คำขวัญวันรัฐมนตรี

คำขวัญวันรัฐมนตรี

ช่วงนี้ยังเป็นช่วงต่อเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ มีวันสำคัญ 2 วัน คือ "วันเด็กแห่งชาติ" กับ "วันครู"

วันเด็กนั้น โดยปกติจะมีการประกาศ "คำขวัญ" ของนายกรัฐมนตรี เริ่มมาตั้งแต่ยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี 2499 มอบคำขวัญวันเด็กว่า "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม"

จากนั้นเกือบทุกปีก็จะมีคำขวัญวันเด็ก ซึ่งคำขวัญแต่ละปีก็สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของนายกฯในฐานะผู้มอบคำขวัญ และยังสะท้อนภาพของสังคมในยุคนั้นๆ เป็นความคาดหวังของสังคมและรัฐบาลที่มีต่อเด็ก เช่น ในปี 2504 ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้คำขวัญว่า "ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย"

หลังจากนั้นคำขวัญวันเด็กก็จะเน้นไปที่ “ความขยันหมั่นเพียร” กระทั่งมาถึงยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คำขวัญวันเด็กมักมีคำว่า "ประหยัด" เข้าไปผสมอยู่ด้วย เช่น "นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม" สะท้อนถึงสถานการณ์ของประเทศในยุคนั้นที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงต้องรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัด

กระทั่งยุคปัจจุบัน "นายกฯลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มอบคำขวัญวันเด็กว่า "รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี" สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลเรื่องไทยแลนด์ 4.0

ส่วนคำขวัญวันครูก็คล้ายๆ กัน คือเน้นไปที่การปลุกจิตสำนึกให้เห็นความสำคัญของครู ในฐานะผู้ที่สร้างคน สร้างชาติ ปลูกฝังเยาวชนให้เป็นคนดี

ปี 2529 วงดนตรี "คาราบาว" แต่งเพลงชื่อ "วันเด็ก" มีเนื้อหาตั้งคำถามเชิงเสียดสีว่า ทำไมบ้านเราจึงมีแต่คำขวัญวันเด็ก ไม่เห็นมีคำขวัญ "วันผู้ใหญ่" บ้าง แถมยังประชดตอนท้ายเพลงว่าถ้ามีคำขวัญวันผู้ใหญ่ ก็น่าจะบอกว่า "ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่คุณความดี อย่ากอบโกยกินกันมากนัก..." โดยนัยแขวะไปถึงนักการเมือง และผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

ผ่านมากว่า 30 ปี ประเทศไทยก็ยังไม่มีคำขวัญวันผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพวกที่มีอำนาจวาสนาได้เชิดหน้าชูคอปกครองบ้านเมืองในฐานะเสนาบดี ซึ่งน่าจะมี "วันรัฐมนตรี" และมีคำขวัญปลุกจิตสำนึกของคนเหล่านี้บ้าง

คำขวัญวันรัฐมนตรีที่อินเทรนด์และสะท้อนภาพได้ตรงที่สุด ณ วันนี้ก็คือ "เป็นรัฐมนตรีเมืองไทย ทรัพย์สินเยอะแค่ไหน ก็ไม่ต้องแจ้ง ป.ป.ช." และ "เป็นรัฐมนตรีดีกว่า ได้สวมแหวนเพชรแทงตา นาฬิกาสุดหรู"