICS รวมทั้งการที่เงินหยวนสามารถเพิ่มบทบาทของตนโดยได้รับการยอมรับจากสถาบันของตะวันตกได้ จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตายิ่ง

ผู้นำจีนคณะใหม่ กับทิศทางโลกและไทย (ตอนที่ 1)

จีนยังเดินหน้าขยายบทบาททางเศรษฐกิจในเวทีโลก ผ่านการขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ การรวมกลุ่มที่สำคัญในระดับโลก และมีพลังอยู่ในปัจจุบัน คือ ความร่วมมือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเคยแข่งคู่มากับ TPP (Trans-Pacific Partnership) ที่นำโดยสหรัฐ 

แต่บัดนี้ TPP นั้นคิดว่าไปไม่รอด เพราะพี่ใหญ่คือสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เอาด้วย เพราะถือหลัก America First ซึ่งในเมื่อ TPP พับไป สีจิ้นผิงจึงประกาศในการประชุม APEC 2015 ที่จีนว่าให้เอา TPP กับ RCEP มารวมกันให้เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเสียเลยจะดีกว่า เรียกว่า FTAAP (Free Trade Area of Asia-Pacific) ที่จะมีทั้งสมาชิกของ RCEP คืออาเซียน 10 ประเทศ และอินเดีย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นเปรู เม็กซิโก ชิลี อเมริกา แคนาดา ฯลฯ รวมเข้ามาหมด ซึ่งสี จิ้นผิงได้ผลักดันเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งในการประชุม APEC ครั้งถัดมาที่เปรู ถือว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วนในภูมิภาคอาเซียน จีนก็ตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นมาหลายประการ ที่สำคัญคือ ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงคือ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กับจีน โดยไม่มีมหาอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง  

เช่นเดียวกับที่สหรัฐและญี่ปุ่นต่างก็มีความร่วมมือส่วนตัวของตนกับทุกประเทศลุ่มน้ำโขงยกเว้นจีนเช่นกัน คือ ความริเริ่มสหรัฐ-ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (US-Lower Mekong Initiative) สำหรับสหรัฐ และโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS : Greater Mekong Subregion) 

แม้จะมีจีนเป็นสมาชิกด้วยแต่ GMS มี ADB ที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลักเป็นเจ้าภาพ กับความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Japan-Mekong Cooperation) สำหรับญี่ปุ่น) และความร่วมมือเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (Pan - Beibu Gulf Economic Cooperation) ซึ่งเป็นความร่วมมือที่จะเชื่อมโยงจีนเข้ากับอาเซียนตามหลัก 1 แกน 2 ปีก เชื่อมโยงจากเมืองหนานหนิง เมืองหลวงมณฑลกวางสีของจีน ไปจบที่สิงคโปร์เป็นแกนตั้ง 

ส่วนปีกซ้าย ปีกขวาเชื่อมกับอาเซียน ซึ่งก็ยังคงอยู่และคงจะดำเนินต่อไป ในการนี้ มณฑลกวางสี กวางตุ้ง และไหหลำ เป็น 3 มณฑลของจีนที่ได้รับมอบหมายให้เชื่อมโยงกับประเทศไทย

โดยสรุป ยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่กล่าวมาของจีน ไม่ว่าจะเป็น BRI, AIIB, การส่งเสริมบทบาทเงินหยวนในสากล และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่จีนทำ และจะทำกับภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าแม่โขง-ล้านช้าง RCEP และ FTAAP เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าจีนจะยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดต่อไป 

ในขณะที่สหรัฐค่อนข้างจะเน้นทิศทางต่อต้านโลกาภิวัตน์ ส่วนในยุโรป ฝ่ายขวาจัดก็มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในอังกฤษ (Brexit) และแม้จะไม่ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลเองทั้งหมด แต่ก็เข้าไปอยู่ในสภา มีอิทธิพลต่อรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในฝรั่งเศส หรือเยอรมนี

แม้จีนจะเดินหน้าเรื่องเปิดเศรษฐกิจของตนสู่โลก (open economy) แต่ขณะเดียวกันจีนก็เน้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย ไม่ว่าการมุ่งขจัดความยากจน ส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สี จิ้นผิงประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้เรื่องนโยบาย Made in China 2025 คิดว่ายังคงอยู่

ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ที่เราพึ่งตลาดจีนกันอยู่ในอาเซียนนั้นมาจากการผลิตแบบ Supply Chain กล่าวคือไทยผลิตของอย่างหนึ่งส่งไปฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ส่งไปจีน ฟิลิปปินส์ผลิตของอย่างหนึ่งส่งมาไทย แต่เมื่อเกิดนโยบาย Made in China ขึ้นมา จีนจะกลายเป็นผู้ผลิตของ Intermediate Goods ไม่ได้เป็นผู้บริโภคอย่างเดียวอีกต่อไป 

ดังนั้น Supply Chain ในอาเซียนอาจจะหายไป การค้าระหว่างประเทศในหมู่อาเซียนจะกลายเป็นการค้าภายในของจีน ซึ่งผมคิดว่าอาเซียนน่าจะคิดถึงประเด็นนี้

ความท้าทายสำคัญของจีนจากการเพิ่มบทบาทของตนในโลกมากมายจากเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ทำให้เกิดความสั่นไหว ความหวั่นเกรง หวาดระแวง ต่อท่าทีหรือจุดประสงค์ของจีน เช่นที่เกิดขึ้นต่อนโยบาย Belt and Road ของจีน จากประเทศตะวันตก แม้กระทั่งประเทศเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียใต้ แม้ว่าจีนจะพยายามตลอดที่จะทำให้ประเทศอื่นวางใจว่าจีนไม่ได้คิดรุกรานหรือครอบครองใคร 

นี่จะเป็นความลำบากของจีนต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี