เสน่ห์ของตลาดหุ้นเอเชีย

เสน่ห์ของตลาดหุ้นเอเชีย

เสน่ห์ของตลาดหุ้นเอเชีย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าตลาดหุ้นเอเชียทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ผลตอบแทนรวมทั้งปีของดัชนี MSCI Asia ex. Japan อยู่ที่ 41.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีย้อนหลัง 10 ปี ที่ 5.7% อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการเติบโตของตลาดหุ้นในปีที่ผ่านมาได้แรงหนุนสำคัญจากเศรษฐกิจในเอเชียที่ฟื้นตัวได้ดี และเมื่อพิจารณาไปถึงมูลค่าพื้นฐานแล้ว ก็จะพบว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ยังคงถูกกว่าตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอยู่ พิจารณาได้จากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิในอีก 12 เดือนข้างหน้า หรือ Forward Price/Earning (P/E) Ratio ของตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 13.5 เท่า (สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 12.5 เท่า เพียงเล็กน้อย) ขณะที่ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วซื้อขายสูงถึง 17.3 เท่า  (สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 14.3 เท่า) ถึงแม้ว่าในปี 2560 ราคาหุ้นเอเชีย (Price) จะขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่ผลประกอบการ (Earning) ของบริษัทจดทะเบียนก็ปรับขึ้นมามากเช่นเดียวกัน จึงส่งผลให้ P/E Ratio ปรับขึ้นน้อยกว่า

แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย สำหรับปี 2561 มีดังนี้

  1. ภาคส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวลง – ปีที่ผ่านมา การส่งออกในเอเชียเติบโตแข็งแกร่งมากตามอุปสงค์โลกที่ขยายตัวดี โดยการส่งออกในหลายประเทศเติบโตเกิน 10% และแตะจุดสูงสุดได้ในไตรมาส 3 ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเองที่แต่ละไตรมาสโตได้ถึง 8%, 7.9% และ 12.5% ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีของไทยที่ 5.6% ดังนั้น จึงมีโอกาสที่การเติบโตของการส่งออกจะชะลอลงจากฐานที่สูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินเอเชียที่อาจจะไม่สนับสนุน เนื่องจากมีแนวโน้มแข็งค่าเทียบกับตะกร้าสกุลเงินของประเทศคู่ค้าอื่นนอกเอเชีย ต่อเนื่องจากปี 2560 ที่แข็งค่ามาแล้วกว่า 6.8%
  2. การบริโภคภายในประเทศอาจอ่อนแรงตาม – หากอุปสงค์ภายนอกประเทศ (สะท้อนจากมูลค่าส่งออก) ชะลอลง อุปสงค์ภายในประเทศที่เคยแข็งแกร่งอาจได้รับผลกระทบตาม เพราะเศรษฐกิจเอเชียหลายประเทศยังพึ่งพาการส่งออกสูง เช่น ไต้หวัน และไทย ที่มูลค่าการส่งออกมีสัดส่วนถึง 63% และ 69% ของ GDP ในปี 2558 นอกจากนี้ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ต่างเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้น จนต้องมีมาตรการชะลอความร้อนแรง ทำให้การเติบโตของสินเชื่อในประเทศอ่อนแรงลง ซึ่งหมายถึงระดับการจับจ่ายใช้สอยที่จะหดหายไปนั่นเอง
  3. ธนาคารกลางยังคงผ่อนคลาย – แม้ว่าสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แต่นโยบายทางการเงินในภูมิภาคเอเชียจะยังกระตุ้นต่อไปและการขึ้นดอกเบี้ยไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเหตุผลหลักคงหนีไม่พ้นเรื่องเงินเฟ้อที่ยังต่ำ โดยเฉพาะในไทย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 8% 1.2% และ 1.5% ตามลำดับ ในระยะสั้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวในระดับปัจจุบัน จากราคาโภคภัณฑ์ที่มีเสถียรภาพ และแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันส่วนเกินจากการผลิตน้ำมันดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ธนาคารกลางในเอเชียจึงไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดตามสหรัฐฯ
  4. การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไม่ได้หมายถึงเงินทุนไหลออกจากเอเชีย – ในปี 2556 ตลาดตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ Taper Tantrum ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯประกาศจะทยอยหยุดอัดฉีดสภาพคล่อง หลังจากกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QE มาตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2551 ทั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมถึงเอเชียประสบปัญหาเงินทุนไหลออกอย่างหนักจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ (สำหรับไทยเงินทุนไหลออกราว 1.5 แสนล้านบาทในช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม 2556 ด้วยสถานการณ์ทางการเงินของประเทศที่เผชิญทั้งการขาดดุลงบประมาณและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด) อย่างไรก็ดี พื้นฐานเศรษฐกิจเอเชียในปัจจุบันแข็งแรงต่างจากความไม่พร้อมในช่วงนั้นโดยสิ้นเชิง เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดในหลายประเทศที่เกินดุลหรือขาดดุลในกรอบที่แคบลงมาก โดยเฉพาะอินโดนีเชีย และอินเดียที่ไตรมาส 3 ปีที่แล้วขาดดุลอยู่ที่ -1.3% และ -1.4% ตามลำดับ เทียบกับในปี 2556 ที่ขาดดุลสูงสุดที่ -3.6% และ -5.0% ของ GDP ตามลำดับ

โดยสรุป ราคาหุ้นเอเชียมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ดีและราคายังน่าสนใจ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นเอเชียในปีนี้อาจจะไม่สร้างผลตอบแทนโดดเด่นเท่าปีที่แล้ว รวมทั้งอาจปรับฐานได้เป็นระยะ กลยุทธ์การลงทุนควรเน้นไปที่การคัดสรรหุ้นที่ราคายังไม่แพงในบริษัทที่กำไรสุทธิยังเติบโตได้ดี เช่น หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินและเทคโนโลยี เป็นต้น

เสน่ห์ของตลาดหุ้นเอเชีย