สภาวะเศรษฐกิจไทยและสภาวะตลาดทุน

สภาวะเศรษฐกิจไทยและสภาวะตลาดทุน

สภาวะเศรษฐกิจไทยและสภาวะตลาดทุน

หลังจากผ่านช่วงปีใหม่ สภาวะเศรษฐกิจไทยในปี2018 นั้น อาจมีความร้อนแรงต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งมาพร้อมกับความคาดหมายดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจในทาง positive sentiment นั้น โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่เป็นกำลังขับเคลื่อนให้ GDP ของประเทศไทยได้เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 1. ด้านการส่งออก 2. ด้านการท่องเทียว และ 3. ด้านการลงทุน การใช้จ่ายจากภาครัฐในโครงการ infrastructure ของประเทศ

ด้านการส่งออก ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ภาคการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นกว่าคาดสอดคล้องกับการปรับดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก การที่ภาคส่งออกกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น มีส่วนทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นปรับดีขึ้นตาม ทั้งภาคการผลิตที่พลิกกลับมาขยายตัวการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณฟื้นตัวหลังจากที่อยู่ในภาวะซึมๆ มากว่า 3 ปี และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากการนำเข้า เพื่อการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ธปท. มองว่าการเติบโตของการส่งออกปี 2017 อยู่ที่ร้อยละ 9.3

ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยยังคงเป็นจุดมุ่งหมายหลักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่เริ่มฟื้นตัวมาในช่วง 2H17 และเมื่ออิงกับสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าในปี 2017 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศขยายตัวกว่าร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับปี 2016 ทำให้มีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสูงถึง 2.8 ล้นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2016

ด้านการลงทุน การใช้จ่ายจากภาครัฐ เริ่มมีอัตราเร่งในการเบิกจ่ายงบลงทุน เรามองว่ามีโอกาสเกิด Crowding – in effect ซึ่งมีผลกระทบทางบวกต่อการลงทุนในเอกชน รวมทั้งได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้ง BOI, โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ตลอดจนเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตดี ในหมวดบริการ อาทิการสื่อสารและโทรคมนาคม การก่อสร้างของโครงการใหญ่ และหมวดอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี

อย่างไรก็ตามทาง ธปท. ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2018 ไว้มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 3.9

ทางด้านภาวะตลาดทุนหลังผ่านพ้นช่วงปีใหม่พบว่ามีความคึกคักอย่างมาก โดยทางฝ่ายวิเคราะห์ ASL มองว่าตลาดหุ้นไทยจะมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นได้ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นด้วย ในขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนยังคงสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้น และหากมีการประกาศกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปว่าจะมีขึ้นภายในต้นปี 2562 ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยเราให้แนวรับจิตวิทยาไว้ที่ 1,800 / 1,790 และแนวต้าน 1,845

สำหรับ highlight ที่สำคัญในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นอย่าง การประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารงวดไตรมาส 4 / 2017 และสิ้นปี 2017 นั้น ทางฝ่ายวิเคราะห์ ASL มองว่าผลประกอบการน่าผิดหวังซึ่งต่ำกว่าที่คาด นำโดย 2 ธนาคารขนาดใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย (ต่ำกว่าที่ทางฝ่ายคาด 17%) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (ต่ำกว่าที่คาด 10%) ซึ่งเหตุผลหลักและเหมือนกันของทั้ง 2 ธนาคารคือมีการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นโดยพิจารณาถึงหลักความระมัดระวัง รวมถึงการคาดการณ์ความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ทางบัญชี (การเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9) ที่จะบังคับใช้ในปี 2019 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพกลับมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากการได้รับประโยชน์ของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จากภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่วนธนาคารขนาดเล็กกลับมีผลประกอบการที่ดีขึ้นทั้งธนาคารทหารไทย ธนาคารเกียรตินาคิน และธนาคารทิสโก้ โดยทางฝ่ายวิเคราะห์ ASL ในปีนี้ ทางกลุ่มธนาคารจะยังคงทรงตัวจากปีที่ผ่านมา และผลประกอบการโดดเด่นจะยังคงเป็นกลุ่มธนาคารขนาดเล็กและกลาง