ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างไร

ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างไร

ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างไร

เริ่มต้นปีใหม่นี้ มีผู้ทำงานภาคเอกชนเกษียณอายุงานกันมากพอสมควร เพราะกลุ่มที่เกษียณอายุงานในช่วง 6-7 ปีนี้เป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ของไทย ดังนั้นจึงจะมีจำนวนมากกว่าปกติค่ะ

ยุคเบบี้บูมเมอร์ หมายถึงยุคที่คนนิยมมีลูกหลายคน เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ในสหรัฐอเมริกาและซีกโลกตะวันตก เกิดจากการส่งเสริมของรัฐบาล เพื่อสร้างประชากรทดแทนคนหนุ่มที่เสียชีวิตในสงคราม โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับไทย ก็เป็นช่วงที่รัฐบาลสนับสนุนเช่นกัน เพราะผู้นำต้องการสร้างชาติ จึงอยากให้มีประชากรมากๆ

นอกจากนี้ เนื่องจากการสาธารณสุขยังไม่ดีนัก โอกาสที่เด็กจะรอดชีวิต และเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงต่ำกว่าในปัจจุบันมาก พ่อแม่จึงนิยมมีลูกหลายคน เรียกว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่งค่ะ

สมัยก่อน การวางแผนเกษียณอายุงานที่นิยมทำกันก็คือการมีลูก เพราะคาดหวังว่าลูกจะเลี้ยงดูพ่อแม่ ดังนั้นแม้จะไม่เคยวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ แต่คนในยุคก่อนก็สามารถมีชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสุขสบายพอสมควร

แต่สมัยนี้ต่างกันค่ะ ลูกๆที่สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวของตัวเองโดยไม่ต้องกลับมาพึ่งพาคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย มีจำนวนน้อยลง  หรืออาจจะกล่าวได้ว่า แทบไม่มีครอบครัวไหน ไม่ต้องพึ่งพารุ่นพ่อแม่ ในการเลี้ยงดูลูกของตัวเองเลย ไม่พึ่งพาเงินทอง ก็พึ่งพาเวลา หรือแรงงาน ในการช่วยดูแล

ในวันนี้ ดิฉันอยากนำเสนอข้อคิดสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุงาน สำหรับผู้ที่เกษียณ หรือใกล้เกษียณ ในฐานะผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกันค่ะ ข้อคิดบางอย่างก็เคยเขียน หรือให้สัมภาษณ์ หรือบรรยายในงานต่างๆไปบ้างแล้ว

ข้อคิดประการแรกคือ ยังไม่ต้องหยุดทำงาน หากยังสนุกที่จะทำ  หลายท่านรู้สึกว่าง จากที่เคยต้องตื่นเช้าไปทำงาน กลายเป็นว่าทุกวันคือวันหยุด แรกๆ อาจจะดีใจ ผ่านไปหลายๆวันอาจจะเริ่มเบื่อ ขอแนะนำให้หางานแบบไม่เต็มเวลาทำค่ะ ไปสัปดาห์ละสองสามวัน หรือไปครั้งละครึ่งวัน เพราะสุขภาพของคนในวัยหกสิบปีปัจจุบัน แข็งแรงกว่าในสมัยก่อนมาก และการทำงานนอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้แก่ท่านแล้ว การได้ออกไปนอกบ้านบ้างจะทำให้ท่านมีชีวิตชีวาขึ้นค่ะ

ประการที่สอง หากไม่ต้องการรายได้เพิ่ม ควรเข้าไปช่วยงานอาสาสมัคร ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเด็ก ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อม ฯลฯ ด้วยจุดมุ่งหมายคล้ายกับการทำงานโดยมีค่าตอบแทน คือเพื่อให้มีชีวิตชีวา

ประการที่สาม ใช้เวลากับการทำงานอดิเรกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใด ถ้ามีความสนใจอยู่แล้ว ควรสานต่อ หลายท่านกลายเป็นศิลปิน นักร้อง จิตรกร ช่างปั้น เมื่ออายุเลยหกสิบปี และมีความสุขมากกับความสามารถพิเศษของตนเองที่เพิ่งค้นพบหลังเกษียณ

ข้อคิดประการที่สี่คือ จัดตารางเวลา หากไม่จัดตารางเวลาให้ดี เวลาในวันๆหนึ่งจะหมดไปอย่างรวดเร็ว และเราอาจจะไม่ได้ทำอะไรตามที่เราอยากจะทำ

ข้อคิดประการที่ห้า อย่าหยุดเรียนรู้ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทำให้สมองของเราถูกกระตุ้น และเราอาจจะพบว่าในโลกนี้มีสิ่งที่น่ามหัศขรรย์ น่าเรียนรู้มากมาย เมื่อนำการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ มาผนวกเข้ากับประสบการณ์ที่เรามีอยู่ เราอาจจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆใหม่ๆให้กับสังคม ให้กับโลกนี้ได้ค่ะ

ข้อคิดประการสุดท้ายที่อยากฝากไว้ และเป็นข้อที่สำคัญที่สุด คือ เราไม่สามารถเตรียมทุกอย่างให้ครบถ้วนก่อนเกษียณได้ แม้ว่าเราจะเตรียมการณ์มาอย่างดีก็ตาม ดังนั้นจึงไม่ควรเป็นกังวลว่า อันนี้ยังไม่พร้อม อันนั้นยังไม่เสร็จ อันโน้นยังไม่สมบูรณ์ เมื่อถึงเวลานั้น เราต้องไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าค่ะ ทุกอย่างจัดการได้ ขอให้มีทัศนคติที่ดี มองโลกในแง่ดี และทำใจรับสิ่งต่างๆที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต

เท่านี้เราก็มีความสุขแล้วค่ะ

ท้ายนี้ ขอฝากโคลงที่ชอบมาก ท่องมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น อยู่ในโปสเตอร์ของฮอลมาร์ค ที่เคยซื้อ แต่ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง มีความหมายดี และอยากฝากเป็นของขวัญสำหรับผู้เกษียณอายุงานและผู้อ่านทุกคนในปีใหม่นี้ค่ะ

                Everyday has something in it

            For your pleasure and surprise.

            Something that will bring you laughter,

            Something that will make you bright.

            Go to meet life with a welcome!

            Greeting all the hours with cheer!

            For there is always something in everyday of every year.

                มีบางอย่างในทุกๆวัน  ที่จะทำให้เบิกบานและแปลกใจ

                บางอย่างที่จะทำให้หัวเราะ  บางอย่างที่ทำให้สดชื่น

                จงออกไปใช้ชีวิตด้วยความยินดี  จงต้อนรับทุกชั่วโมงด้วยใจเริงรื่น

                เพราะมีบางอย่างอยู่เสมอในทุกๆวัน ของทุกๆปี