ประชาธิปไตยแบบ ‘ไทยนิยม’ เป็นเช่นไร

ประชาธิปไตยแบบ ‘ไทยนิยม’ เป็นเช่นไร

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกเยาวชนไทยใน “วันเด็ก 4.0” ที่ผ่านมาว่าให้ยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมกับเสริมว่า

ประชาธิปไตยแบบ ‘ไทยนิยม’ เป็นเช่นไร

“ประเทศไทยเราจะขัดแย้งกันต่อไปไม่ได้อีก ดังนั้นเราจึงต้องมีประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยนิยม เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ โดยที่เราต้องไม่ผิดกติกาของคนอื่น แล้วในฐานะที่เราเป็นคนไทยด้วยกัน จะทำอย่างไร ผมก็ได้ แต่ฝากกับพวกเราทุกคน”

ประชาธิปไตยแบบไทย กับประชาธิปไตยแบบไทย ๆ น่าจะเป็นคนละเรื่องกัน

ยิ่ง “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม” ก็ยิ่งจะทำให้ต้องตีความกันอย่างกว้างขวาง

คำว่า “นิยม” อาจจะมาจาก popular ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า เป็นที่ชอบอกชอบใจ เป็นที่พอใจ

ทำให้เกิดคำว่า “ประชานิยม” หรือ populism ทางการเมือง ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในทางปฏิบัติแล้วก็เกิดการตีความได้ทั้งทางบวก และ ทางลบ เช่นกัน

แต่ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” กับ “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” เหมือนหรือต่างกันยังไม่มีใครบอกได้ แม้นายกฯประยุทธ์เองก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างกับคำพูดของท่านวันนั้น

รู้แต่เพียงว่าท่านนายกฯอธิบายว่า “ประเทศไทยจะแตกแยกกันต่อไปไม่ได้” ก่อนจะเข้าสู่คำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม”

แปลว่าถ้ามีประชาธิปไตยแบบที่ท่านพูดถึงแล้วคนไทยจะไม่แตกแยกกันอีกต่อไปกระนั้นหรือ

ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า “ความเห็นแตกต่าง” กับ “ความขัดแย้ง” เป็นเรื่องเดียวหรือไม่

และ “ไทยนิยม” จะวัดกันตรงไหน

คนไทยนิยมประชาธิปไตยแบบไหน ใครจะเป็นคนกำหนดและตัดสิน

ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ หมายถึงอะไร ๆ ที่สบาย ๆ ไม่จริงจัง ไม่เคร่งครัด มั่ว ๆ กันได้เรื่อย ๆ อย่างนั้นหรือ

ท่านนายกฯบอกว่าไทยต้องมีประชาธิปไตยอยู่แล้ว และต้องไม่ผิดกติกาของคนอื่น นั้นแปลว่าอะไร หมายถึงยังต้องทำแบบประชาธิปไตยของประเทศอื่นด้วย และต้องมีส่วนผสมของไทยด้วยอย่างนั้นหรือ

ต้องถามต่อว่าถ้าเป็นการผสมผสาน ระหว่างประชาธิปไตยแบบตะวันตก และแบบไทย ๆ อย่างไหนจะมีส่วนผสมกี่เปอร์เซ็นต์ และใครจะตัดสินว่าสัดส่วนที่ว่านี้จะจบลงด้วยเป็นแบบ “ไทยนิยม”

ท้ายที่สุด ไม่ว่าเราจะพยายามหาสูตรประชาธิปไตยแบบไหนที่เหมาะสมกับประเทศไทยก็ตาม พื้นฐานแห่งการอยู่ร่วมกันของสังคมที่จะยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในสังคม ก็จะต้องเป็นระบอบการปกครองที่มีหลักการสำคัญ ๆ เช่น

ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ทุกคนมีสิทธิเลือกคนที่เป็นตัวแทนของตนซึ่งย่อมหมายถึงการเลือกตั้งที่เสรี, เป็นธรรมและโปร่งใสหรือที่เรียกว่า free and fair

เสียงส่วนใหญ่ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย

ต้องปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

ต้องไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์

ต้องไม่ให้ศรีธนญชัยครองเมือง

ต้องไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ของชาติ

เงื่อนไขเหล่านี้เข้าข่าย “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม” หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ ๆ คือหากคำว่า “ไทยนิยม” หมายถึงการให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ว่าจะเป็นทหารหรือนักการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดมีอำนาจครอบงำสังคมเกินระดับอันเหมาะควรโดยปราศจากการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ (checks and balances)

ก็ยืนยันได้ว่าจะถึงกาลล่มสลายได้ในเวลาอันสั้นอย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะขนานนามให้ฟังดูไพเราะเพียงใดก็ตาม