โอกาสแห่งดิจิทัล(จบ)

โอกาสแห่งดิจิทัล(จบ)

การมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัล ก่อให้เกิดกระบวนการทำงานใหม่ ๆ ยกระดับให้คนทั่วไปเข้าถึงบริการของภาครัฐ และเอกชนได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือบริการของธนาคารและสถาบันการเงิน ที่นำเอาระบบดิจิทัลเข้ามาใช้จนลูกค้าสามารถจัดการธุรกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า

ยกตัวอย่าง การขอเอกสารทางการเงินนั้น จากเดิมที่เคยเป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวาย นับตั้งแต่การยืนยันตัวตนด้วยเอกสารหลายอย่าง แล้วยังต้องรอการพิจารณาอนุมัติจากธนาคาร ไปจนถึงการสืบค้นข้อมูลก็ต้องใช้เวลานาน กว่าจะจัดส่งเอกสารให้ทางไปรษณีย์ก็ใช้เวลาอีกหลายวัน แต่พอมาถึงวันนี้ การทำธุรกรรมทั้งหมด ลูกค้าสามารถจัดการได้ด้วยตัวเองผ่านแอพพลิเคชั่นในสมารท์โฟนหรือ คอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ ยิ่งในอนาคตจะใช้ระบบยืนยันตัวตนจะได้ระบบ Biometrics เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา หรือ ระบบสแกนใบหน้ามาใช้ก็จะยิ่งสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก

ยิ่งความแพร่หลายของเทคโนโลยีมีมากขึ้นเท่าใด ก็เท่ากับฐานลูกค้าก็จะถูกขยายไปด้วยพร้อม ๆ กัน ผู้เข้าถึงบริการดิจิทัลจึงขยายตัวนับเป็นล้านคนได้ทันที เพราะแต่ละปีมีจำนวนผู้ซื้อสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ท่ามกลางข่าวการปิดตัวของธุรกิจมากมายที่ได้รับผลกระทบจากโลกดิจิทัล แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็จะเห็นโอกาสจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดโอกาสอีกมหาศาลเช่นกัน ตลอดช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นสถานการณ์ที่มีทั้งวิกฤติและโอกาสเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน

ดังนั้น การประกาศนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลจึงถือว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อย และเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับการให้บริการประชาชน ความได้เปรียบเสียเปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจขนาดเล็กจึงแทบจะไม่มีผลใด ๆ ในปัจจุบันนี้ เพราะประสบการณ์อันยาวนานของบริษัทยักษ์ใหญ่อาจไม่มีค่าอะไร เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหมดแล้ว บริษัทเล็กจึงอาจคล่องตัวกว่าและเข้าถึงลูกค้าได้อย่างเท่าเทียมกัน

เทคโนโลยีได้ลดช่องว่างและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เปิดกว้างให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การแพ้ชนะในทางธุรกิจทุกวันนี้ จึงอยู่ที่เนื้อหาสาระว่าบริษัทของเรา หรือภาคธุรกิจของเรานั้น จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เต็มที่ได้แค่ไหน และเราได้ทุ่มเทให้กับงานนั้นอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ 

เพราะความต้องการที่จะนำเอาระบบดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนองค์กรนั้น ไม่ได้มีเพียงภาคธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ภาครัฐเองก็จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อเตรียมตัวอย่างเต็มที่ในทุกกระทรวง แม้หลาย ๆ ธุรกิจจะต้องพบกับความถดถอย เพราะรายได้ลดลง กำไรตกต่ำ และลูกค้าก็หันไปใช้บริการจากระบบอื่น ๆ แทน แต่เราต้องไม่ย่อท้อและไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

ปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพลิกโฉมธุรกิจ แต่โอกาสนี้ก็สงวนไว้ให้กับคนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ คนที่เตรียมพร้อมตลอดเวลา คนที่ยอมเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเป็นคนที่ทุ่มสุดตัวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่จึงจะเป็นคนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในท้ายที่สุด

สำหรับใครก็ตามที่ยังคงรู้สึกว่าปีนี้เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดเพราะได้รับผลกระทบจากภูมิทัศน์ทางธุรกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องถามตัวเองว่าเราได้เอาจริงเอาจังกับมันอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ยอมปรับตัว และเตรียมพร้อมกับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือยัง อย่ามัวมองย้อนกลับไปในอดีตที่เราเคยมั่นคงแข็งแรง แต่มองให้ไกลถึงวันหน้าที่เต็มไปด้วยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงที่รออยู่