แยกเนื้อออกจากน้ำ

แยกเนื้อออกจากน้ำ

กระบวนการ 'แยกเนื้อออกจากน้ำ' นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับงานทุกสายอาชีพ

ในการเป็นที่ปรึกษากฎหมายนั้น กระบวนการหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญมากคือการกลั่นกรองข้อมูลว่าอะไรสำคัญ/อะไรไม่สำคัญ และอะไรจริง/อะไรเท็จ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคดีความหรือในการเจรจาต่อรองสัญญาทางธุรกิจ ซึ่งผมมักจะบอกกับใครๆ ว่ามันคือกระบวนการ 'แยกเนื้อออกจากน้ำ' ซึ่งในบางข้อมูลก็มีทั้งน้ำทั้งเนื้อ แต่ในบางข้อมูลก็มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ

ผมเชื่อเสมอว่ากระบวนการ 'แยกเนื้อออกจากน้ำ' นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับงานทุกสายอาชีพไม่ใช่เฉพาะในสายงานที่ปรึกษากฎหมายที่ผมทำอยู่เท่านั้น และยังสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เพราะในการทำงานหรือการใช้ชีวิต เราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยหรือถึงขั้นเสียหายได้ถ้าไปใช้เวลาอยู่กับเรื่องที่เป็นเท็จหรือเรื่องที่มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ

คนที่จะสามารถ 'แยกเนื้อออกจากน้ำ' ได้จึงต้องมีความสามารถในการ 'ฟัง' (ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปแล้วในตอนที่ให้ชื่อว่า 'ฟังแต่ไม่ได้ยิน') และมีความสามารถในการ 'อ่าน' 

ในส่วนของการ 'อ่าน' นั้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคนในยุคปัจจุบันซึ่งมีข้อมูลข่าวสารให้อ่านเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเป็นพันเท่าหรือมากกว่านั้นจากในอดีตที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่ปี ซึ่งเป็นผลมาจากพัฒนาการที่เกิดขึ้นในโลก online หรือ internet โดยจากการสำรวจของบริษัทอเมริกันคือ The Radicati Group, Inc. พบว่าในปี 2014 ประชากรในภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริการับและส่ง emails โดยเฉลี่ย 121 ข้อความต่อวันและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 140 ข้อความต่อวันในปี 2018 และในส่วนของประชากรโลกนั้นคาดว่าจำนวน email accounts จะเพิ่มขึ้นจาก 4.1 พันล้านในปี 2014 เป็นมากกว่า 5.2 พันล้านในปี 2018

นอกจาก emails แล้วผู้คนในยุคปัจจุบันยังต้องเสียเวลาเป็นอย่างมากกับการรับและส่งข้อความใน social media ต่างๆ เช่น Facebook, Line, Twitter ฯลฯ ซึ่งจากสถิติในปี 2016 มีคนไทยใช้ Facebook ถึง 41 ล้านคนคิดเป็น 60% ของประชากรไทย ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ใช้ Line 33 ล้านคน และใช้ Twitter 5.3 ล้านคน

การ 'อ่าน' เพื่อทำการ 'แยกเนื้อออกจากน้ำ' นั้นจะต้องมีกระบวนการตั้งคำถามและหาคำตอบว่าเราต้องการอะไรจากข้อความที่อ่านอยู่ หรือแม้กระทั่งคำถามที่ว่าทำไมเราต้องเสียเวลาอ่าน ไม่อ่านจะได้ไหม (SQ3R – Speed Reading Technique ประกอบด้วย Survey, Question, Read, Recite, Review จากหนังสือ Effective Study ของ Francis Robinson) ซึ่งต้องใช้สมาธิในการคิดและวิเคราะห์ ดังนั้น ในสภาพการณ์ปัจจุบัน หากเรายังเพลิดเพลินอยู่กับการอ่านข้อมูลข่าวสารในเชิงปริมาณไม่ทำการ 'แยกเนื้อออกจากน้ำ' เราก็จะกลายเป็นพวก Information Overload ชีวิตอยู่กับเรื่องที่มีแต่น้ำไม่มีเนื้อเป็นส่วนใหญ่รวมทั้งอาจมีเรื่องที่เป็นเท็จด้วย

การแก้ปัญหาไม่ให้คนไทยในยุคปัจจุบันและในอนาคตกลายเป็นพวก Information Overload มีขีดความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ต่ำ จึงต้องอยู่ที่การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งนักการศึกษาทั่วโลกกำลังตั้งคำถามว่าเหตุใดการศึกษาจึงมุ่งที่จะสอนเนื้อหาจำนวนมากแทนที่จะมุ่งพัฒนาส่วนสำคัญที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ เช่น ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สะท้อนอยู่ในระบบการศึกษาไทยเช่นเดียวกัน

การปฏิรูปการศึกษาของไทยต้องการคนที่รู้จริงและเข้าใจปัญหา ซึ่งเมื่อปลายปีที่แล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันหลายตำแหน่ง โดยมีชื่อ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร (คุณหมออุดม) เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย

ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณหมออุดมในฐานะที่เราต่างเป็นกรรมการของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ) ก่อนที่คุณหมออุดมจะลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจากการที่ได้เคยพูดคุยกันและได้ฟังคุณหมออุดมพูดถึงเรื่องการศึกษา ผมเชื่อว่าคุณหมออุดมเป็นคนเก่งที่สนใจเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก มีประสบการณ์สูง และเข้าใจปัญหาเรื่อง Information Overload รวมทั้งการที่ระบบการศึกษาของไทยสร้างคนโดยไม่ตอบโจทย์ความต้องการในความเป็นจริงของสังคมและตลาดงานเป็นอย่างดี การที่คุณหมออุดมได้เข้าไปทำงานในระดับวางนโยบายของชาติในด้านการศึกษาจึงทำให้ผมเกิดมีความหวังว่าการปฏิรูปการศึกษาของไทยจะก้าวหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

(We are teaching people lots of stuff, but not the important stuff… There’s a lot of communication but not conversation. There’s a lot of quantity but not quality. จากหนังสือ Too Fast To Think โดย Chris Lewis)