คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กับความเสี่ยงด้านสุขภาพ

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กับความเสี่ยงด้านสุขภาพ

ในการประชุมกรรมาธิการสาธารณสุขครั้งหนึ่ง ได้เชิญผู้ชี้แจงจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาชี้แจงเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีผลต่อสุขภาพประชาชน

ผู้ชี้แจงจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้แจงสั้นๆว่า จนถึงปัจจุบัน ไม่พบว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลกับสมองมนุษย์ และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงยังต้องรอผลการศึกษาต่อไป

ประเด็นอยู่ที่ว่าองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีการจัดให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุ อยู่ในกลุ่มปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็ง อยู่ในกลุ่ม 2B ซึ่งหมายความว่าอาจเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง  เป็นการเชื่อมโยงระหว่างสนามแม่เหล็กไฟฟ้ความถี่วิทยุ กับมะเร็งสมอง ซึ่งในทางระบาดวิทยาชี้แนะว่ามีความเป็นไปได้ แม้ว่าหลักฐานยังไม่ชี้ชัด

ผู้ชี้แจงจาก กสทช. ชี้แจงว่า ปัจจุบันความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ลดลงอย่างมาก อันตรายจากการใช้โทรศัพท์มือถือจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็ลดลง

ปัญหาเรื่องสุขภาพของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจโทรคมนาคมนั้น มีมากกว่าเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ กสทช. ก็ควรให้ความสำคัญด้วย จึงได้ตั้งคำถามกับผู้ชี้แจงจาก กสทช. สี่ห้าเรื่องด้วยกัน

หนึ่ง ปัจจุบันค่ายโทรศัพท์มือถือมีหลายค่าย ต่างค่ายต่างตั้งเสาถ่ายทอดสัญญาณโทรศัพท์รูปแบบต่างๆทั้งจากพื้นดิน จากบนอาคาร มากมาย บางพื้นที่ที่เป็นจุดหนาแน่น ถ้ามองขึ้นไปเหนืออาคารจะพบเสาสัญญาณนับสิบ เสาสัญญาณเหล่านี้ส่งสัญญาณที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย และสร้างมลพิษทางสายตาด้วย ยิ่งมีมากยิ่งสร้างมลภาวะมาก

คำถามคือทำไม กสทช. ไม่ให้ทุกบริษัทมาใช้เสาเดียวกันที่เรียกว่า co-location ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังลดมลภาวะทางสายตาอีกด้วย

สอง ปัจจุบันการส่งสัญญาณระหว่างเครื่องส่งและเครื่องรับ ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือนั้น มีระบบสาย fiber optic ลากเข้าบ้าน แต่ยังมีคลื่นไฟฟ้าระหว่างเครื่องรับสัญญาณ กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในบ้าน ตรงนี้จะมีปัญหาเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือไม่

สาม กสทช. มีหน้าที่ควบคุมคุณภาพของเครื่องโทรศัพท์มือถือที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายในประเทศ แต่หลายๆครั้งเป็นข่าวเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือระเบิด ไม่ว่าจากการชาร์จแบตมือถือ หรือใช้โทรศัพท์ขณะอยู่ในปั๊มน้ำมัน อยากทราบว่า กสทช. ได้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่นำเข้าเหล่านี้

สี่ ปัจจุบันคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือเปลืองมาก ทั้งประเทศมีผู้ใช้มือถือประมาณ 120 ล้านเครื่อง ในขณะที่ประเทศไทยประชากรเพียง 65 ล้านคน ถือเป็นสองเท่าของจำนวนประชากร

ปัญหาก็คือโทรศัพท์เคลื่อนที่เหล่านี้มีอายุงานไม่นาน และถูกเลิกใช้เพราะมีเครื่องรุ่นใหม่ เครื่องเก่าที่ไม่ใช้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์มหาศาล และเป็นขยะที่ไม่ย่อยสลาย กสทช. ได้ทำอะไรหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะมือถือล้น และย่อมมีปัญหาต่อประชาชน เพราะขึ้นชื่อว่าขยะแล้ว ย่อมเป็นปัญหาต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์

ห้า กสทช. เป็นองค์กรที่ร่ำรวยจากการให้สัมปทานคลื่นความถี่ ได้เงินเข้ารัฐนับแสนล้านบาท แม้จะส่งเงินสัมปทานเข้ากระทรวงการคลัง แต่ก็ถือว่าเป็นองค์กรมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก เป็นองค์กรที่ไม่ได้ทำงานต่อเนื่องหรืองานประจำมากนัก รายได้ของ กสทช.มหาศาลเหล่านี้ คิดว่าจะมาช่วยสนับสนุนโครงการวิจัยที่มีผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างไร เพราะเท่าที่ทราบ กสทช. ไม่ได้สนับสนุนงานวิจัยขนาดใหญ่ที่ไหนเลย

ผู้ชี้แจงจาก กสทช. ไม่ได้ตอบคำถามชัดเจน เพราะนี่ไม่ใช่วัตถุประสงค์อันเป็นเป้าหมายขององค์กร

มิติในเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพจากระบบโทรคมนาคมนั้นมีหลายด้านด้วยกัน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ กสทช. ก็ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากเปิดประมูลคลื่นความถี่ ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูงมาก และประชาชนเป็นผู้รับภาระจากการเก็บค่าบริการของบริษัทที่ได้รับสัมปทานโดยตรง

บริษัทค่ายมือถือที่เก็บค่าบริการเป็นนาที ทั้งๆ ที่ใช้ไม่ถึงนาทีก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้แก้ไขอย่างสมบูรณ์ ขยะมือถือก็ดูจะเป็นประชาชนด้วยกันเองที่รณรงค์การทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่ กสทช. ทั้งๆที่ กสทช. เป็นผู้ออกกฎระเบียบในฐานะที่เป็นทั้งผู้ออกกฎระเบียบ (Regulator) และเป็นผู้บังคับใช้ระเบียบเช่นว่านั้น

กสทช. ถือเป็นองค์การอิสระอีกองค์กรหนึ่งที่มั่งคั่งร่ำรวยเมื่อเปรียบเทียบกับองค์การอิสระอื่นๆของรัฐ และเท่าที่ทราบบุคคลากรของ กสทช. ได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนที่สูงมาก คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ มากกว่าองค์กรอื่นใด โดยที่ขอบเขตของงานและความรับผิดชอบก็ค่อนข้างจำกัด ไม่ได้กว้างขวางทั่วประเทศ เพราะเมื่อให้สัมปทานบริษัทไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของบริษัทเหล่านั้นที่จะต้องต่อสู้ทางธุรกิจ ลงทุนสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมเข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ แข่งขันให้บริการ

กสทช. จึงน่าจะพิจารณาตัวเองว่าจะทำตัวให้เป็นประโยชน์กับรัฐบาลและประชาชนมากกว่านี้ได้อย่างไร เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นเหมือนเสือนอนกินอีกตัวหนึ่ง ที่อ้วนพีจากรายได้ค่าสัมปทานมหาศาล แต่ยอมให้บริษัทผู้รับสัมปทานขูดรีดประชาชนผู้ใช้บริการให้รับภาระกันเอง ซึ่ง กสทช. น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้