อสังหาฯ ช่วยคนเร่ร่อน (ชรา)

อสังหาฯ ช่วยคนเร่ร่อน (ชรา)

เราจะลดจำนวนคนไร้บ้าน คนเร่ร่อนอย่างไรโดยให้มีความเป็นไปได้ทางการเงินและเป็นการสร้างสังคมที่ดีในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในอนาคต

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับคนเร่ร่อนในฐานะของประธานมูลนิธิอิสรชน (www.issarachon.org) ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงอดีตคนเร่ร่อนเอง การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเร่ร่อนก็เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ วันนี้ผมจึงขอพูดถึงเรื่องคนเร่ร่อนซึ่งเป็นประชาชนคนเล็กคนน้อยที่อยู่ชายขอบและแทบไม่มีปากเสียงในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนเร่ร่อนชราที่ยากที่จะช่วยตัวเองได้

ทุกวันนี้ประชากรไทยมีเกือบ 70,000,000 คนที่เป็นผู้สูงวัยหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอยู่เกือบ 30% แล้วหรือรวมเป็นประชากรถึง 21,000,000 คน ในจำนวนนี้ถือว่าเป็นคนจนราว 10% หรือ 2,100,000 คน ในจำนวนนี้สมมุติว่ามีกลุ่มที่ไร้ญาติขาดมิตรจริงๆ ราว 5% หรือมี 105,000 คน ที่ต้องการการดูแล ในจำนวนนี้หากมีผู้ที่ยังพอสามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้อยู่ 20% ก็จะได้ผู้สูงวัยที่มาช่วยผู้สูงวัยด้วยกันจำนวน 21,000 คน ถ้ามีสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักผู้สูงวัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยคนกลุ่มนี้จะเป็นประชากรที่ยังทำงาน เพื่อผู้อื่นได้อยู่  

อันที่จริงปัญหาของคนไร้บ้านหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ มักเริ่มต้นที่ปัญหาทางเศรษฐกิจคือไม่มีฐานะเพียงพอที่จะดูแลให้อยู่ได้อย่างปกติสุข บางคนจึงออกมา ‘ตายเอาดาบหน้า’ ด้วยการเป็นคนเร่ร่อนนั่นเอง สังคมควรส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัยดังที่พบเห็นในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ การจ้างงานผู้สูงวัยจะทำให้ผู้สูงวัยมีความรู้สึกมีศักดิ์ศรีที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้มีกำลังใจที่จะอยู่สร้างสรรค์และอยู่เพื่อตัวเองต่อไป

อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจ้างผู้สูงวัยก็คือผู้สูงวัยจะมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้นจึงอาจเป็นภาระแก่นายจ้างโดยเฉพาะในการจ้างงานภาคเอกชน ทำให้ในทางปฏิบัติไม่มีการจ้างผู้สูงวัยทำงานในประเทศไทยเท่าที่ควร การจ้างงานจึงเน้นไปจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาแทน ทั้งที่ในประเทศที่ยกตัวอย่างข้างต้นไม่มีการใช้แรงงานต่างด้าวเลย ในกรณีนี้สิ่งที่ทำได้ก็คือการให้รัฐช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยที่มีการจ้างงานอยู่  

 ในการดูแลคนไร้ที่พึ่งนั้นสถานสงเคราะห์ต่างๆมักมี ‘คิว’ ยาวมาก เช่น บ้านพักคนชราบางแคให้บริการได้ 150 คนแต่ ขณะนี้ยังรอคิวต่ออีก 500 คน บ้านกึ่งวิถีมีพยาบาลวิชาชีพเพียงหนึ่งเดียวแต่ต้องดูแลคนไข้ถึงเกือบ 500 คน อย่างนี้ การบริการจึงไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร อาจ กล่าวได้ว่าสถานสงเคราะห์ต่างๆ มีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีระบบสวัสดิการสังคม แต่โดยที่มีจำนวนน้อยมากจึงแทบเท่ากับไม่มีสวัสดิการสังคมเท่าที่ควรนั่นเอง  

 อันที่จริงรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้านน้อยมาก งบประมาณประจำปีของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทในขณะที่งบประมาณแผ่นดินเป็นเงินสูงถึงปีละ 2.7 ล้านล้านบาท งบประมาณของกระทรวงมีสัดส่วนเป็นเพียง 0.3% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดเท่านั้น จะทำอย่างไรเสียก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะมาใช้จ่ายแต่อย่างใด

บางท่านอาจมีข้อเสนอแนะว่าควรกระจายการดูแลผู้สูงวัยไปยังท้องถิ่นต่างๆ แต่ในความเป็นจริงท้องถิ่นต่างๆ ก็มีงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ย เป็นอย่างยิ่ง ในจำนวนกำลังคนภาครัฐทั้งหมด 2,100,000 คน ปรากฏว่าเป็นของส่วนท้องถิ่นเพียง 22% คิดเป็นปริมาณงบประมาณก็อาจน้อยกว่านี้อีก เช่นนี้แล้วท้องถิ่นย่อมไม่มีโอกาสดูแลคนไร้ที่พึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจนกว่าจะมีการกระจายทรัพยากรและกระจายอำนาจที่แท้จริง  

 รัฐบาลควรร่วมมือกับภาคเอกชนจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยเพื่อไม่ให้ออกมาเร่ร่อนโดยอาจทำเป็นที่อยู่อาศัยประเภทเช่าระยะยาวให้ ผู้สูงวัยได้ดูแลกันเอง ชุมชนผู้สูงวัยนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมือง เพียงแต่มีพยาบาลคอยดูแลให้เพียงพอ และสามารถหมุนเวียนให้ผู้สูงวัยเข้ามาอยู่ได้ตามภาวะของความสูงวัย โดยชุมชนนี้จะเป็นชุมชนผู้สูงวัยที่ช่วยตัวเองได้พอสมควร สำหรับผู้สูงวัยที่ป่วยหรือติดเตียงอาจจะต้องนำส่งสถานสงเคราะห์ที่เกี่ยวข้องต่อไป  

 ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยและการสร้างสังคมผู้สูงวัยที่ยังช่วยตัวเองได้นี้อาจจะเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยเอง ในการเช่าซื้อที่อยู่อาศัยประเภทนี้และยังสามารถขายต่อได้เพื่อนำเงินไปรักษาแม้ยามเจ็บป่วยหนัก เป็นต้น การดำเนินการในเชิงพาณิชย์และผสมกับระบบสวัสดิการสังคมบ้างเพราะจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ทางการเงินในการสร้างอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยได้ในจำนวนที่มากขึ้น และกระจายได้ทั่วถึงมากขึ้นด้วย  

 ภาคเอกชนและภาคประชาชนก็ยังสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อผู้สูงวัยโดยถือเป็นกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility หรือ CSR) การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในสังคมได้อย่างกว้างขวางและเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่นได้มาช่วยกันพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงวัยกันเถอะ