อิหร่านวันนี้ที่ได้สัมผัสมา

อิหร่านวันนี้ที่ได้สัมผัสมา

ที่เมืองกุม (Qom) เมืองศักดิ์สิทธิ์, ศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรมของอิหร่าน

พอเกิดเรื่องประท้วงอย่างกว้างขวางที่อิหร่านเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วิเคราะห์ได้หลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้แก้ปัญหาคอร์รัปชันและราคาสินค้าแพงหรือมีเป้าหมายซ่อนเร้นทางการเมืองก็ตาม ทำให้ผมย้อนรำลึกถึงการไปเยือนประเทศนั้นเมื่อไม่นานมานี้

ประเทศอิหร่านที่ได้สัมผัสเป็นครั้งแรก หลังจากเกาะติดข่าวคราวร้อน ๆ จากประเทศนี้ ให้ความประทับใจหลากหลาย ทั้งผู้คนที่อบอุ่นเป็นมิตร ความคึกคักจอแจบนท้องถนนประวัติศาสตร์ และ อารยธรรมเปอร์เซียกว่าสองพันปี ที่มหัศจรรย์และการเมืองที่อุดมไปด้วยสีสัน

อิหร่านวันนี้ที่ได้สัมผัสมา

ผมไปอิหร่านครั้งนี้ในฐานะนักสังเกตการณ์ ไม่ได้นัดหมายสัมภาษณ์ผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องการสัมผัสกับจุดท่องเที่ยวอันเลื่องลือ พบปะคนอิหร่านในชีวิตประจำวัน และเยี่ยมสถานที่อันมีความสำคัญต่อแนวทางของอิหร่านในวันนี้ และวันข้างหน้า

ยิ่งเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเป็นศัตรูกับอิหร่าน ผมก็ยิ่งสนใจว่าสหรัฐจะเล่นเกมอะไร กับประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง

เกาหลีเหนือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ทรัมป์ชี้นิ้ว กล่าวหาเป็นศัตรู ผมไปเยือนเปียงยางมาแล้ว จึงมีความกระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนเตหะราน

ในประวัติทันสมัยของการเมืองอิหร่านนั้น เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่ยังทิ้งร่องรอยไว้กับอิหร่านวันนี้เช่น

การปฏิวัติที่พลิกอิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลามเมื่อเดือนก.พ. 1979 ที่ อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี นำประชาชนอิหร่านโค่น พระเจ้าชาห์แห่งราชวงศ์ปาห์ลาวี ล้มระบอบการปกครองที่โอนเอียงไปด้านตะวันตก กลายมาเป็นรัฐที่เคร่งศาสนาแทน

ในปีเดียวกันนั้น ก็เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญคือนักศึกษาอิหร่านเข้าบุก ยึดสถานทูตสหรัฐ ในกรุงเตหะราน จับนักการทูตและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกว่า 50 คนเป็นตัวประกันยาวนานถึง 444 วัน

กรณีนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ การเผชิญหน้าทางการเมือง ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ

หลังจากนั้นก็เกิดสงคราม 8 ปีระหว่างอิหร่านกับอิรักที่เริ่มในปี 1980

จากนั้นประเด็นร้อนแรงเกี่ยวกับอิหร่านก็คือเรื่อง “นิวเคลียร์” ที่สหรัฐ กับหลายประเทศตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นการพัฒนาอาวุธทำลายร้ายแรง

จนเกิดการเจรจาที่นำไปสู่การทำข้อตกลง Joint Comprehensive Plan of Action เพื่อให้อิหร่านระงับแผนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แลกกับการ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแทนเมื่อ 2 ปีก่อน

นั่นคือแนวทางของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ต้องการจะลดความตึงเครียดกับประเทศที่เคยเป็นศัตรู

แต่เมื่อทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี นโยบายนั้นก็เปลี่ยนโดยพลัน เพราะทรัมป์ไปยืนข้างซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตของอิหร่าน

ทรัมป์ประกาศจะฉีกข้อตกลงนี้กับอิหร่าน ขึ้นบัญชีเตหะรานเป็น “ผู้สนับสนุนการก่อการร้ายระหว่างประเทศ” และอาจจะหันกลับไปสู่มาตรการแซงค์ชั่นเหมือนก่อน

เท่านั้นแหละ อิหร่านก็เดือด ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี กล่าวหาว่า ทรัมป์ตั้งตนเป็นศัตรู ผิดสัญญาที่ทำไว้ และต้องการจะทำให้ตะวันกลางลุกเป็นไฟอีกครั้งหนึ่ง

เศรษฐกิจอิหร่านที่ได้ประโยชน์จากการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเมื่อ 2 ปีก่อน อาจจะต้องเจอกับแรงกดดันเพราะนโยบายของทรัมป์

อารมณ์คนที่นั่น (ประชากรวันนี้ 82 ล้านคน) จึงเริ่มจะมองสหรัฐอย่างไม่เป็นมิตรนัก

คนรุ่นใหม่ของอิหร่านซึ่งส่วนใหญ่คือ 90-95% นับถือนิกายชิอะฮ์ ต้องสร้างความคุ้นเคยกับการสร้างดุลในชีวิตประจำวัน ระหว่างความเคร่งครัดทางศาสนากับโลกทันสมัยผ่านอินเทอร์เน็ต

อัตราเงินเฟ้อที่เคยสูงถึง 20% วันนี้ลดลงมาที่ 8% ขณะที่อัตราคนว่างงานอยู่ที่ 10.7% ก็เป็นประเด็นสังคมที่จะต้องได้รับการเยียวยาจากโครงสร้างการปกครองปัจจุบัน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอิหร่านในยามที่ต้องเผชิญกับความตึงเครียดทางการเมือง อันสืบเนื่องจากการเผชิญหน้ากับซาอุฯ ด้านหนึ่ง และอิสราเอลอีกด้านหนึ่ง

เป็นความท้าทายที่พิสูจน์ความสามารถของระบอบปัจจุบันอย่างยิ่ง

มองจากข้างนอก คำถามใหญ่อาจจะเป็นว่า ทำไมอิหร่านกับซาอุฯ จึงกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตเพียงนั้น

พรุ่งนี้ว่าต่อครับ