วันครูและปัญหาการศึกษา

วันครูและปัญหาการศึกษา

บทความนี้เขียนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งทางราชการกำหนดให้เป็น “วันครู” ปีนี้วันครูอยู่หลัง “วันเด็ก” 3 วัน

เนื่องจากวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน ม.ค. ปีนี้ตรงกับวันที่ 13

การมองดูกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งข้อความในสื่อสังคม (social media) สรุปได้ว่า “ครู” ในบริบทของวันนี้หมายถึงเฉพาะผู้ทำหน้าที่ครูเป็นอาชีพ

อย่างไรก็ดี มีส่วนหนึ่งของข้อความซึ่งมอง “ครู” ว่ารวมทั้งผู้ที่มิได้ทำหน้าที่ครูเป็นอาชีพด้วย ผมเป็นคนหนึ่งที่มองเช่นนี้และยึดมั่นว่าแม่กับพ่อเป็นครูคู่แรก

ในช่วงนี้มีการพูดถึงความตกต่ำของการศึกษาไทย และการเสนอให้ปฏิรูปอีกครั้ง

ข้อเสนอส่วนใหญ่มุ่งไปที่โรงเรียน หรือการศึกษาในสถาบันซึ่งครูที่สอนอยู่ในนั้นสำคัญยิ่ง ผมมองว่าปัญหาพื้นฐานของการศึกษาไทยเกิดจากการมองการศึกษา และผู้เป็นครูแคบเกินไป ทำให้เกิดสภาวการณ์ “กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด” มานาน ก่อนการปฏิรูปครั้งที่แล้ว การมองเช่นนั้นนำไปสู่การปฏิรูปที่เพิ่มปัญหา เพราะการเพิ่มองค์กรและตำแหน่งใหญ่ๆ ทำให้พวกเขาไม่มีงานทำ จำเป็นต้องหางานเพิ่มซึ่งซ้ำเติมปัญหาของครูที่สอนอยู่ในโรงเรียน

ฉะนั้น การตกต่ำของการศึกษาไทยจะแก้ได้ต้องใช้การปฏิวัติ มิใช่การปฏิรูป

การปฏิวัติในที่นี้หมายถึงการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมแบบยกเครื่องของผู้ใหญ่ในสังคมไทยทั้งหมด ต้องมองว่าการศึกษาเป็นกระบวนการอันยาวนาน เริ่มจากวันเกิดของบุคคลและจะไม่จบจนกระทั่งวันตาย

ต้องมองว่าผู้ใหญ่ทุกคนเป็นครู ทั้งนี้เพราะช่องทางเรียนรู้อันสำคัญยิ่งของเด็กคือ การดูพฤติกรรมของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมให้เด็กเห็นซ้ำๆ จากผู้ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน ไปจนถึงผู้ที่เด็กเห็นเป็นประจำผ่านสื่อ

การมองดังกล่าวนี้เกิดคำถามทันทีเมื่อโยงไปถึงวันเด็ก เช่น การนำอาวุธร้ายแรง ที่หวังจะใช้ในสงครามมาให้เด็กดูโดยการเชิดชูว่าเป็นสิ่งสำคัญ หรือการนำรูปของนายกรัฐมนตรีที่เรียกกันว่า “สแตนดี้” หรือ “คัตเอ้าท์” ในท่าต่างๆ มาตั้งให้เด็กยืนคู่ เพื่อให้ดูว่าได้อยู่ใกล้ชิดนายกฯ และถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก

คิดกันต่อไปหรือไม่ว่า หมายความว่าอะไรกันแน่ จะปลูกฝังอะไรให้แก่เด็ก หรือเด็กจะเรียนรู้อะไรไปบ้าง

การที่ผู้ใหญ่ทำอะไรที่มักไม่คิดอย่างกว้างลึก หรือคิดแบบผิดๆ เป็นการส่งต่อความคิดแบบนั้นไปให้เด็กซึ่งคงจะนำไปใช้ต่อไปด้วย

ในด้านองค์กรต่างๆ ทั้งเก่าและใหม่ในระบบการศึกษาซึ่งมีมากมาย จนไม่สามารถนับได้หมดในเวลาสั้นๆ หมายถึงองค์กรของรัฐบาล หรือกึ่งรัฐบาลที่ใช้งบประมาณจากเงินภาษี ทั้งนี้เพราะในระบบตลาดเสรีเอกชนมีสิทธิ์กว้างขวางที่จะตั้งองค์กรตามกฎหมายซึ่งจะล้มเลิกไปหากผู้อาจได้ประโยชน์ไม่ต้องการ

ตัวอย่างพฤติกรรมขององค์กรรัฐบาลที่ไม่มีงานทำและควรพิจารณายุบไป หรือลดขนาดลง ได้แก่ องค์กรที่เพิ่งเสนอวัดความดีและองค์กรที่ให้เด็กเรียนธรรมศึกษาแล้วเมื่อถึงเวลาสอบ ครูและพระบอกคำตอบให้ เมื่อเด็กสอบได้ยกห้องก็ยกย่อง หรือมอบโล่ห์เชิดชูเกียรติให้โรงเรียน หรือสำนักที่สอนเด็ก พฤติกรรมแบบนี้แทนที่จะปลูกฝังสิ่งดี ๆ กลับปลูกฝังสิ่งชั่วร้ายให้แก่เด็ก

ชาวแอฟริกาผู้เป็นต้นบรรพบุรุษของมนุษย์ทุกหมู่เหล่าให้ความสำคัญแก่พฤติกรรมของผู้ใหญ่ทั่วไปซึ่งมิใช่ครูอาชีพสูงมาก โดยพูดต่อๆ กันมาเป็นข้อความว่า “ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านในการเลี้ยงดูเด็ก”  ฮิลลารี คลินตันนำข้อความนี้ไปประยุกต์ใช้เป็นชื่อหนังสือ It Takes a Village ซึ่งมีบทคัดย่อภาษาไทยในเว็บไซต์ www.bannareader.com

ในสมัยโบราณ “หมู่บ้าน” หมายถึงชุมชนเล็กๆ ที่เด็กมักสัมผัสได้เป็นรายวัน ในปัจจุบัน หมู่บ้านใหญ่กว่านั้นมากเนื่องจากเทคโนโลยีใหม่เอื้อให้เด็กสัมผัสสิ่งต่างๆ ในโลกกว้างได้อย่างทั่วถึง การมองการศึกษาดังกล่าวจึงทำให้พฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่ทำสื่อ หรือออกสื่อเป็นประจำมีความสำคัญสูงยิ่ง

การจะป้องกันการศึกษามิให้ตกต่ำจะทำไม่ได้หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมจำพวกต่ำช้าของผู้ใหญ่ ในช่วงวันครูและวันเด็กปีนี้มีเรื่องราวความฉ้อฉลของคนกำอำนาจรัฐทุกวัน การศึกษาจะยังตกต่ำหากพฤติกรรมต่ำช้าเหล่านั้นไม่ลด