กฎหมาย เทคโนโลยี และไทยแลนด์ 4.0

กฎหมาย เทคโนโลยี และไทยแลนด์ 4.0

ฉบับนี้เรามาเริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยมุมมองเกี่ยวกับบทบาท และทิศทางของกฎหมาย ในการสนับสนุนเทคโนโลยี และขับเคลื่อนประเทศไทย

ให้เข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลกันค่ะ

ในปี 2560 เราจะได้ยินคำว่า ไทยแลนด์ 4.0 กันมาก ซึ่งไม่ว่าแต่ละท่านจะมีความเห็นเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นี้อย่างไร ก็ปฏิเสธได้ยากว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นในหลายแง่มุม

ทั้งในเรื่องของสื่อออนไลน์ที่ทำให้เราสามารถแชร์ข้อมูล และติดตามข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ช่วยในการสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระดับประชาชน เรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้คนไทยจับจ่ายซื้อของ โอนเงินและรับเงินได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดยิ่งขึ้น เรื่องการใช้เทคโนโลยีโครงข่ายดิจิทัลในการจัดการการผลิตสินค้า การขนส่งและเดินทางไปไหนมาไหน เป็นต้น

แน่นอนว่าเมื่อมีด้านที่ดีขึ้น ก็จะมีด้านที่ได้รับผลกระทบในแง่ลบเช่นกัน นั่นคือ ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง

คำถามคือ ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ เราจะมีทิศทางในการยอมรับและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

เราจะปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง (ซึ่งเป็นไปได้ยาก) หรือละทิ้งสิ่งเก่าๆ หรือเราจะประคับประคองสิ่งที่มีอยู่เอาไว้เพื่อรอเวลาให้มีการปรับตัว พูดง่ายๆ ก็คือ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น”

ทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในแทบจะทุกมิติของสังคมนี้ จำเป็นที่จะต้องถูกกำหนดขึ้นทั้งในรูปแบบของนโยบาย และในรูปแบบของกฎหมาย เพื่อเป็นกรอบและกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติ

แต่กรอบและกฎเกณฑ์ที่ว่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่แต่กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนด้วยเพราะประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นก่อนการออกกฎหมายตามความในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ฉะนั้น เรื่องใดที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราๆ ท่านๆ ในปีใหม่นี้เราก็ควรจะให้ความสนใจและสะท้อนความคิดเห็นของเราให้รัฐบาลได้รับรู้ให้มากที่สุด

หากเป็นไปได้รัฐบาลเองก็ควรจะมีวิธีการเข้าถึงประชาชนในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้ได้ความคิดเห็นจำนวนที่มากขึ้นและสะท้อนความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ให้มากที่สุดด้วย

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้อาจจะฟังดูเหมือนเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ในความเห็นของผู้เขียนสิ่งเหล่านี้ เป็นประเด็นสำคัญที่จะอยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อนประเทศให้ยืนอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืนและสง่างามที่สุด

ยกตัวอย่างกฎหมายที่จำเป็นต้องออกเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องที่สำคัญและใกล้ตัวประชาชนส่วนใหญ่มากที่สุดก็คือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายที่จะเข้ามาคุ้มครองและควบคุมการให้บริการคมนาคมทางเลือก (ระบบการขนส่งผู้โดยสารที่คล้ายคลึงกับแท็กซี่)

เรื่องแรกเป็นเรื่องที่หลายรัฐบาลได้พิจารณาแล้วและยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะร่างฉบับที่เห็นกันล่าสุดนั้นยังไม่รัดกุมเพียงพอ และเชื่อว่าประชาชนยังอยากที่จะให้มีมาตรการที่คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของตนเองมากกว่านั้น

ในประเด็นนี้ผู้เขียนเคยได้หยิบยกตัวอย่างกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกที่จะไม่รับข้อมูลทางการตลาดใดๆ มาให้ดูกันแล้ว ส่วนโอกาสที่ประเทศไทยเราจะมีระบบเช่นนั้นจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เราก็ขอฝากรัฐบาลให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนเพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนในปีใหม่นี้ด้วย

ส่วนเรื่องการคุ้มครองและควบคุมการให้บริการคมนาคมทางเลือกก็เป็นเรื่องที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐบาลเช่นกัน แนวทางในการกำกับดูแลของรัฐบาลในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปในปี 2561นี้

ในมุมมองของผู้เขียน (และประชาชนส่วนใหญ่จากการสำรวจของสถาบันหลายแห่งในปี 2560 ที่ผ่านมา) เห็นว่าประชาชนควรมีสิทธิให้บริการ และรับบริการคมนาคมทางเลือกผ่านโครงข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกกฎหมาย ควรมีการออกกฎหมายที่คุ้มครอง และควบคุมการให้บริการคมนาคมทางเลือกที่ประกันความปลอดภัย และความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ

แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่เป็นการกีดขวางหรือทำลายสาระสำคัญของการให้บริการซึ่งก็คือ การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการขนส่งผู้โดยสารอย่างปลอดภัยด้วย

เป็นที่น่าสนใจว่าทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งในคราวหน้าผู้เขียนจะนำตัวอย่างกรณีศึกษาในต่างประเทศที่น่าสนใจมาแบ่งปันกันต่อไปค่ะ

โดย...

ภานันท์ ประสมปลื้ม

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่