ประชาธิปไตยต้องรวมสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

ประชาธิปไตยต้องรวมสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทน เป็นเพียงข้อหนึ่งของสิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ประชาชนยังมีสิทธิทางการเมืองข้ออื่นๆ

เช่น เข้าชื่อกันเพื่อคว่ำกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม, เสนอกฎหมายใหม่ เสนอให้ถอดถอนนักการเมือง ประชาชนมีสิทธิในการบริหารจัดการระดับท้องถิ่น

สิทธิการทำประชาพิจารณ์และลงประชามติในเรื่องนโยบาย โครงการ, การออกกฎหมายใหม่ที่สำคัญ สิทธิในการพูด เขียน การเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อศาสนา การคัดค้าน, ชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติวิธี ฯลฯ

ควบคู่กับสิทธิทางการเมืองที่กล่าวมา ประชาชนยังมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทางโอกาส ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ถ้าประชาชนไทยยังไม่เข้าใจ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเหล่านี้ได้ ประเทศก็จะยังคงล้าหลังต่อไป

สิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือ สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่สนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคนได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรมส่วนสิทธิเสรีภาพทางสังคม คือสิทธิที่ประชาชนควรจะเข้าถึงการศึกษา การสาธารณสุข และบริการทางสังคมอื่นๆ ที่จำเป็น/เป็นประโยชน์ มีคุณภาพ อย่างทั่วถึงเป็นธรรม

แต่การที่รัฐบาลไทยไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการยึดอำนาจล้วนมีแนวคิด/พฤติกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมสุดโต่ง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในหมู่คนไทยมาก ทั้งเศรษฐกิจและสังคม เช่น ลูกคนรวย และคนชั้นกลางได้เรียนในโรงเรียน 400 แห่งที่มีคุณภาพสูงกว่า คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจนได้เรียนในโรงเรียน 3 หมื่นแห่งที่คุณภาพต่ำกว่า

คำว่า สิทธิ หมายถึงสิ่งที่เป็นของที่ประชาชนควรได้อยู่แล้ว ประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนักการเมืองกลุ่มใดที่หาเสียงว่าพวกเขาเป็นผู้ให้บริการสาธารณะต่างๆ แก่ประชาชน โครงการบริการสาธารณะต่างๆ ล้วนใช้งบประมาณของรัฐ ที่มาจากภาษีที่ประชาชนจ่ายทั้งทางตรง (ภาษี-รายได้) และทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน ฯลฯ ทั้งนั้น

งบของรัฐส่วนหนึ่งได้มาจากรายได้จากสัมปทานการใช้ทรัพยากรส่วนรวมของประเทศ และผลกำไรจากรัฐวิสาหกิจผูกขาดบางประเภท ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ก็คือสมบัติส่วนรวมของประชาชนด้วยเช่นกัน ประชาชนคือเจ้าของงบประมาณรัฐบาล นักการเมืองที่เข้าไปเป็นรัฐบาล รวมทั้งข้าราชการรวมทั้งทหาร ตำรวจ ได้ตำแหน่ง, อำนาจ และเงินเดือน เพื่อทำงานเป็นผู้ให้บริการต่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อเป็นนายประชาชน

เราควรช่วยกันอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองเพิ่มขึ้นว่า พลเมืองคือคนที่มาอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีเป้าหมายและสัญญาประชาคมร่วมกันกับรัฐบาล ว่าประชาชนจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐบาลต้องบริหารประเทศเพื่อส่วนรวม

เราควรปฏิรูปการศึกษา/การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศตระหนักรู้ว่า ในสังคมสมัยใหม่ประชาชนมีสิทธิและหน้าที่อะไรบ้าง ประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธิที่เขาควรจะได้อย่างไร และควรสนใจตื่นตัวที่จะใช้สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิการแสดงความคิดเห็น เรียกร้องในเรื่องต่างๆ ฯลฯ อย่างกระตือรือร้นและรับผิดชอบ

“สิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมืองไม่ใช่ของขวัญที่ใครจะให้ใครได้ ประชาชนต้องเรียนรู้ที่จะช่วงชิงมันมา”

การปรองดองสามัคคีและการร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันเพื่อการพัฒนาประเทศชาติเพื่อประโยชน์ของทุกคนจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อประชาชนตื่นตัวเรื่องการใช้สิทธิและทำหน้าที่พลเมืองที่รับผิดชอบ เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่ตนรู้สึกเป็นเจ้าของและสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้เพิ่มขึ้น

สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนที่สำคัญ

  1. สิทธิที่ประชาชนควรจะได้เป็นเจ้าของและผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน ทุน และอื่นๆ มีงานทำที่เหมาะสมและได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม ดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี
  2. สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาทีมีคุณภาพสูงแบบใช้งานได้-การศึกษาที่จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาตัวผู้เรียนได้จริง อย่างทั่วถึงเป็นธรรม

การจะช่วยให้ประชาชนได้สิทธิเหล่านี้ ข้อ 1. คือต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ข้อ 2. ต้องปฏิรูปการศึกษา ทำให้ประชาชนทั้งประเทศ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ปฏิรูปครูอาจารย์และปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพสูงใกล้เคียงกัน เด็กเยาวชนทุกคนได้เรียนฟรี และมีทุนค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับคนรายได้ต่ำ จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ควรมีสิทธิและโอกาสที่ได้รับการศึกษา ฝึกอบรมที่ใช้งานได้ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาและมีฐานะรายได้อย่างน้อยระดับปานกลางขึ้นไป ประชาชนจะมีวิจารณญาณและอำนาจต่อรองในการเลือกผู้สมัครผู้แทน ทำให้ผู้สมัครผู้แทน ต้องฟังเสียงประชาชน ดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของภาคประชาชนเพิ่มขึ้น

สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ ที่ประชาชนควรตระหนักและต่อรองเรียกร้องให้ได้มาควบคู่กันไปคือ สิทธิในเรื่องที่ทำกินและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชน สิทธิในการได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง สิทธิผู้บริโภค ฯลฯ ต่อเมื่อประชาชนรู้จักการเรียกร้องต่อรองเพื่อให้ตนเองได้รับสิทธิและโอกาสในทางเศรษฐกิจสังคมอย่างทั่วถึง เป็นธรรมเพิ่มขึ้นเท่านั้น พวกเขาจึงจะมีอำนาจต่อรองที่ทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศในทุกด้านที่แท้จริง

สังคมที่สนับสนุนการปฏิรูปให้ประชาชนได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทางโอกาสทั้งเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอย่างทั่วถึงเป็นธรรม จะเป็นสังคมที่สามารถสร้างความไว้วางใจ การร่วมมือกัน และสามัคคี ปรองดอง ในหมู่ประชาชนได้มากขึ้น สามารถที่จะแข่งขันและร่วมมือกับประเทศอื่นในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

การจะปฏิรูปประชาชนให้มีความรู้ มีฐานะทางเศรษฐกิจ ให้ทั้งปัจเจกชน/ชุมชนพึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้น ต้องปฏิรูปจากล่างขึ้นบน คือประชาชนช่วยกันสร้างภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ไปตรวจสอบผลักดันนักการเมืองและชนชั้นนำให้ต้องปฏิรูปการทำงานของพวกเขา

เพราะชนชั้นนำไม่ว่านายทหาร ข้าราชการชั้นสูง นักการเมือง ที่มีอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองสูง ย่อมจะคิดและทำงานเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวกมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ ต่อเมื่อภาคประชาชนฉลาดและเข้มแข็งพอที่จะตรวจสอบผลักดันพวกนักการเมือง/ข้าราชการได้มากขึ้นเท่านั้น จึงจะทำให้พวกนักการเมือง/รัฐบาลต้องเริ่มลงมือปฏิรูปบ้าง เพื่อหวังจะได้การสนับสนุนจากประชาชน