ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจไทยปี 2018-20

ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจไทยปี 2018-20

ในบทความที่แล้ว ผู้เขียนได้ฉายภาพภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกใน 3 ปีข้างหน้า ฉบับนี้ ผู้เขียนขอฉายภาพภูมิลักษณ์เศรษฐกิจไทยใน 3 ปีข้างหน้า

โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ประเด็น ดังนี้

หนึ่ง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะสูงกว่าใน 3 ปีก่อน แต่การขยายตัวจะไม่เท่าเทียมทุกภาคส่วน

ปี 2015-17 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 3.3-3.4% ขณะที่ในปี 2018-20 น่าจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 3.6-3.7% โดยค่อนข้างจะร้อนแรงในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอลงในปีหน้า และปี 2020 อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นเศรษฐกิจหลักคือการขยายตัวอย่างไม่ทั่วถึง (Broad based) โดยภาคส่งออก และท่องเที่ยวได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว แต่การบริโภค และลงทุนกลับขยายตัวต่ำ โดยเฉพาะการบริโภคของประชาชนฐานรากและการลงทุนของธุรกิจ SMEs

ขณะที่ใน 3 ปีข้างหน้านั้น การบริโภคและลงทุนของกลุ่มดังกล่าวน่าจะฟื้นตัวขึ้นบ้าง ผลจากรายได้ของภาคส่งออกที่จะเริ่มกระจายเข้ามายังเศรษฐกิจในประเทศ

แต่ภาคส่วนที่ได้รับอานิสงส์หลักจะได้แก่ภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่ภาคที่พึ่งพิงความต้องการในประเทศเป็นหลัก อาจไม่สามารถขยายตัวได้มากเท่า โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงแรงงานระดับกลาง-ล่างที่มีอำนาจในการต่อรองต่ำ และภาคเกษตรที่ถูกกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงในระยะยาว

ในส่วนของ การลงทุนภาคเอกชน มีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นได้บ้าง แต่โอกาสที่จะกลับไปขยายตัวในระดับสองหลักเช่นในปี 2010 หรือ 2012 คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก (1) ศักยภาพเศรษฐกิจไทยลดลงตามโครงสร้างประชากรที่สูงวัยมากขึ้น (Aging Society) (2) การบริโภคของไทยที่หันไปเน้นบริการมากขึ้น (ซึ่งไม่ต้องการการลงทุนในระดับสูง) และ (3) ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยหันไปเน้นลงทุนในต่างประเทศที่ตลาดยังมีศักยภาพ และ/หรือทรัพยากรมีราคาถูกมากกว่า

สอง ด้านเสถียรภาพ แม้ภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง แต่ไส้ในยังคงเปราะบาง

ในส่วนของค่าเงินบาทนั้น โดยรวมจะยังมีแนวโน้มแข็งค่า ผลจากบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลในระดับสูงเฉลี่ยประมาณ 8-9% ของ GDP ใกล้เคียงกับ 3 ปีก่อนที่ประมาณ 11% ของ GDP

แต่ในระยะสั้น ความผันผวนของค่าเงินบาท จะมีมากขึ้นตามนโยบายการเงินโลก โดยหากธนาคารกลางชั้นนำ (โดยเฉพาะ Fed) ส่งสัญญาณการทำนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น เงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่หากยังคงส่งสัญญาณผ่อนปรนนโยบายการเงินเช่นในปัจจุบัน เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่ามากกว่า

เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อของไทยที่จะอยู่ในระดับต่ำ โดยใน 3 ปีข้างหน้า เงินเฟ้อไทยน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5% สูงกว่า 3 ปีก่อนหน้าที่เฉลี่ยที่ 0% แต่อัตราดังกล่าวก็ยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วง 2010-12 ที่อยู่ที่ 3.4% ซึ่งสาเหตุที่เงินเฟ้อไทยจะยังคงต่ำเป็นผลจาก (1) กำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงจากภาวะสังคมสูงวัย (2) เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง และ (3) นโยบายการเงินที่ตึงตัวโดยพฤตินัย

ในส่วนของตลาดแรงงาน ใน 3 ปีข้างหน้านั้น อาจเห็นอัตราว่างงานปรับเพิ่มขึ้นบ้าง จากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 1.2% ต่อกำลังแรงงานรวม แต่แรงงานที่มีทักษะปานกลางจนถึงระดับบน จะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว มากกว่าแรงงานระดับล่างที่จะถูกทดแทนจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้อำนาจต่อรองค่าจ้างจะต่ำกว่า และเสี่ยงต่อการถูกปลดออกจากงานมากกว่า

สาม ภาคการเงินมีโอกาสที่จะตึงตัวมากขึ้น

แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงอยู่ที่ 1.5% ในปีนี้ แต่ในปีหน้ามีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามทิศทางของธนาคารกลางชั้นนำ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่เงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำกว่าทำให้นโยบายการเงินโดยพฤตินัยตึงตัว

ขณะที่ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง เศรษฐกิจฐานรากที่ยังเปราะบาง และประเด็นของคุณภาพสินเชื่อทำให้สถาบันการเงินยังคงชะลอการปล่อยสินเชื่อ ทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อใน 3 ปีข้างหน้าในจะใกล้เคียงกับ 3 ปีที่ผ่านมาที่ประมาณ 4% ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่จะหันไประดมทุนผ่านตลาดเงินตลาดทุนแทนการกู้ยืมจากธนาคารมากขึ้น

ในส่วนของการลงทุนนั้น ภาคครัวเรือนจะหันไปลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนแทนการฝากเงินมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก (1) มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนมากขึ้น (2) ผลตอบแทนการลงทุนดีกว่าเงินฝาก (โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนต่าง ๆ กองทุนบำนาญ และการประกันชีวิต) และ (3) ทางการสนับสนุนให้ไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น

สี่ นโยบายการคลังจะให้ผลได้จำกัด

นโยบายการคลัง รวมถึงการลงทุนภาครัฐของไทย เผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้าง 3 ประการหลัก คือ (1) งบประมาณรายจ่าย ส่วนหนึ่งจะถูกกันไปเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรรวมถึงเงินโอนในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้สัดส่วนงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ต่องบประมาณรวมอยู่ในระดับต่ำ (ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ 25% มาโดยตลอด)

(2) การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐ (รวมรัฐวิสาหกิจ) ต่ำกว่าเป้ามาโดยตลอด ทำให้โครงการลงทุนภาครัฐส่วนใหญ่ล่าช้ากว่าแผนงาน และ (3) โครงการลงทุนภาครัฐส่วนใหญ่จะยังประโยชน์ให้กับกรุงเทพฯ มากกว่าในต่างจังหวัด ทำให้ไม่สามารถกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคได้เท่าที่ควร

ขณะที่โครงการลงทุนในภูมิภาคของรัฐบาล เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) เป็นไปได้ว่าผลสำเร็จจะอยู่ในวงจำกัด เช่น ภาคการท่องเที่ยวและภาคขนส่ง เป็นต้น

เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นแต่ไม่ทั่วถึง เสถียรภาพแข็งแกร่งแต่เปราะบาง ภาคการเงินมีโอกาสตึงตัว และภาคการคลังให้ผลได้จำกัด เหล่านี้คือภูมิลักษณ์เศรษฐกิจไทยใน 3ปีข้างหน้า