ช่องว่างทักษะกับนัยต่อการพัฒนากำลังคนของไทย

ช่องว่างทักษะกับนัยต่อการพัฒนากำลังคนของไทย

การก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องมีการเตรียมกำลังคนให้เหมาะสม ทั้งส่วนที่เป็นกำลังคนในตลาดแรงงาน และกำลังคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในระบบการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก Human Capital Report 2016 ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum พบว่า ไทยมีสัดส่วนแรงงานฝีมือเพียง 14.4% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในขณะที่สวีเดน เยอรมนี สิงคโปร์ และฟินแลนด์ ซึ่งมีความพร้อมในการเข้าสู่ยุค 4.0 มากกว่าไทย มีสัดส่วนแรงงานฝีมืออยู่ระหว่าง 43-55%

ถ้านำตัวเลขของ 4 ประเทศมาเฉลี่ยจะพบว่า สัดส่วนแรงงานฝีมือมีค่าประมาณ 48% นั่นหมายความว่า ในเชิงปริมาณ เรายังต้องเพิ่มแรงงานฝีมืออีกถึง 33.6% จึงต้องมีการยกระดับทักษะของแรงงานไทยอีก 12.81 ล้านคนให้กลายเป็นแรงงานฝีมือ ซึ่งมีทั้งแรงงานใหม่ที่เพิ่งออกมาจากระบบการศึกษา และแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้ว

นอกจากประเด็นเรื่องการเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว อีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน คือ ปัญหาช่องว่างของทักษะ(Skill Gap) ซึ่งหมายถึง การที่แรงงานมีทักษะในการทำงานไม่เพียงพอที่จะทำงานในความรับผิดชอบได้ตามความคาดหวังของนายจ้าง หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

ปัญหาช่องว่างทักษะไม่ใช่ปัญหาใหม่ของประเทศไทย ตัวชี้วัดหนึ่งที่ใช้ในภาพรวมเพื่อประเมินว่าปัญหานี้รุนแรงแค่ไหน สามารถดูได้จากสัดส่วนของสถานประกอบการที่พบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากไม่สามารถหา คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับงาน จนสามารถทำงานให้ได้ตามความคาดหวังของนายจ้างได้ ประเทศหรืออุตสาหกรรมไหนมีสัดส่วนของสถานประกอบการที่มีปัญหานี้มาก ก็หมายความว่ามีปัญหาช่องว่างทักษะมากตามไปด้วย

ผลจากการสำรวจ Enterprise Survey ของธนาคารโลกที่สำรวจข้อมูลสถานประกอบการในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2549 พบว่าสัดส่วนของสถานประกอบการซึ่งมี ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ คิดเป็นประมาณ 38.8% ของสถานประกอบการทั้งหมดที่ถูกสำรวจ

ในขณะที่สัดส่วนของมาเลเซีย มีประมาณ 20.0% เวียดนาม 8.9% และภาพรวมของอาเซียนถ้าไม่นับไทย มีสัดส่วนประมาณ 12.6% สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณสมบัติตามต้องการในไทยมีค่าสูงกว่าภาพรวมของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนถึง 2 เท่าตัว

ที่สำคัญ ปัญหานี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 11 ปีก่อน ช่วงนั้นไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ Enterprise Survey เป็นข้อมูลเก่า จึงจำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงทำการศึกษาถึงช่องว่างทักษะของแรงงานโดยนี้ใช้ข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการจำนวน 17,582 แห่ง ที่ทางกระทรวงแรงงานได้ทำการสำรวจไว้เมื่อปี 2559 มาสร้างดัชนีช่องว่างทักษะ แบ่งออกเป็น 10 ระดับ

ระดับ 1 หมายถึงมีปัญหาช่องว่างทักษะน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ และระดับ 10 มีปัญหาช่องว่างทักษะมากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งพบว่า อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาช่องว่างทักษะรุนแรงกว่าภาพรวมของประเทศส่วนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เช่น อิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง การผลิตภัณฑ์อาหาร การผลิตยานยนต์ เป็นต้น มีปัญหาช่องว่างทักษะอยู่ในระดับ 6 ถึง 8

ข้อค้นพบนี้ แสดงให้เห็นว่า การจะใช้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้มาขับเคลื่อนประเทศ จะต้องมีการวางแผนการยกระดับทักษะของแรงงานอย่างเป็นระบบ ทั้งแรงงานในปัจจุบันและแรงงานใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคต

ผลจากการคำนวณยังพบว่า ปัญหาช่องว่างทักษะที่มีความรุนแรงมาก คือ ความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ ความมีวินัยในการทำงาน และความสามารถในการนำเอาความรู้ที่เรียนมาไปใช้ในการทำงานจริง ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ยิ่งจังหวัดมีการพัฒนามากขึ้น ปัญหาช่องว่างทักษะก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นได้

การพัฒนากำลังคนของประเทศไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประเทศสามารถยกระดับความสามารถแข่งขันให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะของแรงงาน (Skill Development Ecosystem)

หัวใจสำคัญของระบบนิเวศน์นี้ คือ โมเดล 3 ประสาน ที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ภาครัฐเป็นผู้ประสานงานดึงเอาภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาร่วมกันคิดว่า ต้องยกระดับหรือเพิ่มทักษะใดบ้าง โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะมีคณะที่ปรึกษา ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นๆ  เพื่อช่วยกันประเมินว่า แรงงานในแต่ละระดับ แต่ละตำแหน่งงาน ของอุตสาหกรรมนั้น ต้องพัฒนาทักษะอะไรบ้าง และแนวทางไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด โดยต้องพิจารณาลักษณะเฉพาะในเชิงพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย

ช่องว่างทักษะไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแล้วจะหมดไป แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กระทบกับทุกคน ก็เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันถมช่องว่างที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ในยุคที่ใครๆ ก็มุ่งหน้าสู่คำว่า 4.0