มุมมองผู้คุมกฎตลาดทุนโลกกับ ICO (ตอนจบ)

มุมมองผู้คุมกฎตลาดทุนโลกกับ ICO (ตอนจบ)

แหล่งรวมการประกาศทำ ICO ในโลกนี้ที่เป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญแห่งหนึ่งของการทำ ICO อยู่บนโลกออนไลน์ที่ชื่อ icobench

ผมขอนำสถิติการทำ ICO ทั่วโลกนี้มาจากแหล่งข้อมูลนี้เพื่อผู้อ่านจะได้ทราบความเคลื่อนไหวระดับสากลในปัจจุบันนี้ว่าเขาทำ ICO กันถึงขั้นไหนแล้ว และจำเป็นหรือไม่ที่ ICO จะต้องมีการออกเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ตามที่ผู้คุมกฎตลาดทุนโลกรวมทั้งกลต.ของไทยที่กังวลว่าจะเป็นการออกหลักทรัพย์ดังเช่นการทำ IPO

ICO ระดับโลก

icobench ระบุว่าปัจจุบันนี้ -ม.ค.2561 การทำ ICO ทั่วโลกที่ประกาศระดมทุนผ่าน icobench มีทั้งสิ้น 1,409 ICO  โดยประเทศที่เป็นแหล่งการทำ ICO มาก 5 อันดับแรก คือ สหรัฐ (256) รัสเซีย (205) อังกฤษ (110)  สิงคโปร์ (86) และสวิตเซอร์แลนด์ (52)

เมื่อดูสถิติการทำ ICO ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน ประเทศ 5 อันดับแรกที่เป็นประเทศแหล่งทำ ICO มากที่สุดโดยคิดจากสัดส่วนประชากร ประกอบด้วย เอสโทเนีย(35.1) สิงคโปร์(14.2) สโลเวเนีย(10.1) สวิตเซอร์แลนด์(6.0) และลัตเวีย(5.1)

ประสิทธิภาพในการระดมทุนของ ICO

ระยะเวลาของการระดมทุนในการทำ ICO นั้นมักจะทำในระยะเวลาสั้นเช่น 4-5 สัปดาห์ การระดมทุน ICO รายเดียวในระยะเวลาสั้นๆ ดังกล่าวกลับระดมทุนได้มากสูงสุดถึง 258 ล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาระดมทุนแค่ 3 สัปดาห์เท่านั้น ตาราง 3 แสดงให้เห็นถึงข้อมูลเกี่ยวกับการ ICO 5 ราย ที่ระดมทุนได้สูงสุด

ที่ผมนำข้อมูลด้านระยะเวลาการระดมทุนของ ICO มาให้เห็น ก็เพื่อแสดงให้เห็นของพลังการทำ ICO ในระดับสากลว่า ICO นั้นสามารถระดมทุนได้หลายพันล้านบาทในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และขอเขียนสั้นๆ ถึงเป้าหมายการทำ ICO ของห้าอันดับที่ระดมทุนได้มากที่สุด

HDAC นั้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์ม Blockchain ของบริษัท Hyundai BS ในยุโรปที่ทำให้อุปกรณ์ด้านอินเทอร์เน็ตสามารถติดต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการตรวจสอบ การประมวลผลและการชำระเงินรายย่อย

Filecoin เป็นการใช้ Blockchain เพื่อการเก็บข้อมูลในเน็ตเวิร์คที่ไม่รวมศูนย์ อันเป็นหัวใจของการใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่ไม่รวมศูนย์

Tezoz เป็นการใช้ Blockchain เพื่อการแก้ไข Cryptographic ledgers ด้วยตัวเอง EOS เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มโดยใช้ Blockchain เพื่อการแบ่งปันข้อมูลโดยไม่รวมศูนย์ ส่วน Sirin Labs เป็นการทำให้ open source ของเครื่องมืออิเล็คโทรนิคมีความปลอดภัยขึ้น

จำเป็นไหมว่าการทำ ICO ก็เพื่อออกเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency

จากจำนวน 1,409 ของการระดมทุนผ่าน ICO มีเพียง ICO จำนวน 472 ICO เท่านั้นที่ระดมทุนเพื่อออกเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency ดังเช่น Bitcoin หรือ Ether และก็ไม่เฉพาะการระดมทุนด้านเท็คโนโลยีเท่านั้นที่สามารถทำ ICO ได้ การทำ ICO ยังสามารถทำเพื่อธุรกิจการบันเทิง(156 ICO)  การรักษาสุขภาพ(44 ICO) การธนาคาร(123 ICO) การศึกษา(24 ICO)และอื่นๆอีกกว่า 20 ธุรกิจ แต่แพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการระดมทุนผ่าน ICO มากที่สุดถึง 743 ICO

โอกาส Startup ไทยที่จะทำ ICO

ในวงการ Startup ของไทย มีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าทำไม Startup ของไทยจึงไม่สามารถเกิดขึ้นในประเทศได้มากนักและแม้จะเกิดขึ้นก็ไม่สามารถขยายไปในระดับภูมิภาคทั้งๆ ที่ประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ล้วนเกิด Startup ในระดับภูมิภาคอาเซียนขึ้นแล้วทั้งสิ้น โดยเวียดนามกำลังจะตามมา

เป็นเรื่องดีที่ กลต.ของไทยมีแนวความคิดสนับสนุนการระดมทุนด้วยวิธีการด้าน ICO เพื่อเปิดโอกาสให้ Startup ของไทยได้ระดมทุนอีกทางหนึ่ง

ผมเห็นว่าจริงๆแล้วกฎระเบียบไม่ว่าจะของไทยหรือระดับสากลมิใช่อุปสรรคที่แท้จริงของการระดมทุนด้วยวิธี ICO แต่ผมเห็นว่า Startup หรือคนที่ทำ Startup ของไทยมีข้อจำกัดในการระดมทุนแบบ ICO ทั้งๆ ที่การทำ ICO ของ Startup ไทยนั้นไม่จำเป็นเลยว่าต้องทำในประเทศเท่านั้น

ข้อจำกัดประการแรกคือ ไม่แน่ใจว่ากิจการ Startup ของเราจะทำ ICO ได้หรือไม่

เรื่องนี้มีคำถาม 2 คำถามเบื้องต้นที่ผมแนะนำให้ Startup ที่สนใจ ICO ลองถามตัวเองคือ ปัญหาการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบัน(โดยไม่เจาะจงว่าเป็นปัญหาในประเทศใดประเทศหนึ่ง) คืออะไรและกิจการที่เราจะระดมทุนนั้นเข้าไปแก้ปัญหาในระดับสากลดังกล่าวได้อย่างไร ปัญหาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาที่ซับซ้อนอะไร เช่น ปัญหาการเรียกแท็กซี่ยาก

ประการที่สองคือ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

ผมเชื่อว่าการให้มีธุรกิจ ICO Portal ตามแนวความคิดของกลต.น่าจะเป็นแหล่งการปรึกษาหาข้อมูลได้ดีประการหนึ่ง ระหว่างนี้ ผมเคยชักชวนหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท Smart Contact ให้มาพูดให้ผู้สนใจฟังด้วยภาษาง่ายๆสักครั้งและได้รับการตอบรับจากท่านและคงหาโอกาสจัดสมนาเล็กๆสักครั้งในไม่ช้า หากผมซึ่งมีความรู้ด้านเท็คโนโลยี่อันน้อยนิดสามารถเข้าใจการทำ ICO และประโยชน์ของ Blockchain ได้ ผมเชื่อว่าทุกท่านก็สามารถเข้าใจได้

ประการที่สามคือ ประสบการณ์ในระดับสากล

หากจะทำ ICO เพียงเพื่อระดมทุนในประเทศไทย ผมว่า สเกลของการระดมทุนยังเล็กไป อีกทั้งนักลงทุนคนไทยไม่คุ้นเคยกับการระดมทุนแบบนี้ จะว่าไปแล้วผมเห็นว่านักลงทุนในระดับสากลเขามองใน 3 ปัจจัยหลักคือ การแก้ปัญหาที่ผู้ระดมทุนต้องการแก้ในปัจจุบัน (ไม่เจาะจงว่าเป็นปัญหาในประเทศใดประเทศหนึ่ง) การพัฒนารูปแบบด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล หรือคอมพิวเตอร์ เพื่อมาแก้ปัญหา และความน่าเชื่อถือคณะผู้ระดมทุน โดยไม่ได้สนใจว่าแหล่งระดมทุนอยู่ในประเทศอะไร

บทบาทกลต.ไทย

ในเมื่อรัฐบาลไทยมีนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ ผมเห็นว่าบทบาทของกลต.ในเรื่อง ICO นี้ น่าจะมีบทบาทเป็น 2 ฐานะคือ

ก.เป็นผู้ส่งเสริม

ผมเห็นว่าในระยะเริ่มต้น กลต.น่าจะลองวิธีให้คนทำ ICO ประกาศตนเองกับกลต.ในฐานะเจ้าพนักงานว่าการทำ ICO ของตนนั้นถูกกฎหมาย และหากประกาศตนเองแล้ว ก็ให้ทำไปได้เลย แต่หากมีข้อผิดพลาดทางกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้จัดทำต้องรับผิดชอบ

ข.เป็นผู้กำกับ

หลังจากการทำ ICO ในระยะเวลาหนึ่งแล้ว ผู้ทำ ICO ต้องทำรายงานการขาย และการใช้เงินตามโครงการให้แก่กลต.ทราบ

นั่นเป็นเรื่องในประเทศไทย แต่ผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าการทำ ICO ในระดับโลกที่ผมเขียนในบทความนี้ ไม่มีที่ใดในเอกสาร White Paper ของแต่ละ ICO ทุกรายเลยที่เขียนว่าการทำ ICO นั้นๆ ได้รับอนุมัติจากกลต.หรือเป็นไปตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง

แล้วทำไมการระดมทุน ICO ในระดับสากลจึงได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนทั่วโลกและประสบความสำเร็จได้เช่นนี้

ผมขอลงท้ายบทความด้วยปัญหานี้

โดย... 

จุลพงศ์ อยู่เกษ