ดิจิทัลทีวี: เป้าที่คุยไว้ กับผลลัพธ์แห่งความจริง

ดิจิทัลทีวี: เป้าที่คุยไว้ กับผลลัพธ์แห่งความจริง

ในภาวะวิกฤติของวงการต่าง ๆ ที่ถูกเทคโนโลยีสร้างความปั่นป่วน (disrupt) จนเกิดความสับสน ในการวิเคราะห์สถานการณ์นั้น

ต่างฝ่ายต่างก็ออกมาปกป้องสถานภาพ และจุดยืนของตน โยนให้ความผิดเป็นของฝ่ายอื่น

นั่นย่อมไม่ใช่วิถีการแก้ปัญหาโดยเฉพาะหากสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบต่อสาธารณประโยชน์อย่างชัดเจน

กรณีของดิจิทัลทีวีเป็นตัวอย่างที่ควรแก่การทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความเข้าใจของสาธารณชน

จุดเริ่มต้นของนโยบายเปิดประมูลดิจิทัลทีวีนั้น ต้องการจะให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับรู้ข่าวสาร ให้มีความหลากหลาย ให้ยกระดับคุณภาพของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

เป้าหมายที่อ้างกันตอนเริ่มต้นโครงการนี้คือ รายการดี ๆ มีคุณภาพสำหรับเด็กไทย สารคดีที่สร้างแรงบันดาลใจ   บทสัมภาษณ์ที่มีเนื้อหาสาระเป็นประโยชน์ เพื่อสร้างชาติสร้างบ้านเมืองจะเกิดขึ้น เพราะการขยายฐานของผู้ผลิตรายการ คนข่าว นักสร้างสารคดี นักตัดต่อ นักเขียนสคริปต์ต่าง ๆ

เราได้รับคำบอกเล่าว่าเมื่อมีดิจิทัลทีวีแล้ว จะทำให้คนไทยฉลาดขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่กว้าง ลุ่มลึก และมีมิติครบถ้วน ไม่มีใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะครอบงำความคิดความอ่านของคนไทยได้

ผ่านมาสามสี่ปีทุกวันนี้เป็นอย่างไรครับ

อุตสาหกรรมสื่อกำลังเข้าสู่วิกฤติ รายการทีวีดิจิทัลมีแต่เนื้อหาเน่า ๆ เพราะต้องแข่งกันสร้าง ratings เพื่อเอาใจผู้ลงโฆษณา และ เจ้าของสินค้า ที่สนใจแต่เพียงตัวเลขจำนวนผู้ดูหรือคนกด likes ในโซเซียลมีเดีย

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมคนดูก็หันไปเสพเนื้อหาจากมือถือมากกว่าการนั่งอยู่หน้าจอทีวีเหมือนแต่ก่อน ทำให้เกิดอาการ “สมาธิสั้น” ไม่ต้องการเสพเนื้อหาอะไรที่ยาวหรือลึกหรือซับซ้อน

ดิจิทัลทีวี: เป้าที่คุยไว้ กับผลลัพธ์แห่งความจริง

คุณภาพของคนทำเนื้อหาทีวีที่เคยหาร 6 ช่องทีวีเดิมต้องมาหารด้วย 22 ช่องเป็นอย่างน้อย (ไม่นับทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีอีกเป็นร้อย) โดยที่มาตรฐานคุณภาพเหมือนเดิม

แปลว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คุณภาพคนทำสื่อลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ไม่มีความหวังว่าจะมีการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีคุณภาพดีขึ้นได้เลย เพราะนายทุนเจ้าของสื่อ ต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอด

เจ้าของสื่อนั้นต้องลดคนทำงาน ลดงบประมาณการทำเนื้อหา หยิบฉวยคลิปดราม่าทั้งหลายในโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นเนื้อหาหน้าจอทีวีและมือถือ เน้นการเรียกความสนใจคนดูด้วยเรื่องอื้อฉาวชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

นอกจากคนทำสื่อต้องตกงานต่อเนื่อง และคนเรียนมาทางด้านนี้ไม่มีงานให้ทำแล้ว คนที่ยังพยายามดิ้นรนอยู่ในห้องข่าวต่อไป ก็ถูกกดดันโดยฝ่ายบริหารให้ต้องช่วยสร้างรายได้ ด้วยวิธีการที่สุ่มเสี่ยงกับการทำผิดจริยธรรม ของคนทำสื่อมืออาชีพ

วิกฤติของคนทำสื่อจึงนำไปสู่วิกฤติศรัทธาของสังคมต่อสื่ออย่างน่าใจหาย

สภาพเช่นนี้เป็นอันตรายมิใช่เฉพาะต่อวงการสื่อมวลชนเท่านั้น หากแต่ยังบ่อนทำลายสังคมและประเทศชาติเป็นส่วนรวมด้วย

เพราะนั่นย่อมแปลว่าพลังของสื่อ ที่เคยเป็นกลไกสำคัญของการเป็น “มโนธรรมแห่งสังคม” เป็นเสียงคัดค้านต่อต้านความไม่เป็นธรรม และความไม่ชอบมาพากลของประเทศ เป็นกระจกส่องปัญหาของชาติบ้านเมือง เป็นกระบอกเสียงของคนยากไร้ด้อยโอกาสและเสียงส่วนน้อยทั้งหลายกำลังจะดับสูญต่อหน้าต่อตา

หนทางแก้ไขอยู่ที่การที่ทุกฝ่ายจะต้องเลิกปกป้องตนเอง หยุดชี้นิ้วโยนความผิดไปให้ฝ่ายอื่นและหันมาหาหนทางแก้ปัญหานี้ก่อนที่จะเกิดความล่มสลายของเสาหลักแห่งความอยู่รอดของสังคมอย่างแท้จริง