จากวันครู... บางมุมมองนักเรียน คุณครู

จากวันครู... บางมุมมองนักเรียน คุณครู

16 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครู นอกจากภาครัฐ องค์กร หน่วยงานการศึกษา จัดให้มีกิจกรรมต่างๆแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ทุกๆคนจะได้ระลึกถึงพระคุณครู

ครู คือ ผู้ให้ความคิดความอ่าน ความรู้ ฯลฯ นักเรียน คือ ผู้รับความรู้ ความคิดความอ่าน ฯลฯ ครู นักเรียน คู่กัน

การให้ของครู อยู่ที่การสอน การพูด อธิบายถ่ายทอด ชี้แนะ ชี้นำ บอกกล่าว กระตุ้น จุดประกาย ฯลฯ มิเพียงนั้น ยังรับฟังปัญหา ข้อสงสัย คำถาม ดู feedback อีกด้วย

การรับของนักเรียน อยู่ที่การฟังคำสอน ฟังครูพูด อธิบายถ่ายทอด เวลามีข้อสงสัย สามารถยกมือ เพื่อถามคุณครูได้ โดยคุณครูก็จะอธิบายซ้ำ ขยายแง่มุมความคิดเพิ่มเติมให้ จากที่สงสัย กลายเป็นเข้าใจ ครู นักเรียน ไปด้วยกัน

ทั้งพูด ทั้งฟัง การเรียนการสอนดุจดั่งการสื่อสารอย่างหนึ่ง

ขึ้นชื่อว่าการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารนโยบาย, การสื่อสารการตลาด, การประชาสัมพันธ์(PR) หรือการสื่อสารการเรียนการสอน ผู้เขียนมักจะมอง หรือโฟกัสที่ปลายทาง เพราะ

1) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ณ ปลายทาง (ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย) ทำให้เห็นผลสำเร็จที่แท้จริงของการสื่อสาร มาก น้อย ปานกลางอย่างไร

(ผู้สนใจ อ่าน “ต้นทาง PR ว่าสำคัญ ปลายทาง PR สำคัญกว่า” โดยพิมพ์ชื่อเรื่องบทความลงในกูเกิล)

2) เห็นผลนั้นแล้วรู้สึกอย่างไร พึงพอใจหรือไม่ มีอะไรที่ควรต้องปรับแก้หรือไม่ อย่างไร เพื่อส่งเสริม พัฒนาให้ดีขึ้น

อยู่ที่ผู้เกี่ยวข้อง เจ้าของนโยบาย, บริษัทธุรกิจ, หน่วยงานประชาสัมพันธ์, หน่วยงานการศึกษา จะพิจารณา

A, B, C, D, F คือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ณ ปลายทาง (ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย) เป็นผลสำเร็จที่แท้จริงของการสื่อสารการเรียนการสอนแต่ละวิชา ของนักเรียนแต่ละคน มาก ปานกลาง น้อย ลดหลั่นไป

ในแต่ละภาคการศึกษา ในแต่ละปีเป็นเช่นนี้ นอกจากทำให้เห็นว่า มีอำนาจจำแนกเด็กเรียนดี ไม่ดี เก่ง ไม่เก่ง เห็นผลเช่นนั้นแล้วเอาไงต่อ หรือพอแค่นั้น อยู่ที่หน่วยงานการศึกษา จะพิจารณา (อาจทำอยู่แล้ว)

มีบางคำถามชวนคิด บางมุมชวนมอง : A, B เราไม่เป็นห่วง เป็นผลของการสื่อสารการเรียนการสอนที่น่าพอใจ เป็นห่วง C, D หรือ F เป็นผลของการสื่อสารการเรียนการสอนที่ (ยัง) ไม่น่าพอใจ จะทำอย่างไร

อาจเกิดจากหลากหลายสาเหตุปัจจัย หนึ่งในนั้น เกิดจาก“ความไม่เข้าใจเนื้อหาบทเรียนของนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย” ยังผลให้ทำข้อสอบไม่(ค่อย)ได้ ส่งผลให้เด็กเกิดความทุกข์อีกด้วย

และคนที่ทุกข์ยิ่งกว่า ก็คือ ผู้ปกครอง ไม่มีอะไรเป็นทุกข์ผู้ปกครองมากกว่าลูกเรียนหนังสือไม่เข้าใจ ทำการบ้านไม่ได้ หรือผลคะแนนไม่ดีอีกแล้ว ด้วยความรักเป็นห่วงลูก หาที่ให้ลูกไปเรียนพิเศษตอนเย็น กว่าจะกลับถึงบ้านมืดค่ำ เหนื่อยล้า อ่อนแรง หิวข้าว ไหนจะต้องทำการบ้าน ไหนจะต้องรีบเข้านอน เพื่อตื่นเช้ารีบไปโรงเรียน เดี๋ยวสาย มัธยมพอได้ สงสารระดับประถม ยังเล็กอยู่ ไหนจะต้องนั่งเรียนในชั้นเรียนอีกทั้งวัน สมองอ่อนล้า รับความรู้อย่างไร

จากสาเหตุปัจจัยดังกล่าว ถ้าสามารถสื่อสารเพิ่ม สร้างเสริมเติมเต็มความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนในชั้นเรียนได้ คงจะช่วยให้เด็กๆนักเรียน(รวมทั้งผู้ปกครอง)พ้นทุกข์คะแนนไม่ดี เรียนไม่เข้าใจ ไม่มีใครนอกจากคุณครูช่วยได้ อยู่ที่นักเรียนด้วย ต้องช่วยคุณครู อยู่ที่คู่สื่อสารนั้นเอง

มีบางมุมมองในมิติการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ ที่อยากนำมาแชร์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์กับผู้อ่าน ผู้สนใจ จะดีหรือไม่ หากคู่สื่อสาร คุณครู นักเรียน จะร่วมกำหนด ออกแบบการสื่อสารการเรียนการสอน เพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียน ดังแนวทางต่อไปนี้

1) การเรียนการสอนวิชาใด คุณครูควรค่อยๆสื่อสารการสอนเนื้อหาวิชา ยึดนักเรียนกลุ่มเป้าหมายในชั้นเรียนเป็นตัวตั้ง โดยอธิบายถ่ายทอดความรู้ ความคิดความอ่านให้นักเรียนทีละขั้น ทีละตอน อย่างเด็กประถม ก็ควรขยายผลเพิ่มเติมความรู้ออกไปทีละน้อย ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับช่วงวัย ทักษะทางด้านสมอง กระบวนการความคิด ความสนใจของนักเรียน คำนึงถึงความยาก-ง่ายของเนื้อหาบทเรียน เรียนรู้ตามวัย หลายแห่งอัดเร่งเนื้อหาให้แข่งเรียน จะดีเหรอ ไม่แน่ใจ ต้องถามผู้รู้

คุณครูควร(ต้อง)ทำเรื่องยากให้เข้าใจง่ายๆ ใช้ตัวอย่างประกอบ ยกสถานการณ์จริงให้เห็น ฯลฯ มีจังหวะการพูดที่ดี ส่งผ่านเนื้อหาคำสอนอย่างช้าๆ อย่าสอนเร็ว หรือรวบรัดเกินไป นักเรียนตามไม่ทัน อาจงง สงสัย สับสนได้ ให้เขาค่อยๆเรียนรู้ ซึมซับ รับรู้ เข้าถึง เข้าใจ น่าจะช่วยให้บรรลุถึงซึ่งความเข้าใจเนื้อหาวิชาที่ดี ตีความหมายเนื้อหาคำสอนตรงกัน

จนมั่นใจว่า เด็กๆทุกคนตามทัน จึงค่อยไปต่อ คืบหน้าเนื้อหาต่อไป อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยที่ยังไม่เข้าใจ ถ้าเป็นไปได้ ต้องทำให้เขาเรียนเกาะกลุ่มทั้งชั้น เรียนให้เข้าใจ ก้าวไปด้วยกัน

