บททดสอบการทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้านของสื่อมวลชนไทย

บททดสอบการทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้านของสื่อมวลชนไทย

หลังมีการจุดประเด็น "นาฬิกาหรู" และ "แหวนเพชร" ที่อยู่บนข้อมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในวันถ่ายรูปหมู่ “ครม.ประยุทธ์ 5” เมื่อ 4 ธ.ค.2560

ในช่วงเวลาเดือนกว่าตราบจนวันนี้กลับปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับนาฬิกาหรูเรือนอื่นๆ หลุดออกมาเรื่อยๆ สร้างความฮือฮาแก่สังคมอย่างต่อเนื่องโดยการร่วมมือกันช่วยขุดคุ้ยตรวจสอบของบรรดาชาวเน็ตและสื่อโซเชียล

“บิ๊กป้อม” ในฐานะรองนายกฯ และรัฐมนตรีฯ กลาโหม พยายามหลีกเลี่ยงการตอบคำถามต่อสื่อมวลชนโดยยืนยันว่าได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว

สังคมยังเกิด “ความสงสัย” ต้องการคำอธิบาย

ขณะที่เลขาธิการ ป.ป.ช. นายวรวิทย์ สุขบุญ ในฐานะเจ้าภาพ ที่กำกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ แถลงข่าวความคืบหน้าโดยขอไม่เปิดเผยรายละเอียด โดยระบุสาเหตุว่าอยู่ระหว่างกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริง

เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ที่ยืนยันในเวลาต่อมาถึงความชัดเจน ความรอบคอบและความโปร่งใสในการตรวจสอบพยานหลักฐาน แต่ถึงกระนั้นยิ่งทำให้สังคมเกิดความสงสัยและตั้งคำถามถึงความชัดเจนอย่างไม่ลดละ

แม้กลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ ได้ออกมาประสานเสียงช่วยกระทุ้งเรื่องนี้ให้เกิดเป็นประเด็นรายวันไม่ให้จางหายไป ในทางกลับกัน “สื่อกระแสหลัก” ส่วนใหญ่กลับเงียบเฉย โดยทำหน้าที่เพียงรายงานข่าวความคืบหน้าของเหตุการณ์ ปราศจากการขุดคุ้ยและตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อสร้างความกระจ่างชัดว่า แท้จริงแล้วนาฬิกาหรูแต่ละเรือนมีที่มาอย่างไร และมีจำนวนเท่าใดกันแน่

ทั้งที่ นี่คือพันธกิจหรือหน้าที่หลัก ที่สื่อมวลชนพึงต้องกระทำ นั่นคือการขุดคุ้ยข้อเท็จจริงและนำเสนอความจริงในสิ่งที่ประชาชนสงสัยใคร่รู้ในผลประโยชน์สาธารณะ

จากการศึกษาในหัวข้อ “ตัวชี้วัดและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อเสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์ไทย” ส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาเอกของคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พบว่า การทำงานของผู้สื่อข่าว โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัย “ความเป็นวิชาชีพนิยม” (Professionalism) เป็นสำคัญใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความตระหนักถึงจริยธรรม ความเป็นมืออาชีพ การควบคุมกันเองและความสามัคคีในวิชาชีพ โดยไม่ได้รับอิทธิพลใดจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคม การเมือง กฎหมายและเศรษฐกิจ

หรือกล่าวได้ว่าการใช้เสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์ไทย จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตนเองหรือปัจจัยภายในวงการวิชาชีพเองทั้งสิ้น ไม่ใช่การถูกบีบคั้นหรือถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอก

หมายความว่าในการทำงานของผู้สื่อข่าว หากอยู่บนพื้นฐานการยึดมั่นในหลักจริยธรรมวิชาชีพย่อมจะไม่ยอม “นิ่งเฉย” หรือปล่อยให้เรื่องราวที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะใดหลุดผ่านไปโดยจะพยายามขุดคุ้ย ตรวจสอบและตีแผ่ความจริงเพื่อสร้างความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว อันเป็นการสนองต่อพันธสัญญาที่ตนได้เคยให้ไว้ต่อสาธารณะ

แม้ต้องพานพบกับอุปสรรค เช่น การปิดกั้นหรือหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าว แต่หากผู้สื่อข่าวมีความรู้ ความสามารถ ทักษะและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติพันธกิจสื่อมวลชนสูงอย่างเป็น “มืออาชีพ” การค้นหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่สงสัยและนำมาตีแผ่ จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถ การกล่าวอ้างว่าถูกปิดกั้นหรือเข้าไม่ถึงข่าวสาร จึงไม่น่าเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

ขณะเดียวกันการควบคุมตรวจสอบกันเองโดยต่างฝ่ายต่างพยายามแสดงบทบาทเป็น “แมลงวัน” ที่ตอมกันและท้วงติงการทำงานระหว่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดก็จะช่วยให้สื่อมวลชนสามารถรายงานข่าวสารอย่างถูกต้อง รอบด้าน เป็นธรรมและปราศจากอคติ

นอกจากนี้ ความร่วมมือและสามัคคีกันของผู้สื่อข่าวต่างสำนัก ที่ทุกฝ่ายควรมุ่งทำหน้าที่ของตนและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารซึ่งกันแทนการสร้างความขัดแย้ง ย่อมช่วยให้การตรวจสอบขุดคุ้ยในประเด็นที่สงสัยต้องปรากฏความจริงออกมา ในท้ายที่สุดและสังคมได้รับประโยชน์สูงสุด

การไม่สร้างความกระจ่างชัดในประเด็น “นาฬิกาหรู” รวมถึงเรื่องสาธารณะอื่นที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงเป็นบททดสอบ “ความเข้มแข็ง” ในวิชาชีพของตนเอง ที่ผู้สื่อข่าวควรต้องกลับมาพิจารณาว่า ได้ให้ความสำคัญต่อการแสดงบทบาทการเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” ที่สังคมสามารถพึ่งพาในข้อมูลข่าวสาร การตรวจสอบและการขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ ในผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างเพียงพอหรือไม่ อันเป็นสาเหตุหลักและไม่ใช่อิทธิพลจากปัจจัยอื่นตามข้อค้นพบที่สำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้

ที่มา : “ตัวชี้วัดและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อเสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์ไทย” บทความความของ "วัชระ จิรฐิติกาลกิจ" ซึ่งได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม “กำพล วัชรพล” ปี 2560 โดยมูลนิธิไทยรัฐ