กับดักนวัตกรรม ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง

กับดักนวัตกรรม ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง

นวัตกรรม เป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กล้วนอยากให้เกิดขึ้นในองค์กรของตนเอง

ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโดยตรง หรือเกิดขึ้นจากกระแสที่โจษจันจากบุคคลภายนอกว่า นวัตกรรมจะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ และเป็นสิ่งที่ธุรกิจจำเป็นต้องแสวงหาให้ได้

ส่วนใหญ่แล้ว กระแสเกี่ยวกับนวัตกรรมเชิงธุรกิจมักจะอ้างถึงแต่สิ่งที่ดีงามที่จะเกิดขึ้นจากการมีนวัตกรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งแล้ว การสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรธุรกิจ มักจะมีกับดักเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ไม่มีใครในองค์กรอยากพูดถึง

เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ ไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำยุคขึ้นได้โดยง่าย

กับดักสำคัญที่สุดแต่มักจะไม่มีใครมองเห็นหรือไม่ได้นึกถึง ได้แก่ ธรรมชาติของการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม นั่นเอง

นวัตกรรมมักจะมีที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของคนในองค์กร ดังนั้น เส้นทางเดินของนวัตกรรมที่จะประสบ ความสำเร็จ มักจะทำให้เกิดผลกระทบขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนของการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ให้กับองค์กร

ด้วยหลักคิดง่ายๆ เมื่อความคิดหนึ่งได้รับการคัดเลือก ความคิดอื่นๆ จากคนอื่นๆ อีกหลายคน ก็จะต้องตกไปโดยปริยาย

การสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นในองค์กร ก็คือการแข่งขันกันในการที่จะทำให้ความคิดของตนเองได้รับการตอบรับจากผู้บริหารระดับสูง มากกว่าความคิดของคนอื่นในหมู่เพื่อนร่วมงานด้วยกัน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ ความรู้สึกของสมาชิกในองค์กรที่คิดว่า ตนเองต้องตกเป็น “ผู้แพ้” เนื่องจากความคิดริเริ่มที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณาหรือได้รับการคัดเลือกจากผู้บริหาร

ซึ่งแน่นอนว่า จะมีจำนวนคนมากกว่าที่จะรู้สึกว่าเป็น “ผู้แพ้” มากกว่าจำนวนผู้ที่จะรู้สึกว่าตนเองเป็น “ผู้ชนะ” ในบริษัท

สำหรับองค์กรที่ไม่มีวัฒนธรรมของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือยังไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับวัฒนธรรมของการเป็นองค์กรนวัตกรรม ที่ยังยึดติดอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้น กับดักแรก ที่จะเกิดขึ้นก็คือ ผู้ที่มีความรู้สึกว่า ตัวเองเป็น “ผู้แพ้” ก็จะค่อยๆ ลดความอยากที่จะแสดงความคิดริเริ่มใหม่ๆ ของตนเองลงไปในที่สุด

กับดักที่ 2 ที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ การต่อต้านหรือไม่ยอมรับกระแสความคิดใหม่ๆ เนื่องจาก ความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง ของคนอื่นๆ ในองค์กร

ทำให้ความติดริเริ่มของนวัตกรรม จะถูกติติง ทักท้วง จากการยกเหตุผลต่างๆ มาอ้าง ไม่ว่าจะเรื่องการลงทุน ความไม่พร้อม หรือค่าใช้จ่ายที่จะต้องเพิ่มขึ้นในระยะแรก ฯลฯ

ทั้งๆ ที่อาจเป็นเหตุผลที่คาดการณ์ไปเองทั้งสิ้น

และนอกจากธรรมชาติของการไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งที่คุ้นเคย ในบางกรณี อาจมีหน่วยงานที่รู้สึกว่า ความคิดริเริ่มของนวัตกรรมที่ได้นำเสนอ อาจทำให้ต้องเปิดเผยถึงจุดบกพร่องที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของหน่วยงานที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้

ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของความคิดริเริ่ม ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหานานับประการ ทั้งๆ ที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อองค์กร

เป็นผลให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์อยากเริ่มสิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กรเกิดความท้อถอยที่จะต้องต่อสู้เพื่อปกป้องความคิดของตนลงไป

กับดักที่ 3 ได้แก่ การที่ความคิดริเริ่มใหม่ มักจะ ขาดข้อมูลของความสำเร็จมายืนยันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผู้ที่มักยกประเด็นนี้ขึ้นมาขัดขวางความคิดนวัตกรรม แต่ก็ลืมไปว่า หากเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อน จะหาข้อมูลรองรับได้อย่างไร

ดังนั้นจึงมักเกิดคำถามที่ท้าทายจากผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจ ในทำนองที่ว่า มีใครที่ทำอย่างนี้บ้างแล้ว และผลเป็นอย่างไร

ถ้าเผอิญมีข้อมูลได้มา ก็แสดงว่า ความคิดนั้นไม่ใหม่จริง เพราะเคยมีคนทำมาแล้ว!!

กับดักพื้นฐานเหล่านี้ จะทำให้วัฒนธรรมของการเป็นองค์กรนวัตกรรมเกิดขึ้นได้ยาก และความคิดริเริ่มใหม่ๆ มักจะถูกสกัดไม่ให้โอกาสได้นำความคิดไปทดลองเพื่อพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

จึงจะเห็นได้ว่า องค์กรธุรกิจโดยทั่วไป จึงมักที่จะติดกับดักในการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ออกสู่ตลาด แต่จะยังคงยึดติดอยู่กับผลิตภัณฑ์หรือความสำเร็จทางการตลาดแบบเดิมๆ

จนบางครั้ง กลายเป็นธุรกิจที่ไม่ได้พัฒนาตนเอง ปล่อยให้ธุรกิจเติบโตไปตามธรรมชาติ

ทำให้มีสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่เห็นช่องว่างและโอกาสที่จะสร้างโมเดลธุรกิจที่ง่ายๆ แต่ให้ความแตกต่าง มาสร้างความฮือฮาให้กับตลาดที่เจ้าของตลาดเดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาของผู้บริโภคได้ทันท่วงที

ทำให้ธุรกิจที่เป็นเจ้าของตลาดเดิมถูกปั่นป่วนหรือถูก Disrupt ได้โดยสตาร์อัพหน้าใหม่ โดยแทบไม่ทันรู้สึกตัว แม้แต่คนในองค์กรที่ขัดขวางความคิดริเริ่มสร้างนวัตกรรมของเพื่อนร่วมงาน!!??