บางทีคุณครูสอนมา 10-20 ปีคุ้นเคยบทเรียน ก็จะเผลอไปไว ขณะที่เด็กๆเพิ่งเริ่มเรียนครั้งแรก เนื้อหาใหม่ ไปไวไม่ได้ ต้องไปช้าๆ 16 สัปดาห์/เทอม สอนจบ ครบเนื้อหา

คุณครูอาจต้องดูนักเรียน บางคนรับเร็ว บางคนรับช้า สมรรถนะด้านความคิด จิตใจ อารมณ์ต่างกัน ให้รับเร็วเท่ากันไม่ได้ เชื่อว่าทำให้เข้าใจเท่ากันได้ ใช้เวลา ใช้การสื่อสารอธิบายที่ดี ครูอาจเหนื่อยหน่อยคอยห่วงใย เข้าใจเด็ก เป็นคุณครูใจดี มีทักษะการถ่ายทอด บอกกล่าวหลายๆครั้ง ไม่พูดสั้นไป น้อยไป อาจคลุมเครือไม่ชัดเจน ควรพูดเยอะๆ ย้ำๆ เชื่อมโยงให้เข้าใจ มองเห็นภาพ

น่าจะทำให้เด็กเรียนสนุก มีความสุขในการเรียน ผ่อนคลาย ไม่เครียด มีสมาธิในการเรียน เกิดการเรียนรู้ เรียนเข้าใจ จดจำที่ดี มีความแม่นยำ

เนื้อหาตรงไหน วิชาใดยาก มีความซับซ้อน ยิ่ง(ต้อง)เน้นสื่อสาร เพิ่มการอธิบายถ่ายทอด ย้ำๆ ซ้ำๆ ตอกซ้ำ ย้ำเตือนให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ อย่างฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ อาจต้องกำหนด ออกแบบการเรียนรู้ ค่อยๆให้เรียนรู้ทีละเปราะ ทีละประเด็น ให้รู้แจ้ง เห็นจริง จำขึ้นใจ เนื่องเพราะวิชายากๆเหล่านี้ ต้องฟังครูอย่างเดียว อ่านเองก็ไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจ อาจทำให้เบื่อเรียน

ซึ่งจะเบื่อไม่ได้ เป็นวิชาบังคับ ไม่ใช่วิชาเลือก ยังไงก็ต้องเรียน ต้องใช้ทักษะความคิด เรียนให้เข้าใจ ปล่อยผ่านไป ไม่โฟกัสใส่ใจ ปลายภาคอาจมี D หรือ F

2) นอกจากสื่อสารด้วยคำพูด ครูควร(ต้อง)สื่อสารด้วยสายตา สังเกต feedback เด็กๆนักเรียนให้ทั่วห้อง นั่งเรียนอย่างมีความสุขหรือไม่ หรือเรียนไป คิ้วขมวดไป เพราะไม่เข้าใจเนื้อหาคำสอน นอกจากมีจังหวะการพูดดี ต้องมีจังหวะการฟังด้วย เปิดโอกาสในการถาม มีอะไรสงสัย ทิ้งเวลาให้คิด ทอดเวลาให้ใคร่ครวญ มุ่งให้เรียนรู้ เข้าใจจริงๆ อาจชี้นำให้(กล้า)ถาม “นักเรียนเข้าใจตรงนี้มั๊ยคะ?” “มีใครสงสัยตรงไหนบ้างครับ?” บางทีอยากถาม แต่กลัวครูดุ คุณครูอย่าดุเด็ก ถ้าเด็กไม่(กล้า)ถาม จะบรรลุถึงความเข้าใจที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจของการสื่อสารเรียนรู้อย่างไร

3) ครูควร(ต้อง)สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นกันเอง สื่อสารผูกพัน สัมผัสสัมพันธ์ที่ดี เป็นคุณครูใจดี มีเมตตา ชวนคิด ชวนคุย ชวนเรียนรู้ เอ็นดู รักใคร่ จะดีหรือไม่ ให้ทุกคาบชั่วโมงที่เข้าสอน เด็กรู้สึกว่า ครูในดวงใจมาแล้ว มีความสุข แฮ็ปปี้ สีหน้าสดชื่น อยากให้ถึงวิชานี้

ให้เด็กรู้สึกดีเช่นนี้ ถ้าทำได้ในทุกๆวิชา น่าจะส่งผลเกื้อกูล หนุนนำซึ่งความอยากรู้ อยากเรียน เพราะใจเปิด อาจหนุนส่งความคิดความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ก็เป็นไปได้ เมื่อเด็กๆนักเรียนไม่เบื่อชั้นเรียน เรียนสนุก เรียนด้วยใจ นำพาให้ความคิดปลอดโปร่ง สมองแจ่มใส จะเรียนอะไร ก็รับได้ดี มีความเข้าใจ

4) ครูไม่ควรให้การบ้านเยอะ ถ้าให้เยอะ นั่งทำการบ้านจนดึกดื่น 4 ทุ่ม-5 ทุ่ม-เที่ยงคืน รุ่งเช้าไปโรงเรียน ประเดี๋ยวจะไปง่วงนอน ร่างกายจิตใจไม่พร้อม สมาธิเรียนรู้ไม่ดี มีผลเสียเพราะการบ้าน(มาก)

ควรต้องลดการบ้านลง เอาพอเหมาะๆให้ฝึกคิด ฝึกทำ ตอกย้ำเรียนรู้ รับรู้เข้าใจพอแล้ว เด็กๆนักเรียนจะได้เอาเวลามานั่งอ่านทบทวนบทเรียนต่างๆในช่วงก่อนนอน (บ้าง) หรือจะนั่งคุยกับพ่อแม่ ดูทีวีด้วยกัน พักผ่อนหย่อนใจ (บ้าง) อ่อนล้ามาทั้งวัน เป็นผลดีเพราะการบ้าน(น้อย)

เด็กประถมไม่เกิน 3 ทุ่มควรเข้านอน มัธยมอาจ 4 ทุ่ม ผู้เขียนคิดอย่างนั้น ไม่ทราบผู้อ่านเห็นอย่างไร เพื่อว่าตื่นเช้ามาจะได้สดชื่นไปโรงเรียน พร้อมรับการเรียนการสอนในวันใหม่

1) - 4)คุณครูอาจทำอยู่แล้ว ทำเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกนิด เพื่อลูกศิษย์ของคุณครู

5) ขณะที่นักเรียนควร(ต้อง)สื่อสารกับครูด้วยการฟังอย่างตั้งใจ อยู่ในชั้นเรียนยึดคุณครูเป็นศูนย์กลาง ฟังครูพูด มุ่งเรียน มุ่งรู้ในเนื้อหาบทเรียนที่ครูกำลังอธิบายถ่ายทอดให้ ทั้งความรู้ ความคิดความอ่าน สติปัญญา ความฉลาดเฉลียว คำชี้แนะ ชี้นำ รับฟังบทเรียนคำสอนด้วยความสนใจ เอาใจใส่ จดจ่อ จดจำ ทำความเข้าใจ ใช้สมาธิ ไม่คุยกันขณะครูสอน อาจพลาดโอกาสเรียนรู้ รับรู้ เข้าถึง เข้าใจที่ดี

6) นักเรียนควร(ต้อง)รู้จักถามให้เป็น ไม่เก็บปัญหาเอาไว้ จะได้รู้ในข้อสงสัย (ถ้ามี) เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาบทเรียน เคลียร์ ไม่มีอะไรค้างคา คาใจ ไม่งั๊นสะสม ทับถมไว้เรื่อยๆ เดี๋ยวจะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง รู้ใช้ feedback สื่อสารกลับไปยังคุณครู รู้พูดคุย พูดจาดี มีเหตุผล มีจุดไหนที่ไม่เข้าใจ ใช้สื่อสารสองทาง รับฟังให้ดี ถามไถ่ให้เป็น จะได้รู้กระจ่าง แจ่มแจ้ง ยิ่งถาม ยิ่งได้ ถ้าไม่ถาม ปัญหาก็ยังคงอยู่ จะรู้ และเข้าใจอย่างไร

7) นักเรียนควร(ต้อง)รู้จักการจดเล็คเชอร์(ถ้ามี) จะเขียนหวัด จะโน๊ตย่ออย่างไรสำหรับมัธยม ให้ได้ใจความครบถ้วนจากการฟัง จดให้ทัน ต้องให้อ่านเข้าใจง่ายเมื่อกลับไปบ้านด้วยนะ สื่อสารอ่านซ้ำ ทบทวนเล็คเชอร์ที่บ้าน สร้างความเข้าใจยิ่งขึ้น

8) นักเรียนไม่ควรทำอะไรที่จะเป็นอุปสรรคข้อจำกัดต่อการสื่อสารเรียนรู้ เช่น คุยกัน เล่นกัน ควรทำให้ชั่วโมงวิชาใดๆ มีคุณค่าและความหมายต่อการเรียนรู้เนื้อหาวิชานั้นๆ โดยต้องคิดว่า ถ้าผ่านช่วงเวลานาทีนั้นไปแล้ว ก็จะไม่มีเนื้อหาวิชานั้นอีกแล้ว เพราะกาลเวลาไม่ย้อนกลับมาได้อีกแล้ว มีแต่จะเดินหน้าเนื้อหาอื่นต่อไป

โทรศัพท์มือถือ ไลน์ แชร์ แช็ต เอาไว้เล่นนอกห้องเรียนกับเพื่อน ตอนนี้อยู่กับครูในชั้นเรียน ไม่งั๊นมือถือเป็นประโยชน์ อาจกลายเป็นโทษ เป็นสาเหตุให้เราไม่เข้าใจบทเรียน เพราะไม่ฟังครู มัวดูมือถือ หลายๆแห่งห้ามนำเข้าห้องเรียน ส่งผลดีต่อการเรียนการสอน

นอกจากครู-นักเรียน ในมุมมองผู้เขียนยังมีอีกภาคส่วนหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อการหนุนนำ นำพาซึ่งการมีส่วนสร้างเสริม เติมเต็มความเข้าใจในการเรียนรู้ คือ ผู้ปกครอง

ควร(ต้อง)สร้างบรรยากาศที่บ้าน โดยเฉพาะในตอนเช้า ด้วยความรู้สึกอบอุ่นยิ้มแย้มให้กัน สื่อสารผูกพันพ่อ-แม่-ลูก ทุกๆเช้ามีแต่เรื่องดีๆ ที่สร้างสรรค์ ที่เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อให้ลูกร่าเริง เบิกบานไปโรงเรียน จะทำให้สมองแจ่มใส ครูสอนอะไรก็จำได้ โดยไม่ควรมีเรื่องอะไรที่ไม่ดี เรื่องที่ทำให้ขุ่นข้องหมองใจ ลูกอาจเก็บเอาไปคิดระหว่างวัน กังวลในชั่วโมงเรียน เดี๋ยวเรียนไม่รู้เรื่อง เด็กๆอาจยังแยกแยะไม่ได้ คิดเรื่องทางบ้าน ไม่เข้าใจเรื่องที่เรียน

เป็นความผูกพันสัมพันธ์ร่วมมือ 3 ฝ่าย ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง อาจร่วมทำอยู่แล้ว ทำเพิ่มขึ้น ที่ทำน้อย อาจทำเพิ่ม ที่ยังไม่ได้ทำ อาจต้องเริ่ม น่าจะช่วยส่งผลให้คะแนน หรือเกรดดีขึ้น ไม่มากก็น้อย อาจมี A, B, C ไม่มี D, F ไม่แน่นะ ถ้าทำดีๆ อาจมี A, B ไม่มี C, D, F ก็เป็นไปได้ อยู่ที่นักเรียนตั้งใจเรียน เรียนอย่างเข้าใจ ทำข้อสอบได้ สัมฤทธิผลการเรียนการสอนดี มีโอกาสได้คะแนนดีๆกันทุกๆคน

อยู่ที่จะร่วมกำหนด ออกแบบการสื่อสารการเรียนการสอนอย่างไร

โดย... 

ไพศาล อินทสิงห์