คสช. คืนความสุขให้ประชาชนหรือยัง (2)

คสช. คืนความสุขให้ประชาชนหรือยัง (2)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปว่าปัจจุบันโรงพยาบาลภาครัฐส่วนมากของไทยต้องตกอยู่ในฐานะลำบากยากจน

ไม่มีเงินอย่างเหมาะสมเพียงพอทำงานในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชน 48 ล้านคนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (จาก 30 บาทเป็น 0 บาท) จนมีพี่ชายใจดีคือพี่ตูน ออกมาวิ่งหาเงินบริจาคได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังเติมเต็มให้ความขาดแคลนหมดไปไม่ได้

ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่โรงพยาบาลภาครัฐต้องลำบากยากจน นั้น เกิดจากการบริหารที่ขาดการยึดหลักธรรมาภิบาลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช. ที่ส่งเงินค่ารักษาสุขภาพผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลไม่เท่ากับต้นทุนที่โรงพยาบาลได้ใช้จ่ายจริง และไม่เท่ากับงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สปสช.ไม่ลงบัญชีว่าเป็นหนี้ที่สปสช.ยังค้างชำระให้แก่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นผลให้โรงพยาบาลมีสถานะการเงินติดลบ เพราะไม่ได้รับการชำระหนี้จากสปสช.

ในขณะที่สปสช.เอางบประมาณค่าดูแลรักษาสุขภาพปประชาชน ไปใช้จ่ายผิดประเภท /ผิดกฎหมาย กล่าวคือ เอาไปแจกจ่ายให้แก่มูลนิธิที่ไม่ใช่หน่วยงานที่ดูแลรักษาประชาชน ซึ่งหน่วยตรวจสอบของคตร. สตง. ดีเอสไอ และคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งต่างก็เคยตรวจสอบและรายงานให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคสช.ทราบแล้ว

แต่นายกรัฐมนตรีกลับออกออกคำสั่ง(คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 37/2559)ให้สปสช.ทำตามแบบเดิมต่อไปได้ จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายหลักปรปะกันสุขภาพแห่งชาติ (คำสั่งออกมาตั้งแต่เดือนก.ค. 2559)

แต่เวลาผ่านมาเนิ่นนานกว่า 1 ปีแล้ว การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น และโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีพันธะสัญญาในการรับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ก็ยังประสบปัญหาเรียกเก็บเงินจากสปสช.ไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า (ตามDRG และอื่นๆ) ทำให้โรงพยาบาลหลายร้อยแห่ง ยังมีสถานะทางการเงินติดลบ เพราะสปสช.ไม่จ่ายหนี้ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท

โรงพยาบาลเอกชนที่เคยรับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ทนแบกรับภาระการขาดทุนในการรับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทนี้ต่อไปไม่ไหว ก็ทยอยลาออกจากระบบ 30 บาทเนื่องจากเอกชนไม่สามารถที่จะทนทำงานให้แก่ลูกหนี้ ที่เบี้ยวหนี้ตลอดไปได้

มีข่าวว่า ในอีก 3- 4 เดือนที่จะถึงนี้ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่รับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทจำนวน 100,000 คน ก็ทนแบกรับภาระขาดทุนอีกต่อไปไม่ไหวแล้ว จะลาออกจากระบบ ทำให้ประชาชนอีก 100,000 คนนี้ จะต้องไปรอรับการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐบาล ที่มีผู้ป่วยมากมายแน่นขนัดจนล้นโรงพยาบาลอยู่แล้ว ไปเพิ่มความแออัดมากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลารอรับการรักษานานขึ้นอีก

ปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ไปรอรับการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐต่างก็ไม่ได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็ว เนื่องจากต้องเสียเวลารอนานอยู่แล้ว

แต่การบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากจะทำให้ผู้ป่วย(ส่วนมาก) ไม่ได้รับการรักษาอย่างสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังมีการออกระเบียบการรักษาที่ขัดต่อคุณภาพการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน จากการจำกัดการใช้ยา จำกัดเครื่องมือแพทย์ในการรักษา นับเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ป่วยในหลายๆ กรณี

สปสช.โฆษณาเกินจริงว่า “รักษาทุกโรค” แต่การรักษาเหล่านั้น บางอย่าง/บางโรคไม่ใช่การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียหายต่อสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนแล้ว ยังส่งผลเสียหายต่อการพัฒนามาตรฐานวิชาการแพทย์ของประเทศ เนื่องจากแพทย์ไม่มีประสบการณ์ใช้ยานวัตกรรมใหม่ เพราะข้อจำกัดในการใช้ยาของสปสช.

ขณะที่นายกรัฐมนตรีต้องการปฏิรูปประเทศให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไม่เร่งรัดผู้มีหน้าที่รับผิดชอบให้แก้ไขการบริหารหลักประกันสุขภาพให้ยึดหลักการธรรมาภิบาลแล้ว ระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย ก็ไม่สามารถก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้

ถ้าคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ไม่เสนอแนวทางปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขจัดปัญหาการบริหารที่ขาดธรรมาภิบาลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว คนไทยคงจะไม่ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานเหมาะสมกับความเจ็บป่วยของแต่ละคน สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต

แน่นอน คนที่สุขภาพไม่ดี ก็ย่อมจะมีผลลัพธ์ให้ไม่มีความสุข ทั้งกายและใจ

ในฐานะพลเมืองไทย จึงขอเรียกร้องให้คสช.ดำเนินการเร่งรัดในการคืนความสุขให้แก่ประชาชนพลเมืองไทย โดยการแก้ไขปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนพลเมืองไทยมีสุขภาพดีและมีความสุขตามสัญญาของคสช.ที่ว่าจะ “คืนความสุขให้ประชาชน” ในเวลาไม่นาน

โดย... 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง