1800 จุด พอร์ตคุณแดงหรือเขียว?

1800 จุด พอร์ตคุณแดงหรือเขียว?

1800 จุด พอร์ตคุณแดงหรือเขียว?

บรรยากาศการลงทุนที่คึกคักต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วมาถึงต้นปีใหม่จนดัชนี SET มาแตะที่ 1800 จุดเป็นครั้งแรก ทำให้นึกถึงบรรยากาศการลงทุนในปีที่แล้วช่วงกลางเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนตุลาคมที่ดัชนี SET ปรับขึ้นจาก 1550 จุดมาที่ 1700 จุดในเวลา 2 เดือน

สถานการณ์ตอนนี้ต่างจากในตอนนั้นค่อนข้างมากถ้าดูเจาะลึกลงไปถึงหุ้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนดัชนี SET ในช่วงปีที่แล้วการปรับขึ้นของดัชนีในตอนนั้นมาพร้อมๆกันทั้งหุ้นขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยดัชนี SET ปรับขึ้นประมาณ 10% พร้อมๆกับดัชนี SET50 และ sSET (ดัชนีที่เป็นตัวแทนของหุ้นขนาดเล็ก) ที่ปรับขึ้นมาใกล้เคียงกัน 10% ทำให้รวมๆแล้วพอร์ตลงทุนของนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ก็กำไรไปพร้อมๆกัน

ขณะที่การปรับตัวของดัชนีมาที่ 1800 จุดในรอบนี้แตกต่างออกไป ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้วดัชนีปรับขึ้นมาจาก 1700 จุด โดยดัชนี SET50 ขึ้นเกือบ 8% ในขณะที่ดัชนี sSET กลับปรับตัวลดลง 1% สวนทางกับตลาดใหญ่ ดูจากตัวเลขตรงนี้คงเป็นที่มาว่าทำไมพอร์ตนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดเล็กดูไม่ขยับไปไหนเลย ขณะที่นักลงทุนที่ไม่ได้ใกล้ชิดตลาดมาก ไม่ถนัดหรือไม่มีเวลาเลือกหุ้นเป็นตัวๆไป แต่ไปลงเงินในกองทุนดัชนี SET50 กลายเป็นได้ผลตอบแทนที่เยอะกว่า

การปรับตัวของตลาดหุ้นสหรัฐที่ทำ New High ไปเรื่อยๆ ค่า P/E ของตลาดหุ้นสหรัฐที่ว่าแพงแล้วก็แพงขึ้นไปอีก ทำให้ตลาดหุ้นไทยที่เคยถูกมองว่าไม่ถูกมากที่ P/E 16-17 เท่าก็กลายเป็นดูน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐที่ตอนนี้เทรดกันที่ P/E 22-23 เท่า การโยกย้ายเงินลงทุนของต่างชาติ หรือของนักลงทุนสถาบันจึงเน้นเข้ามาที่หุ้นพื้นฐานดีและขนาดใหญ่ในประเทศไทย

การโยกย้ายเงินทุนมาเข้าตลาดหุ้นทั่วโลกตรงนี้ยังถูกเสริมด้วยมุมมองของนักลงทุนทั่วโลกที่เห็นไปทางเดียวกันว่าจะต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ สะท้อนผ่านค่าความน่าจะเป็นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟดที่ 80%-85% ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาล่วงหน้าก่อนการประชุมเฟดในเดือนมีนาคมถึง 3 เดือนกว่าๆ (ปกติแล้วความน่าจะเป็นตรงนี้จะขึ้นถึง 80% ประมาณ 1-2 เดือนก่อนการประชุม) ความมั่นใจในทิศทางดอกเบี้ยตรงนี้ทำให้ความผันผวนของดอกเบี้ยระยะสั้นและอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดน้อยลง การบริหารจัดงานเงินทุนที่เคลื่อนย้ายไปต่างประเทศนั้นทำได้ง่าย ทำให้เกิดการโยกย้ายเงินลงทุนในระยะสั้นเข้าตลาดหุ้นทั่วโลกพร้อมๆกัน

การเก็งกำไรบนหุ้นขนาดใหญ่ยังเสริมด้วยแรงเก็งกำไรของนักลงทุนรายย่อยที่ใช้ Leverage ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆก็เน้นลงทุนไปหุ้นขนาดใหญ่ เห็นได้จากมูลค่าซื้อขายที่เพิ่มขึ้นของ DW บนดัชนี SET50 และหุ้นขนาดใหญ่ที่นำตลาด รวมถึงปริมาณซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งที่อ้างอิงหุ้น (Single Stock Futures) และอ้างอิงดัชนี SET50 ที่เพิ่มขึ้นตาม

โดยรวมแล้วกระแสการเก็งกำไรบนหุ้นขนาดใหญ่น่าจะมีอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี นักลงทุนจำเป็นต้องติดตามข้อมูลเครื่องมือต่างๆที่ผมยกตัวอย่างมาใช้เรื่อยๆเพื่อประกอบการวางกลยุทธ์ในการลงทุนต้นปี 2561 เช่น ค่าความน่าจะเป็นของ Fed Fund Rate และปริมาณการซื้อขาย DW และ Futures เป็นต้น