ไฉนอิหร่านกับซาอุฯ จึงกลายเป็นศัตรูคู่แค้น

ไฉนอิหร่านกับซาอุฯ จึงกลายเป็นศัตรูคู่แค้น

ทำไมอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียจึงเป็นศัตรูรุนแรงถึงขั้นไม่เผาผีกัน

นั่นเป็นคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างผมเยือนอิหร่านเมื่อเร็ว ๆ นี้

คำตอบแรกก็คงจะเป็นว่าสองประเทศนี้แย่งชิงอิทธิพลในตะวันออกกลาง

คำตอบต่อมาก็คือความระหองระแหงอันเกิดจากที่มีนิกายในศาสนาอิสลามต่างกัน กว่าร้อยละ 90 ของคนอิหร่านนับถือนิกายชีอะฮ์ ขณะที่ซาอุฯวางตัวเป็นแกนนำของนิกายสุหนี่

ประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางที่นับถือนิกายไม่เหมือนกัน ต่างก็ต้องการให้อิหร่านหรือซาอุฯเป็นแกนหลักในการปกป้องตนเอง

แต่เดิมซาอุฯดูเหมือนจะเป็นผู้นำอิสลามในตะวันออกกลาง แต่ฐานะนั้นถูกท้าทายโดยอิหร่านหลังจากการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 โดยอยาตอลลอฮ์ โคมัยนี ซึ่งมีผลทำให้อิหร่านมีฐานะเป็นผู้นำอิสลามที่ตระหง่านขึ้นมาเทียบเท่าซาอุฯในอดีต

หลายเหตุการณ์ในตะวันออกกลางมีส่วนทำให้ความระแวงสงสัยกันและกันระหว่างสองประเทศนี้ยิ่งยกระดับขึ้น

เมื่อสหรัฐบุกอิรักในปี 2003 เพื่อโค่นซัดดัม ฮุสเซน (อาหรับนิกายสุหนี่) อิหร่านก็ผงาดขึ้นมาเพราะศัตรูคนสำคัญข้างบ้านหลุดหายไปจากวงจร

ปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ในตะวันออกกลางหลายประเทศที่มาในรูปของการคว่ำผู้นำที่รวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางของตนเอง ทำให้เกิดการแย่งชิงอิทธิพลครั้งสำคัญระหว่างซาอุฯกับอิหร่าน

ไฉนอิหร่านกับซาอุฯ จึงกลายเป็นศัตรูคู่แค้น

สมรภูมิการประชันขันแข่งเพื่อสร้างอิทธิพลระหว่างซาอุฯกับอิหร่าน ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางการเมือง ก็เห็นจะหนีไม่พ้นซีเรีย บาห์เรน และเยเมน

ในซีเรีย อิหร่านกับรัสเซียหนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดขณะที่ซาอุฯ (กับสหรัฐ) สนับสนุนข้างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่มที่ต้องการจะโค่นรัฐบาลซีเรีย

ที่เยเมน อิหร่านมีบทบาทสูงพอที่จะทำให้ซาอุฯเชื่อว่า กลุ่มต่อต้านในประเทศนั้นกล้าตั้งป้อมโจมตีซาอุฯ ก็เพราะอิหร่านให้ท้าย ด้วยการส่งทั้งอาวุธและที่ปรึกษาไปให้

เลบานอนก็กลายเป็นสมรภูมิแห่งสงครามตัวแทนของซาอุฯกับอิหร่าน

เมื่อเร็ว ๆ นี้นายกฯเลบานอนประกาศลาออกจากตำแหน่งขณะที่ไปเยือนซาอุฯ

นักวิเคราะห์เชื่อว่าที่เกิดเรื่องแปลก ๆ อย่างนี้เป็นผลจากแรงกดดันของซาอุฯ ที่ต้องการจะสร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐบาลเลบานอนที่กลุ่มเฮซโบเลาะห์ (กลุ่มติดอาวุธนับถือนิกายชีอะฮ์) ที่เป็นกลุ่มการเมืองสำคัญในรัฐบาลผสมของเลบานอน

เมื่อทรัมป์ประกาศเข้าข้างซาอุฯเต็มที่ อิหร่านก็ต้องหันไปคบกับจีนและรัสเซีย กลายเป็น “สงครามตัวแทน” ในระดับสากลอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมาทันที

ยิ่งเมื่ออิสราเอลกับซาอุฯดูเหมือนจะจับมือกัน (เพราะทรัมป์สนับสนุนทั้งคู่) เพื่อสกัดอิหร่านในเกมใหม่นี้ ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงความไม่ปกติของสถานการณ์ในย่านนั้น

สถานการณ์ผันผวนและรวนเรในตะวันออกกลางเช่นนี้แหละ ที่ทำให้ผมสนใจจะเจาะลึกถึงที่มาที่ไปของอิหร่านหลังจากไปเยือนในช่วงสั้น ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้

เพราะจุดเปราะบางของโลกที่อาจจะเกิดสงครามได้เพราะนโยบายทรัมป์ก็คือเกาหลีเหนือและอิหร่านนี่เอง!